รัฐแคลิฟอร์เนียยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นของสหรัฐฯในเมืองซานฟรานซิสโก เมื่อวันพุธ (16 เม.ย.) ขอให้ยับยั้งมาตรการภาษีศุลกากรของทรัมป์ โดยกล่าวหาว่า ประธานาธิบดีผู้นี้ใช้อำนาจโดยมิชอบ รวมทั้งสร้างความเสียหายทางการเงินต่อรัฐแคลิฟอร์เนียและประเทศชาติ
ในคำฟ้องระบุว่า รัฐธรรมนูญของอเมริกากำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้อนุมัติการเรียกเก็บภาษีศุลกากร นอกจากนั้นกฎหมายว่าด้วยอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ไออีอีพีเอ) ที่ทรัมป์อ้างอิงในการประกาศภาษีศุลกากรระลอกใหม่ ยังไม่อนุญาตให้ประธานาธิบดีเรียกเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าทั้งหมดตามอำเภอใจ
คำร้องสำทับว่า ภาษีศุลกากรระลอกใหม่ของทรัมป์ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรอลหม่าน มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหายไปหลายแสนล้านดอลลาร์ภายในไม่กี่ชั่วโมง การลงทุนหยุดชะงักอันเป็นผลจากการดำเนินการของประธานาธิบดีโดยไม่แจ้งล่วงหน้าหรือไม่มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งเสี่ยงทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย
คำฟ้องยังระบุว่า เศรษฐกิจรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีมูลค่าสูงสุดอันดับ 5 ของโลก และเป็นหนึ่งในรัฐที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุดของอเมริกา ต้องแบกรับต้นทุนจากภาษีศุลกากรเหล่านั้นในสัดส่วนที่มากเกินไป
ภาษีศุลกากรของทรัมป์อาจทำลายท่าเรือ 12 แห่งของแคลิฟอร์เนียที่รองรับสินค้านำเข้า 40% ของสินค้าที่นำเข้าสู่อเมริกาทั้งหมด อีกทั้งยังอาจเป็นอันตรายต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของแคลิฟอร์เนียที่มีมูลค่าถึง 23,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 และส่งผลต่อเนื่องให้มีการปลดพนักงานหลายพันคน
ในคำฟ้อง เกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย และร็อบ บอนตา อัยการสูงสุดของรัฐนี้ ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตทั้งคู่ ยังขอให้ผู้พิพากษาห้ามกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และหน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนบังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากร
ความเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นกรณีการฟ้องร้องล่าสุดกว่า 10 คดีเพื่อคัดค้านมาตรการภาษีของทรัมป์
ทว่า คุช เดไซ โฆษกทำเนียบขาว กลับตอบโต้ว่า นิวซัมควรสนใจแก้ปัญหาอาชญากรรม คนจรจัด และสินค้าแพงในแคลิฟอร์เนียมากกว่าพยายามขัดขวางมาตรการภาษีของทรัมป์ พร้อมยืนยันว่า คณะบริหารยังคงมุ่งมั่นแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่บ่อนทำลายอุตสาหกรรมต่างๆ และการจ้างงานของอเมริกา
ทั้งนี้ ในการประกาศมาตรการภาษีศุลกากร ทรัมป์อ้างอิงกฎหมายต่างๆ ที่รวมถึงไออีอีพีเอที่ให้อำนาจพิเศษแก่ประธานาธิบดีในการต่อสู้กับภัยคุกคามที่ไม่ปกติที่มีต่อประเทศ โดยทรัมป์อ้างว่า การขาดดุลการค้าสุทธิของอเมริกาต่อทั่วโลกเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่คุกคามศักยภาพการผลิตของประเทศ อีกทั้งทำให้อเมริกาต้องพึ่งพิงศัตรูต่างชาติ
ทว่า สตราทอส พาฮิส ศาสตราจารย์กฎหมายการค้าระหว่างประเทศของ บรูคลิน ลอว์ สกูล แย้งว่า การขาดดุลการค้าและความตกต่ำในภาคการผลิตของอเมริกาเป็นผลลัพธ์จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดกำแพงภาษีนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ใช่เงื่อนไขตามกฎหมายที่ทรัมป์สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการรีดภาษีประเทศอื่นๆ
(ที่มา: รอยเตอร์/เอเอฟพี)