xs
xsm
sm
md
lg

‘กองเรือบรรทุกเครื่องบิน’สหรัฐฯเผชิญปัญหาหนัก ขณะจีนเร่งเพิ่มแสนยานุภาพทางทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กาเบรียล ฮอนราดา


(ภาพถ่ายและเผยแพร่โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ) เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส เจอรัลด์ ฟอร์ด ของสหรัฐฯ ขณะแล่นอยู่กลางทะเล  เรือลำนี้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกในชั้นฟอร์ด มีระวางขับน้ำราว 100,000 ตัน  ยูเอสเอส เจอรัลด์ ฟอร์ด ทำพิธีวางกระดูกงู ในเดือนพฤศจิกายน 2009 ปล่อยลงน้ำในเดือนตุลาคม 2013 และขึ้นระวางประจำการในเดือนกรกฎาคม 2017 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/USS_Gerald_R._Ford)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US aircraft carriers adrift as China surges at sea
by Gabriel Honrada
11/04/2025

การผลิตเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นฟอร์ดของสหรัฐฯประสบปัญหาจนล่าช้ากว่ากำหนดการ เรื่องนี้ส่งผลเป็นการบ่อนทำลายทั้งหลักนิยมทางนาวีและฐานะเป็นหนึ่งเหนือใครๆ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ แถมมันยังเกิดขึ้นมาในช่วงเวลาเดียวกับที่จีนเร่งขยายกองเรือรบของตนอย่างรวดเร็ว

ความล่าช้าในการผลิต, ภัยคุกคามที่รู้สึกว่าเพิ่มขึ้นทุกที, และจำนวนซึ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ กำลังทำให้ฐานะความได้เปรียบชนิดเป็นหนึ่งเหนือใครๆ มาแต่ไหนแต่ไรของกองกำลังด้านเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ตกอยู่ในอันตรายว่าจะยังรักษาเอาไว้ได้ต่อไปหรือไม่ ขณะที่จีนเร่งเดินหน้าเพิ่มแสนยานุภาพในทะเลอย่างรวดเร็ว

เดือนเมษายนนี้ ระหว่างไปชี้แจง [1] ต่อคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ (US Senate Armed Services Committee) พวกเจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐฯยอมรับว่า เรือบรรทุกเครื่องบินชั้นฟอร์ด (Ford-class aircraft carrier) จำนวน 2 ลำที่อยู่ระหว่างการต่อ มีปัญหาไม่สามารถทำตามตารางเวลาที่กำหนดเอาไว้ได้

(ภาพถ่ายและเผยแพร่โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ ภาพนี้มาจากวิกิพีเดีย) การต่อเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส จอห์น เอฟ. เคนเนดี คืบหน้าไปถึงหลักหมายสำคัญอีกหลักหนึ่งในวันที่ 29 ตุลาคม 2019  เมื่อพื้นที่อู่แห้งที่ใช้ต่อเรือลำนี้ถูกปล่อยน้ำเข้ามาก่อนกำหนดที่วางไว้ 3 เดือน อย่างไรก็ดี เวลานี้ประมาณการกันว่า เรือลำนี้ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นฟอร์ดลำที่ 2 คงจะเสร็จไม่ทันกำหนดส่งมอบซึ่งวางไว้ในเดือนกรกฎาคม 2025 เนื่องจากปัญหาในการติดตั้งระบบทางเลื่อนแบบก้าวหน้าล้ำยุคสำหรับการจัดส่งเครื่องกระสุนและสัมภาระจากตอนในของเรือขึ้นสู่ชั้นดาดฟ้า (Advanced Weapons Elevators  หรือ AWEs) และการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการส่งเครื่องบินขึ้นและการรับเครื่องบินกลับลงมายังเรือบรรทุกเครื่องบิน (Aircraft Launch and Recovery Equipment หรือ ALRE)
โดย เรือ ยูเอสเอส จอห์น เอฟ เคนเนดี (USS John F Kennedy ที่ใช้หมายเลขประจำเรือ CVN-79) และงานคืบหน้าไปได้แล้วเกือบ 95% กำลังตกอยู่ในแรงกดดันอย่างหนักหน่วงเพื่อทำให้ได้ทันตามกำหนดส่งมอบที่วางไว้ในเดือนกรกฎาคม 2025 นี้ แรงกดดันดังที่ว่านี้ หลักๆ เลยสืบเนื่องจากปัญหาการติดตั้งระบบทางเลื่อนแบบก้าวหน้าล้ำยุคสำหรับการจัดส่งเครื่องกระสุนและสัมภาระจากตอนในของเรือขึ้นสู่ชั้นดาดฟ้า (Advanced Weapons Elevators หรือ AWEs) และการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการส่งเครื่องบินขึ้นและการรับเครื่องบินกลับลงมายังเรือบรรทุกเครื่องบิน (Aircraft Launch and Recovery Equipment หรือ ALRE)

