ทรัมป์ล้วงลูก เข้าร่วมเจรจาการค้ากับคณะผู้แทนญี่ปุ่นโดยไม่มีกำหนดการมาก่อน ส่งสัญญาณผู้นำสหรัฐฯ ต้องการคุมการเจรจากับหลายสิบชาติที่เข้าคิวขอต่อรองเรื่องภาษีศุลกากร และยังสะท้อนเดิมพันสูงของวอชิงตันหลังมาตรการดังกล่าวทำเศรษฐกิจปั่นมะกันเองก็ปั่นป่วน และบีบคณะบริหารต้องให้ความมั่นใจกับสาธารณชนว่าสามารถบรรลุข้อตกลงกับประเทศต่างๆ อย่างรวดเร็ว ในอีกด้านหนึ่งแม้โตเกียวบอกว่าการพูดจาครั้งนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และจะมีการหารือรอบสองปลายเดือนนี้ แต่นายกฯแดนอาทิตย์อุทัยก็ย้ำว่าการทำข้อตกลงกันจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมหารือกับคณะผู้แทนของญี่ปุ่นในวันพุธ (16 เม.ย.) เคียงข้าง สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลัง โฮเวิร์ด ลุดนิก รัฐมนตรีพาณิชย์ และพวกที่ปรึกษาเศรษฐกิจระดับสูงซึ่งมีบทบาทหลักด้านนโยบายการค้าและภาษีศุลกากรของอเมริกา
ภายหลังการประชุม ทรัมป์โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้พบกับคณะผู้แทนการค้าของญี่ปุ่น และถือเป็นความคืบหน้าครั้งใหญ่
ส่วนที่โตเกียว นายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันพฤหัสฯ (17 ) โดยอ้างอิงรายงานจาก เรียวเซ อากาซาวะ รัฐมนตรีกระทรวงฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายญี่ปุ่น ว่า การเจรจาเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และตรงไปตรงมาอย่างมาก โดยจะมีการหารือรอบสองปลายเดือนนี้
อิชิบะ ซึ่งเคยพูดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า เขาจะไม่เร่งรัดให้บรรลุข้อตกลง และไม่ได้มีแผนการที่จะยอมอ่อนข้ออย่างใหญ่โต ยังคงมีน้ำเสียงที่ระมัดระวังมากกว่า โดยบอกว่า “แน่นอนทีเดียว การเจรจาคราวนี้จะไม่ใช่เรื่องที่จะคืบหน้าไปได้ง่ายๆ ทว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้ย้ำแล้วว่า ท่านต้องการให้ลำดับความสำคัญสูงสุดกับการพูดจากับญี่ปุ่น”
จากการที่ทรัมป์ตัดสินใจเข้ามีส่วนร่วมโดยตรงในการหารือกับฝ่ายญี่ปุ่นเช่นนี้ กำลังถูกมองว่าสะท้อนถึงความต้องการของเขาในการควบคุมการเจรจาและเร่งรัดการบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ โดยเร็ว ขณะที่จีนก็พยายามผลักดันข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นเรื่องนี้ยังเป็นบททดสอบสำคัญต่อชื่อเสียงของทรัมป์ในฐานะนักเจรจาธุรกิจ ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกพยายามจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภาษีศุลกากรของอเมริกา
ทั้งนี้ภาษีศุลกากรระลอกใหญ่ที่ทรัมป์ประกาศเมื่อวันที่ 2 ที่ผ่านมาทำให้ตลาดการเงินแตกตื่นและกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ส่งผลให้ทรัมป์ต้องยอมออกมาแถลงชะลอการขึ้นภาษีต่อประเทศส่วนใหญ่ออกไป 90 วัน แต่รีดภาษีสินค้าจีนเพิ่มสูงขึ้นอีก โทษฐานไม่ยอมจำนนแต่ประกาศมาตรการตอบโต้เอาคืน โดยในขณะนี้อัตราภาษีสูงสุดที่แดนมังกรโดนสหรัฐฯประกาศจัดเก็บอยู่ที่ 245% แล้ว
