ประเด็นกำลังพลสหรัฐฯหลายหมื่นนายที่ประจำการอยู่ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เตรียมกลายเป็นส่วนหนึ่งในการเจรจาผ่อนปรนมาตรการรีดภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แม้ทางโซลและโตเกียว พยายามแยกการเจรจาด้านความมั่นคงออกจากการค้าก็ตาม
ในข้อความที่โพสต์บนทรัสต์โซเชียล ทรัมป์ระบุว่าส่วนแบ่งด้านต้นทุนการป้องกันตนเอง จะเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาแบบครบวงจรกับเกาหลีใต้ และเผยว่าเขาได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับภาระค่าใช้จ่ายด้านกลาโหม ระหว่างที่พวกเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่น เดินทางมาเยือนวอชิงตัน เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สหรัฐฯ มีทหารประจำการอยู่ในญี่ปุ่น ราว 50,000 นาย และเกาหลีใต้ 28,500 นาย และทั้ง 2 ประเทศพึ่งพาร่มนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ สำหรับปกป้องภัยคุกคามจากจีน รัสเซียและเกาหลีเหนือ ทั้งนี้กำลังพลที่ประจำการอยู่ทั้งในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ถูกมองว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับแสนยานุภาพทางทหารของอเมริกา ในการปกป้องอำนาจและอิทธิพลในภูมิภาคแถบนี้
ทรัมป์ เคยบ่งชี้ว่าเขาจะถอนกองกำลังสหรัฐฯออกมา ถ้าทั้ง 2 ประเทศ ไม่ยอมแบกรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว และครั้งที่ดำรงตำแหน่งสมยแรก เขายังได้เรียกร้องเงินอีกหลายพันล้านดอลลาร์จากทั้ง 2 ชาติ
เมื่อวันพุธ(16เม.ย.) คิม ฮอง-คยุน รองรัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 1 ของเกาหลีใต้ บอกกับรัฐสภาว่า แม้ทางวอชิงตันยังไม่มีเสนออย่างเป็นทางการ สำหรับเจรจาใหม่เกี่ยวกับข้อตกลงมาตรการพิเศษ(Special Measures Agreement-SMA) ซึ่งว่าด้วยการแชร์ค่าใช้จ่ายในการคงกำลังทหารสหรัฐฯในเกาหลีใต้ แต่โซลก็กำลังเตรียมพร้อมสำหรับความเป็นไปได้ต่างๆนานา
ในส่วนของญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่งเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า โตเกียวมองประเด็นการใช้จ่ายด้านการป้องกันตนเอง ควรเจรจาแยกกันจากการรีดภาษี "มันเป็นคนละประเด็นกัน ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว" เจ้าหน้าที่กล่าว บ่งชี้ว่าเรื่องการใช้จ่ายทางกลาโหมไม่ควรถูกหยิบยกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่้งของการเจรจาผ่อนปรนรีดภาษี
แดนนี รัสเซลล์ นักวิเคราะห์จากสถาบันนโยบายสังคมเอเชีย ให้ความเห็นว่า "ทรัมป์แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขามองความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตร เป็นเพียงคู่ทำธุรกรรม และมีความตั้งใจขูดรีดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างสมสัดสมส่วนกับมูลค่าร่มป้องกันตนเองของสหรัฐฯ"
ไม่นานก่อนศึกเลือกตั้งสหรัฐฯเมื่อปีที่แล้ว เกาหลีใต้และรัฐบาลที่กำลังพ้นจากตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ณ ขณะนั้น เร่งรีบหาทางลงนามในข้อตกลง SMA ฉบับใหม่ที่ครอบคลุมระยะเวลา 4 ปี ซึ่งในเนื้อหานั้น โซล จะเพิ่มวงเงินสนับสนุนทางทหารสำหรับคงไว้ซึ่งกำลังพลอเมริกาในประเทศ ขึ้นอีก 8.3% เป็น 1,470 ล้านดอลลาร์(48,000 ล้านบาท) ในปีแรก และจะเพิ่มขึ้นอีกในปีต่อๆไป ตามสถานการณ์เงินเฟ้อ
ณ ตอนนั้น เกาหลีใต้ กังวลว่า หาก โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้ง และกลับเข้ามาบริหารประเทศสมัยที่ 2 อาจจะทำให้การเจรจาทำได้ลำบากกว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งสุดท้ายก็เป็นอย่างที่กังวลจริงๆ
เวลานี้เกาหลีใต้อยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลรักษาการ หลังจากยุน ช็อก-ยอล ถูกถอดถอนและโดนปลดจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ตามหลังความพยายามประกาศกฎอัยการศึกช่วงสั้นๆในเดือนธันวาคม โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะมีขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน
หากนับทั่้วโลก ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่มีทหารสหรัฐฯประจำการในต่างแดนมากที่สุด ในนั้นรวมถึงฝูงบินเครื่องบินขับไล่และกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี
จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ข้อตกลงที่เจรจากันในปี 2022 และมีกำหนดหมดอายุลงในเดือนมีนาคม 2027 ญี่ปุ่นแบกรับค่าใช้จ่ายในการคงทหารสหรัฐฯในประเทศ ปีละราวๆ 1,480 ล้านดอลลาร์(ราว 49,000 ล้นบาท)
อนึ่ง ท่ามกลางคำถามเกี่ยวกับศักยภาพและความตั้งใจของสหรัฐฯในการปกป้องเกาหลีใต้จากเกาหลีเหนือ เพื่อนบ้านคู่อริที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ ได้โหมกระพือเสียงเรียกร้องครั้งใหม่ ที่เร่งเร้าให้โซลเตรียมพร้อมสำหรับพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง
(ที่ม:รอยเตอร์)