ขณะที่พวกปัญหาของการออกแบบในเบื้องต้น ซึ่งเคยรังควานเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นนี้อยู่นานนั้น ได้รับการแก้ไขคลี่คลายไปแล้ว อย่างที่สาธิตให้เห็นด้วยการที่ เรือ ยูเอสเอส เจอรัลด์ อาร์. ฟอร์ด (USS Gerald R. Ford’s หมายเลขประจำเรือ CVN-78) ซึ่งเป็นเรือลำแรกในชั้นนี้ ประสบความสำเร็จในการเดินทางออกปฏิบัติภารกิจในปี 2024 ทว่ายังคงมีพวกอุปสรรคพิเศษเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ซึ่งเป็นตัวชะลอความคืบหน้าในการต่อ CVN-79 ให้เสร็จสิ้น

เวลาเดียวกัน การต่อเรือ ยูเอสเอส เอนเตอร์ไพรซ์ (USS Enterprise หมายเลขประจำเรือ CVN-80) ที่ปัจจุบันเสร็จสิ้นไปแล้ว 44% ก็กำลังล่าช้ากว่ากำหนดการเช่นเดียวกัน

ความล่าช้านี้ถูกระบุว่าสาเหตุเนื่องมาจากวัสดุสำคัญยิ่งยวดที่ต้องใช้งานโดยต้องเรียงตามลำดับ ถูกจัดส่งมาล่าช้า โดยที่พวกเจ้าหน้าที่กองทัพเรือสหรัฐฯกล่าวว่า เรื่องนี้จะ “ทำให้การจัดส่งต้องล่าช้าออกไปอย่างสำคัญจนเลยวันที่ซึ่งกำหนดเอาไว้ในสัญญาจ้างต่อเรือ” เวลานี้ กองทัพเรือสหรัฐฯทำงานใกล้ชิดกับทางอู่ต่อเรือ ซึ่งได้แก่ ฮันติงตัน อิงกัลส์ อินดัสตรีส์-นิวพอร์ต นิวส์ ชิปบิลดิ้ง (Huntington Ingalls Industries-Newport News Shipbuilding หรือ HII-NNS) และพวกผู้ขายสินค้าสำคัญยิ่งยวด เพื่อบรรเทาความเสี่ยงเรื่องการล่าช้ากว่ากำหนด

ถึงแม้ยังไม่มีการอัปเดตกำหนดวันเวลาในการส่งมอบเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 2 ลำนี้ แต่ในคำชี้แจงต่อวุฒิสภาของพวกเจ้าหน้าที่กองทัพเรือครั้งนี้ได้เน้นย้ำว่า ความรู้อย่างลึกซึ้งซึ่งได้รับมา กำลังถูกใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการดำเนินการ ทั้งสำหรับการต่อ CVN-80 และเรือบรรทุกเครื่องบินลำถัดไป ซึ่งได้แก่ ยูเอสเอส ดอริส มิลเลอร์ (USS Doris Miller หมายเลขประจำเรือ CVN-81)

