xs
xsm
sm
md
lg

รวมพลัง! อเมริกันชนชุมนุมทั่วประเทศรอบสอง ต้านนโยบายสุดขั้วทำลายประชาธิปไตยของทรัมป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ประท้วงเข้าแถวแปรอักษรคำว่า “Impeach & Remove” (ถอดถอนและปลดออก) บริเวฯชายหาดริมมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างการชุมนุมต่อต้านทรัมป์ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันเสาร์ (19 เม.ย.)
ชาวอเมริกันเรือนพันเรือนหมื่นออกมาชุมนุมทั่วประเทศรอบสองในวันเสาร์ (19 เม.ย.) เพื่อประท้วงต่อต้านโดนัลด์ ทรัมป์ และเหล่าพันธมิตร รวมทั้งนโยบายสุดขั้วต่างๆ ของเขา ซึ่งพวกเขาประณามว่าเป็นภัยคุกคามอุดมคติประชาธิปไตยของประเทศชาติ






การประท้วงตามเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯในวันเสาร์ (19) มีการจัดกิจกรรมกันอย่างแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่การเดินขบวนผ่านใจกลางเมืองแมนแฮตตัน ของนครนิวยอร์ก การชุมนุมหน้าทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน การประท้วงที่อนุสาวรีย์รำลึกจุดเริ่มต้นสงครามปฎิวัติอเมริกันเมื่อ 250 ปีก่อนในรัฐแมสซาชูเซตส์

โทมัส แบสฟอร์ด วัย 80 ปีจากรัฐเมน ที่ไปร่วมชุมนุมที่จัดขึ้นนอกเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า คนอเมริกันกำลังถูกคณะบริหารทรัมป์โจมตีทำร้ายและต้องลุกขึ้นสู้ ก่อนสำทับว่า นี่เป็นช่วงเวลาอันตรายมากสำหรับเสรีภาพในอเมริกา

ที่เมืองเดนเวอร์, รัฐโคโลราโด ผู้ประท้วงหลายร้อยคนรวมตัวที่หน้าอาคารโคโลราโด สเตท แคปิตอล ซึ่งเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการสำคัญของรัฐนี้ พร้อมชูป้ายที่มีข้อความต่อต้านนโยบายคนเข้าเมืองของคณะบริหารทรัมป์

ส่วนเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอริกอน ผู้คนนับพันยังเดินขบวนผ่านกลางเมือง ขณะที่ผู้ประท้วงหลายร้อยคนแปรอักษรคำว่า “ถอดถอนและปลดออก” บนหาดทราย

นอกจากนั้นยังมีการชุมนุมหน้าโชว์รูมรถยนต์เทสลาในหลายๆ เมือง เพื่อต่อต้าน อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของโลก ซึ่งผันตัวเองไปเป็นที่ปรึกษาคนสนิทคนหนึ่งของทรัมป์ และมีบทบาทสำคัญในการลดขนาดของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ทำให้มีการปลดเจ้าหน้าที่และลูกจ้างภาครัฐเป็นจำนวนมาก ตลอดจนยุบเลิกหน่วยงานที่ทำให้การดำเนินงานหลายๆ ด้านประสบความรวนเรหรือกระทั่งไม่อาจดำเนินต่อไปได้

การประท้วงคราวนี้มีขึ้นหลังจากเกิดการชุมนุมต่อต้านทรัมป์ยุค 2.0 ทั่วประเทศครั้งแรกเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว

กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า 50501 ซึ่งเป็นแกนนำจัดการชุมนุม โดยหมายถึง “50 การประท้วง ใน50 รัฐ รวมกำลังกันเป็น 1 ขบวนการเคลื่อนไหว” ระบุว่า วางแผนจัดการประท้วงขึ้นราว 400 จุด เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนนับล้านร่วมแสดงพลัง อย่างไรก็ดี สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า จำนวนผู้ชุมนุมคราวนี้ดูเหมือนน้อยกว่าการประท้วงครั้งก่อนเมื่อวันที่ 5 เมษายน ซึ่งใช้ชื่อว่า "Hands Off" (มุ่งเรียกร้องให้รัฐบาลทรัมป์เอามือออกไป อย่ามาทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย)

