ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (18 เม.ย.) ว่า วอชิงตันจะ “ถอนตัว” จากความพยายามเจรจาไกล่เกลี่ยข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน หากยังคงไม่มีสัญญาณความคืบหน้าในเร็วๆ นี้
“เราต้องการทำมันให้สำเร็จเร็วที่สุด” ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์สื่อที่ทำเนียบขาว
“ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้มันยากด้วยเหตุผลบางประการ เราก็คงจะบอกพวกเขาว่า พวกคุณมันโง่ โง่เง่าสิ้นดี พวกคุณมันห่วยแตก เราไม่เอาด้วยแล้ว แต่เราหวังว่าคงจะไม่ต้องทำแบบนั้น”
คำพูดของผู้นำสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากที่ รูบิโอ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศออกมาเปรยล่วงหน้าว่า รัสเซียและยูเครนเหลือเวลาอีก “ไม่กี่วัน” เพื่อที่จะแสดงความคืบหน้าในการพูดคุย ไม่เช่นนั้นสหรัฐฯ ก็จะถอนตัวออกมา
“เราคงไม่อดทนอยู่กับความพยายามนี้ไปอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ดังนั้นเราจำเป็นต้องตัดสินใจโดยเร็ว และผมหมายถึงภายในไม่กี่วันนี้ว่ามันจะสำเร็จได้ในอีก 2-3 สัปดาห์หรือไม่” รูบิโอให้สัมภาษณ์ที่กรุงปารีสระหว่างพบปะกับบรรดาผู้นำยุโรปและยูเครน
“ถ้ามันเป็นไปไม่ได้ และถ้าเรายังอยู่ห่างกันมากเสียจนมันจะไม่เกิดขึ้น ผมก็เชื่อว่าท่านประธานาธิบดีอาจจะมาถึงจุดที่กล่าวว่า พอกันที”
ด้าน ทรัมป์ ยังคงปฏิเสธที่จะขีดเส้นตาย เมื่อถูกสื่อตั้งคำถามว่าจะรอไปอีกนานแค่ไหน
“มาร์โก พูดถูกต้องแล้ว เราต้องการให้มันจบ” ทรัมป์ กล่าว และเมื่อผู้สื่อข่าวถามกลับว่าประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน คือฝ่ายที่ไม่ยอมเดินหน้าใช่หรือไม่? ทรัมป์ ก็ตอบว่า “ผมหวังว่าจะไม่ใช่เช่นนั้น”
ตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของ ทรัมป์ ยอมรับเป็นการส่วนตัวว่าโอกาสในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพอย่างรวดเร็วนั้นน้อยลงเต็มที ขณะที่พวกนักการทูตยุโรปก็มองว่า คำพูดของ รูบิโอ สะท้อนว่าทำเนียบขาวเริ่มหมดความอดทนกับท่าทีของรัสเซียที่ไม่ให้ความร่วมมือในการจบสงคราม
ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ออกมาแย้งว่าการเจรจาข้อตกลงสันติภาพนั้น “มีความคืบหน้า” ไปแล้วบางส่วน ทว่าการติดต่อกับวอชิงตันนั้นทำได้ยาก เขายังอ้างว่ารัสเซียพยายามที่จะแก้ไขความขัดแย้งนี้โดยต้องไม่ละทิ้งผลประโยชน์ของตนเองด้วย และยังพร้อมเสมอที่จะเปิดเจรจากับสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ก็ไม่พอใจที่ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ออกมากล่าวหา สตีฟ วิตคอฟฟ์ ผู้แทนพิเศษของทรัมป์ “เผยแพร่วาทกรรมของรัสเซีย” โดยมองว่าคำพูดลักษณะนี้ของผู้นำยูเครนไม่เป็นประโยชน์ต่อการเจรจา
ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ถอนตัวออกไป กระบวนการสันติภาพรัสเซีย-ยูเครนก็น่าจะพังทลายลงทันที เนื่องจากไม่มีประเทศใดที่จะสามารถกดดันทั้งมอสโกและเคียฟได้มากเท่าอเมริกาอีกแล้ว
ผลกระทบอื่นๆ ที่จะตามมานั้นยังไม่ชัดเจน สหรัฐฯ อาจจะคงนโยบายต่อสงครามยูเครนเอาไว้เหมือนเดิม กล่าวคือยังคงคว่ำบาตรรัสเซียและจัดส่งอาวุธให้กับเคียฟต่อไป หรือไม่ ทรัมป์ ก็อาจตัดสินใจระงับความช่วยเหลือยูเครนทั้งหมดก็เป็นได้
ทรัมป์ ระบุเมื่อวันพฤหัสบดี (17) ว่า สหรัฐฯ อาจจะมีการลงนามข้อตกลงแร่ธาตุกับยูเครนภายในสัปดาห์หน้า หลังความพยายามพูดคุยเมื่อเดือน ก.พ. จบลงแบบไม่สวยด้วยการที่ ทรัมป์ และรองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ เปิดสงครามน้ำลายกับ เซเลนสกี กลางห้องทำงานรูปไข่
ที่มา: รอยเตอร์