ถึงแม้เผชิญอุปสรรคในการต่อเรืออย่างชนิดติดแน่นไม่ยอมพรากจากไปไหน แต่กองทัพเรือสหรัฐฯก็ประกาศว่ากำลังรวมกำลังเพื่อไปให้ถึงเส้นทางอันรวดเร็วที่สุดในการมีทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน พรั่งพร้อมด้วยลูกเรือ และกองกำลังอากาศยานซึ่งพรักพร้อมสู้รบ

แทล แมนเวล (Tal Manvel) นาวาเอกเกษียณอายุของกองทัพเรือสหรัฐฯ เน้นย้ำว่ามีความรีบด่วนที่ทางกองทัพจะต้องได้รับ CVN-79 และ CVN-80 ในสภาพพร้อมรบโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เขาพูดเช่นนี้ในบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ทางวารสาร โพรซีดดิ้งส์ (Proceedings) [2] ของสถาบันนาวีสหรัฐฯ (US Naval Institute) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2025 โดยอ้างอิงว่า พวกเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นนิมิตซ์ (the Nimitz-class carriers) นั้น จำเป็นต้องหาเรือใหม่มาแทนที่อย่างเร่งด่วน เนื่องจากเรือเหล่านี้เข้าใกล้การปลดระวางเข้าไปทุกทีแล้ว สืบเนื่องจากความจำกัดทั้งในเรื่องกำลัง, พื้นที่, และน้ำหนัก อย่างที่ถูกขีดเส้นใต้เน้นย้ำกันเอาไว้ ระหว่างการทำวิเคราะห์เชิงระบบเมื่อปี 1995

แมนเวล ซึ่งระหว่างที่รับราชการอยู่ เป็นนายทหารพรรคกลินที่ชำนาญด้านเรือบรรทุกเครื่องบิน กล่าวเตือนว่า การที่ ยูเอสเอส นิมิตซ์ (USS Nimitz CVN-68) ซึ่งตามกำหนดจะต้องถูกปลดระวางในปี 2027 และ ยูเอสเอส ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (USS Dwight D. Eisenhower CVN-69) ที่จะถูกปลดระวางปี 2027 –โดยที่ยังไม่มีความริเริ่มเพื่อซื้อหาเรือชั้นฟอร์ด 2 ลำต่อไป นั่นคือ CVN-82 และ CVN-83 มารองรับ— จะเป็นการลดจำนวนกองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯจนอยู่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ว่าจะต้องมีอย่างน้อยที่สุด 11 ลำ รวมทั้งยังเป็นการสร้างความสะดุดขัดข้องให้แก่ประสิทธิภาพของอู่ต่อเรือ ด้วยการก่อให้เกิดช่วงว่างที่ไม่มีการผลิตราว 7 ปีซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

(ภาพถ่ายและเผยแพร่โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ ภาพนี้มาจากวิกิพีเดีย) เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส นิมิตซ์ CVN-68 ขณะแล่นเข้าสู่เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ในเดือนกรกฎาคม 2009  เรือลำนี้ถึงกำหนดที่จะถูกปลดระวางในปี 2027 ทว่ายังคงไม่มีความริเริ่มเพื่อจัดหาจัดซื้อเรือชั้นฟอร์ดลำต่อไปมาแทนที่
ถึงแม้ปัจจุบันมีการถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินยังมีความเหมาะสมสำหรับนำมาใช้งานกันต่อไปหรือไม่ แต่การที่สหรัฐฯยังคงต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ๆ ออกมา จึงเป็นการรับประกันฐานะของเรือรบประเภทนี้ในการเป็นชิ้นส่วนแกนกลางของการสำแดงแสนยานุภาพของประเทศชาติ ถึงแม้พวกมันจะมีจุดอ่อนข้อบกพร่องปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ตามที