ทางกลุ่มผู้จัดเสริมว่า ต้องการต่อต้านการละเมิดสิทธิพลเรือนและรัฐธรรมนูญของทรัมป์ ซึ่งครอบคลุมทั้งความพยายามของคณะคณะบริหารปัจจุบันที่เนรเทศผู้อพยพจำนวนมาก การลดระดับการคุ้มครองคนข้ามเพศ การลดขนาดและการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางด้วยการปลดเจ้าหน้าที่เป็นหมื่นเป็นแสนคน ปิดหน่วยงานหลายแห่ง และลดการอุดหนุนโครงการสุขภาพ ตลอดจนถึงการกระทำต่างๆ นานาของคณะบริหารของทรัมป์และบรรดาพันธมิตรโจราธิปไตย พร้อมยืนยันว่า การประท้วงปราศจากความรุนแรง

การชุมนุมบางจุดประกาศยกย่องเชิชูอุดมการณ์ยุคสงครามปฏิวัติอเมริกา ซึ่งก็คือ สงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกา (ระหว่างปี 1775-1783) ด้วยป้ายข้อความ “ไม่มีกษัตริย์” และ “ต่อต้านทรราช” เป็นการกล่าวหาว่าทรัมป์กำลังทำตัวเป็นเผด็จการทรราช

จอร์จ ไบรอันต์ จากบอสตันซึ่งชูป้ายที่มีข้อความว่า “ระบอบฟาสซิสต์ของทรัมป์ต้องออกไปเดี๋ยวนี้” แสดงความกังวลที่ทรัมป์กำลังสร้าง “รัฐตำรวจ” โดยบอกว่า ทรัมป์ท้าทายอำนาจศาล ลักพาตัวนักศึกษาต่างชาติในสหรับฯที่ประท้วงอิสราเอลเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกาซา บ่อนทำลายระบบตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ

ที่โคลัมเบีย รัฐเซาท์แคโรไลนา คนหลายร้อยประท้วงหน้าอาคารที่ทำการรัฐบาลและชูป้าย “ฮาร์วาร์ดสู้สุดฤทธิ์!” เป็นการสนับสนุนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งกำลังถูกทรัมป์และพันธมิตรบีบคั้นตัดเงินสนับสนุน ด้วยข้อหาไม่ยอมทำตามนโยบายของคณะบริหาร

มาร์แชล กรีน วัย 61 ปีจากรัฐนิวเจอร์ซีย์ บอกว่า สิ่งที่เขากังวลมากที่สุดคือ ทรัมป์กำลังปลุกผีกฎหมายเก่าแก่อย่างรัฐบัญญัติศัตรูต่างด้าว (Alien Enemies Act) ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1798 ด้วยการอ้างว่า อเมริกากำลังทำสงครามกับแก๊งอาชญากรรมในเวเนซุเอลาที่มีสายสัมพันธ์โยงใยกับรัฐบาลเผด็จการเวเนซุเอลา แม้การประเมินของหน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ ไม่พบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเวเนซุเอลากับแก๊งมาเฟียก็ตาม

กรีนเรียกร้องให้คองเกรสเข้าแทรกแซงและประกาศว่า ทรัมป์ไม่สามารถใช้กฎหมายดังกล่าวได้เนื่องจากไม่มีสงครามเกิดขึ้นจริง รวมทั้งไม่สามารถเนรเทศผู้อพยพโดยไม่มีการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายเสียก่อน

เมลินดา ชาร์ลส์ จากรัฐคอนเนตทิคัต เป็นห่วงการใช้อำนาจบริหารเกินขอบเขตของคณะบริหารทรัมป์ โดยอ้างอิงความขัดแย้งที่คณะบริหารนี้มีกับศาลสหรัฐฯ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันการศึกษาทรงเกียรติอีกหลายแห่ง

(ที่มา: เอพี/เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น