สำหรับญี่ปุ่น การที่ทรัมป์ชะลอมาตรการภาษีตอบโต้ ทำให้แดนอาทิตย์อุทัยรอดพ้นจากการถูกเก็บภาษีตอบโต้ที่ครอบคลุมสินค้าทุกรายการเพิ่มขึ้น 24% เป็นการชั่วคราว แต่ยังต้องจ่ายภาษีตอบโต้อัตราพื้นฐานซึ่งอยู่ที่ 10% รวมทั้งถูกรีดภาษีสินค้ารถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจน เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ในอัตรา 25%
ญี่ปุ่นในปัจจุบันเรียกเก็บภาษีเฉลี่ย 1.9% จากสินค้านำเข้าของชาติต่างๆ เวลาเดียวกันก็เป็นพันธมิตรกับอเมริกามายาวนาน การเจรจาในวันพุธจึงถือเป็นดัชนีสำคัญที่จะบ่งชี้ว่า คณะบริหารของทรัมป์สามารถบรรลุข้อตกลงที่มีนัยซึ่งจะช่วยฟื้นความมั่นใจของตลาด ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวอเมริกัน และชาติพันธมิตรได้หรือไม่
นอกจากนั้น ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศแรกๆ ที่เริ่มเปิดเจรจากับอเมริกาเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีตอบโต้หลังสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผัน 90 วัน ก่อนหน้านี้อิสราเอลและเวียดนามเสนอยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าอเมริกัน แต่ทรัมป์ยังไม่ยอมตอบว่า ข้อเสนอดังกล่าวเพียงพอหรือไม่
ญี่ปุ่นนั้นแทบไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า จะยื่นข้อเสนอใดให้อเมริกาพิจารณาระหว่างการหารือ โดยรายงานระบุว่า โตเกียวคาดหวังว่า การสัญญาเพิ่มการลงทุนในอเมริกาจะช่วยโน้มน้าววอชิงตันว่า ข้อเสนอนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษีศุลกากร
เช่นเดียวกับคณะบริหารสหรัฐฯ ที่ไม่เปิดเผยข้อเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมา ทั้งนี้ สิ่งที่อเมริกาต้องการคือยุติการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นที่มีมูลค่าถึง 68,500 ล้านดอลลาร์ และต้องการขยายการเข้าถึงตลาดต่างประเทศสำหรับสินค้าอเมริกัน นอกจากนั้นทรัมป์ยังยืนกรานว่า จะนำรายได้จากภาษีศุลกากรไปอุดยอดขาดดุลงบประมาณ
ญี่ปุ่นนั้นร้องเรียนว่า มาตรการภาษีของทรัมป์มีแนวโน้มละเมิดข้อตกลงการค้าทวิภาคีหรือกฎขององค์การการค้าโลก ขณะเดียวกัน แม้คัดค้านภาษีศุลกากรตอบโต้ แต่อิชิบะบอกว่า ไม่รีบร้อนผลักดันข้อตกลงและไม่คิดที่จะหยิบยื่นข้อเสนอที่ญี่ปุ่นเสียเปรียบอย่างมาก
ที่วอชิงตัน ทรัมป์ระบุว่า ต้องการหารือว่า ญี่ปุ่นจะร่วมรับผิดชอบต้นทุนการประจำการของกองทัพอเมริกันในญี่ปุ่นมากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีแผนเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมเป็นเกือบ 10 ล้านล้านดอลลาร์หรือ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2027 เทียบกับ 1.8% ของจีดีพีในปีปัจจุบัน โดยที่ยังมีความกังวลกันว่า ทรัมป์อาจเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเพิ่มงบส่วนนี้เป็น 3% ของจีดีพี
(ที่มา: เอพี/รอยเตอร์)