มาร์ก แคนเซียน (Mark Cancian) พันเอกนาวิกโยธินสหรัฐฯเกษียณอายุ และทีมนักเขียนคนอื่นๆ ก็ได้เน้นย้ำถึงจุดอ่อนดังกล่าวนี้เอาไว้ ในรายงาน [3] ซึ่งจัดทำให้แก่ ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) หน่วยงานคลังสมองชื่อดังในกรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนมกราคม 2023 โดยระบุว่า ระหว่างเล่นเกมการสู้รบจำลองที่กำหนดให้สหรัฐฯกับจีนเกิดการสู้รบขัดแย้งกันเพื่อช่วงชิงไต้หวัน ปรากฏผลออกมาว่าสหรัฐฯต้องสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินไป 2 ลำ

ไม่เพียงเท่านั้น สตีฟ แบเลสตรีเอรี (Steve Balestrieri) ก็ได้กล่าวเอาไว้ในบทความ [4] เมื่อเดือนมีนาคม 2025 ซึ่งเขาเขียนให้แก่ 1945 เว็บไซต์เผยแพร่เนื้อหาด้านกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ที่เขาเป็นคอลัมนิสต์อยู่ โดยอ้างอิงถึงเรื่องที่ทั้งจีนและรัสเซียต่างมีขีปนาวุธระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic ระดับความเร็วเหนือความเร็วเสียงตั้งแต่ 5 เท่าตัวขึ้นไป) ซึ่งสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันได้ โดยที่สหรัฐฯยังไม่มีระบบการป้องกันใดๆ ที่สามารถรับมือกับอาวุธดังกล่าวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น แบเลสตรีเอรีให้ความเห็นด้วยว่า พวกเรือดำน้ำตามแบบแผน (ไม่ใช้เครื่องยนต์พลังนิวเคลียร์) ที่ประกอบติดตั้งเทคโนโลยีหลีกเร้นเรดาร์ (สเตลธ์ stealth) ก็สามารถหลบหลีกการป้องกันของเรือบรรทุกเครื่องบิน จึงมีความเป็นไปได้ที่มันจะสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินได้ในเวลาต่อไป

รายงานของแคนเซียนและคนอื่นๆ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วมีความคิดเห็นสอดคล้องกันกับภัยคุกคามต่างๆ ที่กล่าวมา ยังตั้งข้อสังเกตว่า จากผลลัพธ์ของการเล่นเกมสงครามชิงไต้หวัน การที่ในฉากทัศน์สมมุติสถานการณ์แบบตั้งสมมุติฐานมองโลกในแง่ดีทั้งหลาย ปรากฏผลออกมาว่าสหรัฐฯสามารถหลบเลี่ยงจากการต้องสูญเสียเรือบรรทุกเครื่องบินไปได้นั้น มันก็ต้องเป็นกรณีที่ว่าพวกเขาไม่ได้ผลักดันกองเรือบรรทุกเครื่องบินของพวกเขาให้เคลื่อนขึ้นไปข้างหน้า เพื่อมุ่งให้เกิดผลเป็นการส่งสัญญาณในเชิงป้องปราม กระนั้นก็ตาม รายงานนี้บอกด้วยว่า เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯยังคงสามารถที่จะมีบทบาทให้แสดงในการสู้รบขัดแย้งดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่าเรือบรรทุกเครื่องบินเหล่านี้ต้องถูกกันออกมาจากจุดที่พวกมันอาจตกอยู่ในอันตราย

ในบทความชิ้นหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 [5] ที่เขียนให้แก่ โครงการแสนยานุภาพทางทะเลอเมริกัน (The American Sea Power Project) โธมัส มาห์นเคน (Thomas Mahnken) เสนอแนะว่า เรือบรรทุกเครื่องบินสามารถที่จะใช้เป็นส่วนหนึ่งของ “กองกำลังภายนอก” (outside force) ซึ่งประจำอยู่ในแนวห่วงโซ่หมู่เกาะชั้นที่สอง (Second Island Chain) โดยกองกำลังภายนอกที่ว่านี้จะวางตัวเป็นกองกำลังสำรองทางยุทธศาสตร์ซึ่งมุ่งป้องกันขัดขวางจีนไม่ให้สำแดงแสนยานุภาพเกินเลยออกไปจากแนวห่วงโซ่หมู่เกาะชั้นแรก (First Island Chain) ขณะเดียวกันนั้นก็ทำหน้าที่ให้ความสนับสนุนการปฏิบัติการรุกโจมตีของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ มาห์นเคน เป็นประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของศูนย์เพื่อการประเมินผลทางยุทธศาสตร์และงบประมาณ (Center for Strategic and Budgetary Assessments) รวมทั้งเป็นศาสตราจารย์วิจัยอาวุโสอยู่ที่ ศูนย์ฟิลิปเมอร์ริลล์เพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (Philip Merrill Center for Strategic Studies) ณ วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษาระดับก้าวหน้า พอล เอช. นิตซี (Paul H. Nitze School of Advanced International Studies หรือ SAIS) ของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอพกินส์ (Johns Hopkins University)

ทางเลือกอีกทางหนึ่ง เป็นข้อเสนอซึ่ง เทรเวอร์ ฟิลลิปส์-เลอวีน (Trevor Phillips-Levine) นักบินนาวีอเมริกัน กับ แอนดรูว์ เทนบุช (Andrew Tenbusch) นายทหารสหรัฐฯที่ทำงานด้านระบบอาวุธของเครื่องบินโจมตีซึ่งประจำอยู่กับเรือบรรทุกเครื่องบิน พูดเอาไว้ในบทความ [6] ที่ทั้งคู่เขียนร่วมกันเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2024 โดยขียนให้แก่ ศูนย์เพื่อความมั่นคงทางทะเลระหว่างประเทศ (Center for International Maritime Security หรือ CIMSEC) นั่นคือ สหรัฐฯสามารถใช้พวกเรือบรรทุกเครื่องบินของตน ในฐานะที่เป็น“กองเรือรบที่มีอยู่จริงๆ” มาเป็นเป้าหลอก เพื่อจะได้ตรึงทรัพยากรและอาวุธจำนวนหนึ่งของจีนเอาไว้ ซึ่งก็คือทำให้จีนไม่อาจใช้ทรัพยากรและอาวุธเหล่านี้ไปเล่นงานสหรัฐฯในสงครามช่วงชิงไต้หวันนั่นเอง

ขณะที่สหรัฐฯอาจจะมีกองเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยจำนวนเรือ 11 ลำ แต่จำนวนดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอสำหรับการแข่งขันในทางแสนยานุภาพกับประเทศจีน ไคลี มิโซกามิ (Kyle Mizokami) นักเขียนที่มีผลงานด้านประเด็นทางกลาโหมและความมั่นคง กล่าวเอาไว้ในข้อเขียนเมื่อเดือนมีนาคม 2021 [7] เผยแพร่ทางนิตยสารป็อบปูลา เมแคนิกส์ (Popular Mechanics) ว่า ในช่วงสงครามเย็นที่ผ่านมา สหรัฐฯมีเรือบรรทุกเครื่องบินระหว่าง 13 ถึง 15 ลำ เปรียบเทียบกับจำนวนต่ำสุดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมี ซึ่งคือ 11 ลำ

มิโซกามิ ชี้ว่า ในการนำเอากองเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าประจำการนั้น หลักเกณฑ์ปกติที่ใช้กันอยู่ คือกฎหนึ่งในสาม นั่นคือ หนึ่งในสามของกองเรือบรรทุกเครื่องบินจะอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจตรวจการณ์, หนึ่งในสามกำลังอยู่ระหว่างเดินทางกลับจากภารกิจตรวจการณ์, และอีกหนึ่งในสามกำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซมและการบำรุงรักษา เขาชี้ว่า ในกรณีที่สหรัฐฯมีเรือบรรทุกเครื่องบินเพียงแค่ 11 ลำ จึงหมายความว่าอาจจะมี 4 ลำเท่านั้นซึ่งสามารถนำมาใช้ปฏิบัติการได้ แต่จำนวนดังกล่าวควรที่จะพุ่งขึ้นไปเป็น 5 ถึง 6 ลำมากกว่า ในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

(ภาพถ่ายและเผยแพร่โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ ภาพนี้มาจากวิกิพีเดีย) เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส คาร์ล วินสัน CVN-70 (ลำล่าง) เดินทางมาแทนที่ ยูเอสเอส จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช CVN-77 (ลำบน) ในการปฏิบัติภารกิจที่อ่าวเปอร์เซีย เมื่อเดือนตุลาคม 2014  เรือทั้งสองลำต่างอยู่ในชั้นนิมิตซ์ โดยที่ ยูเอสเอส จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช เป็นเรือลำสุดท้ายในชั้นนี้ (วางกระดูกงู ก.ย.2003, ปล่อยลงน้ำ ต.ค. 2005, ขึ้นระวางประจำการ ม.ค. 2009)
ตามรายงานของนิวสวีก (Newsweek) [8] ณ เดือนเมษายน 2025 สหรัฐฯมีเรือบรรทุกเครื่องบินที่ถูกส่งออกไปประจำการในมหาสมุทรแปซิฟิกจำนวน 3 ลำ ๆ ได้แก่ ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน (USS George Washington CVN-73) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในญี่ปุ่น, ยูเอสเอส นิมิตซ์ (USS Nimitz CVN-68) กำลังเดินทางเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก เพื่อผลัดเปลี่ยนแทนที่เรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส คาร์ล วินสัน (USS Carl Vinson CVN-70) และอีกลำหนึ่งคือ ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น (USS Abraham Lincoln CVN-72) ซึ่งกำลังปฏิบัติงานอยู่ในแปซิฟิกตะวันออก

มิโซกามิ ระบุว่า กองเรือบรรทุกเครื่องบินที่ประจำอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรแปซิฟิกของสหรัฐฯเวลานี้อยู่ในสภาพตึงตัวเป็นอย่างยิ่งแล้ว และการเพิ่มเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 12 เข้าไปจะสามารถบรรเทาความเครียดลงได้บางส่วน เขายังเสนอแนะว่า สหรัฐฯน่าจะตัดสินใจได้แล้วว่าตนเองไม่จำเป็นต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบินอยู่ในภูมิภาคบางภูมิภาคตลอดเวลา และลดขนาดการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินออกไปประจำการให้น้อยลง ทว่าการทำเช่นนั้นย่อมมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นการลดระดับการป้อมปรามต่อพวกชาติที่มีศักยภาพจะกลายเป็นศัตรู อย่างเช่น อิหร่าน และจีน

ว่าแต่ว่าสหรัฐฯสามารถที่จะส่งเรือบรรทุกเครื่องบินลงทะเลพร้อมกัน 12 ลำได้หรือไม่? ในบทความเมื่อเดือนสิงหาคม 2024 [9] ซึ่งเขียนให้นิตยสาร เดอะเนชั่นแนลอินเทอเรสต์ (The National Interest หรือ TNI) นักเขียน ปีเตอร์ ซูซิว (Peter Suciu) อ้างอิงว่าเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นฟอร์ดลำหนึ่ง ต้องสิ้นค่าใช้จ่ายในการต่อประมาณ 13,300 ล้านดอลลาร์ และต้องการอีกหลายร้อยล้านดอลลาร์ในการบำรุงรักษา

ซูซิว ชี้ว่า ความยุ่งยากซับซ้อนและราคาค่าใช้จ่ายของเรือบรรทุกเครื่องบิน ทำให้มันตกเป็นเป้าหมายที่ยั่วยวนให้ข้าศึกเข้าโจมตี และถ้ามันเกิดเสียหายหรือสูญเสียไปในระหว่างการสู้รบแล้ว ก็จะหมายถึงการสูญเสียมูลค่าระดับหลักพันล้านหมื่นล้านดอลลาร์ และทำให้เกิดจุดอ่อนร้ายแรงขึ้นในสมรรถนะการสำแดงแสนยานุภาพของสหรัฐฯ

ยิ่งกว่านั้น รายงานฉบับหนึ่ง [10] จากหน่วยงานบริการการวิจัยของรัฐสภาสหรัฐฯ (US Congressional Research Service หรือ CRS) เมื่อเดือนมกราคม 2025 ระบุว่า ถึงแม้กองทัพเรือสหรัฐฯวางแผนการเอาไว้ที่จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการเป็นจำนวน 12 ลำในท้ายที่สุด โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ตั้งเอาไว้ว่าจะมีกองเรือที่เป็นเรือสู้รบจำนวนทั้งสิ้น 381 ลำ แต่มีอุปสรรคมากมายเหลือเกินที่จะต้องฟันฝ่าเพื่อไปให้ถึงและประคับประคองรักษาเป้าหมายนี้เอาไว้ให้ได้

ตามเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ แผนการต่อเรือระยะเวลา 30 ปีฉบับประจำปีงบประมาณ 2025 ของกองทัพเรือสหรัฐฯ วางแผนคาดการณ์เอาไว้ว่า ในกรอบระยะเวลาจากปีงบประมาณ 2025 จนถึงปีงบประมาณ 2054 มีเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้นที่จะทำได้ตามเป้าหมายในการมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 12 ลำ ได้แก่ ปีงบประมาณ 2025, 2029, และ 2032 โดยที่กองเรือบรรทุกเครื่องบิน อาจลดลงจนเหลือแค่ 9 ลำภายในปี 2047 ด้วยซ้ำ ตามฉากทัศน์สมมุติสถานการณ์บางฉากทัศน์ ทั้งนี้รายงานระบุว่า อุปสรรคที่คอยขวางกั้น มีอาทิเช่น ความตึงตัวของงบประมาณ, ความล่าช้าในการต่อเรือ, และความจำกัดต่างๆ ของฐานอุตสาหกรรม

เวลาเดียวกับที่สหรัฐฯต้องต่อสู้ดิ้นรนหนักกับการต่อและการบำรุงรักษาเรือบรรทุกเครื่องบินของตนอยู่นี้ ทางด้านจีนกลับดูเหมือนกำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

คริส ออสบอร์น (Kris Osborne) อ้างอิงเอาไว้ในบทความเมื่อเดือนมีนาคม 2025 ที่เขียนให้ 1945 ว่า จีนซึ่งชิงตำแหน่งการมีกองทัพเรือขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว เวลานี้มีเรือบรรทุกเครื่องบินในแปซิฟิกจำนวน 3 ลำด้วยกัน และยังกำลังต่อลำที่ 4 ที่เรียกกันว่า แบบ 004 (Type 004) โดยที่อาจจะเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินใช้พลังนิวเคลียร์ลำแรกของแดนมังกร ซึ่งสามารถประชันขันแข่งอย่างทัดเทียม หรือกระทั่งมีขนาดใหญ่กว่าเรือชั้นฟอร์ดของสหรัฐฯด้วยซ้ำ

ออสบอร์น ซึ่งเป็นบรรณาธิการเทคโนโลยีการทหารของ 1945 ชี้ว่า ขณะที่จีนก็ต้องเผชิญเหตุผลข้อโต้แย้งอย่างเดียวกับในสหรัฐฯ เกี่ยวกับประโยชน์ใช้สอยของเรือบรรทุกเครื่องบินในการทำสงครามนาวีสมัยใหม่ แต่การต่อเรือ ไทป์ 004 แสดงให้เห็นว่าจีนยังคงมองว่าเรือเหล่านี้มีความเหมาะสมสามารถใช้งานได้ดี

เขาอ้างอิงถึงการพัฒนาในด้านการป้องกันประเทศที่อิงอาศัยเรือของจีน และการพัฒนาสมรรถนะทางด้านการข่าวกรอง, การเฝ้าตรวจ, และการลาดตระเวน (intelligence, surveillance and reconnaissance หรือ ISR) เพื่อตรวจจับขีปนาวุธต่อสู้เรือที่กำลังถูกยิงเข้ามา เหล่านี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าพวกผู้วางแผนด้านการทหารของแดนมังกรมีความเชื่อว่า เรือบรรทุกเครื่องบินสามารถที่จะเอื้ออำนวยความได้เปรียบอันทรงคุณค่าอย่างโดดเด่นและอย่างยิ่งยวด ในเวลาเกิดสงครามขึ้นมา

ภาพกราฟฟิกจาก โกลบอลไทมส์ สื่อในเครือของ เหรินหมินรึเป้า ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แสดงวิวัฒนาการของเรือบรรทุกเครื่องบินจีน จากลำแรก “เหลียวหนิง” (Liaoning Type 001)ซึ่งนำเอาเรือเก่ายุคสหภาพโซเวียตมาปรับปรุงใหม่ มาสู่ลำที่สอง “ซานตง” (Shandong Type 002) ที่จีนต่อเอง โดยทั้ง 2 ลำ มีระวางขับน้ำราวๆ 60,000 ตัน และระบบส่งเครื่องบินขึ้นสู่ท้องฟ้า เป็นระบบวิ่งไปตามดาดฟ้าเรือที่เชิดสูง (Ski-jump ramp) สำหรับลำที่สาม “ฝู่เจี้ยน” (Fujian Type 003) ซึ่งจีนต่อเองเช่นกัน มีระวางขับน้ำมากกว่า 80,000 ตัน ส่วนระบบส่งเครื่องบิน เป็นระบบใช้เครื่องดีดส่งพลังแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic catapults) ทั้งนี้กราฟฟิกนี้ไม่ได้พูดถึงเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สี่ของจีน Type 004 ซึ่งพวกผู้สังเกตการณ์คาดเก็งกันว่าน่าจะมีระวางขับน้ำเกิน 100,000 ตัน และขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์
เชิงอรรถ

[1] https://www.armed-services.senate.gov/imo/media/doc/joint_statement6.pdf
[2] https://www.usni.org/magazines/proceedings/2025/february/dont-delay-next-dual-buy-carriers
[3] https://csis-website-prod.s3.amazonaws.com/s3fs-public/publication/230109_Cancian_FirstBattle_NextWar.pdf?VersionId=XlDrfCUHet8OZSOYW_9PWx3xtc0ScGHn
[4] https://www.19fortyfive.com/2025/03/the-age-of-navy-aircraft-carriers-is-about-to-end/
[5] https://www.usni.org/magazines/proceedings/2022/february/maritime-strategy-deal-china
[6] https://cimsec.org/the-queen-sacrifice-use-the-carrier-for-naval-deception/
[7] https://www.popularmechanics.com/military/navy-ships/a35928241/navy-aircraft-carriers/
[8] https://www.newsweek.com/pacific-map-us-china-news-aircraft-carriers-april-4-2025-2055153?utm_source=chatgpt.com
[9] https://nationalinterest.org/blog/buzz/us-navys-aircraft-carrier-fleet-spread-too-thin-210106#:~:text=Summary%20and%20Key%20Points:%20The%20U.S.%20Navy%20faces,strained%20supply%20chain%20make%20building%20more%20carriers%20difficult.
[10] https://s3.documentcloud.org/documents/25496977/navy-ford-cvn-78-class-aircraft-carrier-program-background-and-issues-for-congress-jan-14-2025.pdf
[11] https://www.19fortyfive.com/2025/03/why-china-is-obsessed-with-building-more-aircraft-carriers/
[12] https://www.nbcnews.com/news/world/china-working-enormous-aircraft-carrier-rivals-biggest-us-fleet-analys-rcna193593
กำลังโหลดความคิดเห็น