เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – ธิงแทงก์ JANES ทางความมั่นคงชื่อดังล่าสุดยืนยันความถูกต้องรายงาน “มอสโก” ร้องขอใช้ปาปัวห่างจากเมืองดาร์วินของออสเตรเลียไป 850 ไมล์ เป็นฐานสำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล TU-95 และเครื่องบินลำเลียงยุทโธปกรณ์ Il-76 สื่ออังกฤษวิเคราะห์ ปูตินมองแบบกินรวบทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทดสอบความเป็นพันธมิตรตามธรรมเนียมของเหล่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคทรัมป์ ระหว่าง 7 บริษัทไทยโดนอเมริกันแอบขึ้นบัญชีดำเงียบๆฐานใกล้ชิดส่งสินค้าอ่อนไหวให้มอสโก การส่งออกของไทยไปรัสเซียพุ่งกว่า 1,000% จาก 8.3 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 มาอยู่ที่ 98.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2023
สกายนิวส์ของออสเตรเลียรายงานวันนี้(17 เม.ย)ว่า นักข่าวอาวุโสประจำธิงแทงก์ข่าวกรองทางการทหารแบบโอเพ่นซอร์ส JANES ริดซวาน รอห์มัต (Ridzwan Rahmat) ยืนยันว่า การรายงานฉบับดั้งเดิมที่เปิดเผยคำร้องจากมอสโกถึงการใช้ฐานทัพอากาศอินโดนีเซียนั้นมีความถูกต้องแม่นยำ
ตามการรายงานระบุว่า รัสเซียได้ร้องขออนุญาตให้เครื่องบินระยะไกลของรัสเซียประจำอยู่ที่ฐานทัพอากาศ Manuhua ในปาปัวของนิวซีแลนด์
“พวกเราที่ JANES ขอยืนยันต่อรายงานนี้ว่ามีความถูกต้องแม่นยำ ซึ่งเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นหลังไม่กี่สัปดาห์ที่ได้มีการพูดคุยกับแหล่งข่าวกรองที่รู้เรื่องเป็นอย่างดีภายในรัฐบาลอินโดนีเซีย” รอห์มัตกล่าว
พร้อมเสริมว่า “และนอกเหนือจากนี้ เพื่อปกป้องแหล่งข่าวเหล่านี้ทางเราจะไม่เผยแพร่ข้อมูลนี้หรือรายละเอียดอื่นๆของการสนทนาเหล่านี้ออกมา”
เดอะวอร์โซนสื่อทางการทหารสหรัฐฯรายงานวันอังคาร(15)ว่า ในรายงานของ JANES ไม่มีการระบุถึงสิ่งที่รัสเซียต้องการส่งไปประจำที่ฐานบินในปาปัวแต่ธิงแทงก์ JANES เข้าใจว่าน่าจะเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลรัสเซีย Tupolev Tu-95 และเครื่องบินลำเลียง Il-76 airlifter ที่สามารถใช้ขนส่งอุปกรณ์หนักมาได้
สกายนิวส์ออสเตรเลียชี้ว่า อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยออสเตรเลีย ไมค์ เพซซัลโล (Mike Pezzullo) ได้แสดงความเห็นว่า รัสเซียอาจจะเพิ่งร้องต่อจาการ์ตาเมื่อไม่นานมานี้ในการขอฐานทัพอากาศปาปัวสำหรับกิจการทางการทหารรัสเซีย
เขาชี้ว่า อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อดีตรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ปัจจุบันเลขาสภาความมั่นคงรัสเซีย เซอร์เก ชอยกู ที่เดินทางมาเยือนจาการ์ตา
จาการ์ตาโพสต์ของอินโดนีเซียรายงานวันที่ 24 ก.พที่ผ่านมาว่า ชอยกูคนใกล้ชิดประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน เดินทางมาเยือน “อินโดนีเซีย-มาเลเซีย” โดยอ้างจากสำนักข่าว RIA ทางการของรัสเซียว่า การเดินทางเยือน 2 ชาติเพื่อหารือด้านการทหารจะเริ่มต้นในวันจันทร์ที่ 24 ก.พ และจะสิ้นสุดในวันจันทร์ที่ 28 ก.พ ที่ผ่านมา
TASS ของรัสเซียกล่าวว่า ชอยกูซึ่งเป็นผู้นำคณะจะหารือในประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศ โดยการเยือนเป็นโอกาสครบรอบความสัมพันธ์รัสเซีย-อินโดนีเซีย 75 ปี
และการรายงานของจาการ์ตาโพสต์เมื่อวันที่ 28 ก.พ พบว่า ชอยกูได้พบนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ที่ทำเนียบรัฐบาลแดนเสือเหลือง และการหารือยังรวมถึงรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย โมฮัมเหม็ด คาเล็ด นอร์ดิน(Mohamed Khaled Nordin)
และเป็นที่น่าสังเกตว่า รัสเซียพบอินโดนีเซียถี่ยิบ
เพราะจาการ์ตาโพสต์รายงานในวันพุธ(16)ว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต พบหารือรองนายกรัฐมนตรีรัสเซียเมื่อช่วงต้นของวันจันทร์(14) ก่อนที่จะมีการปรากฎตัวร่วมระหว่างรัฐมนตรีประสานด้านเศรษฐกิจ Airlangga Hartarto การประชุมฟอร์รัมธุรกิจรัสเซีย-อินโดนีเซีย พร้อมความร่วมมือในการขยายด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และการศึกษา
เดอะการ์เดียนของอังกฤษวิเคราะห์ว่า การที่ปูตินรุกคืบขอเข้าใช้ฐานทัพอากาศอินโดนีเซียที่ดูเป็นสิ่งที่ล้มเหลว แต่เชื่อว่าผู้นำรัสเซียอดีต KGB เก่านั้นมีความทะเยอทะยานในการนำรัสเซียเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไกลไปกว่านั้น
มอสโกเพียรพยามการได้สิทธิ์เข้าใช้ฐานทัพอากาศใน Biak มานานเกือบครึ่งศตวรรษ และไม่เคยได้การอนุญาตจากการที่อินโดนีเซียกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแดนอิเหนาว่า นโยบายการต่างประเทศต้องไม่อิงกับประเทศใด และส่งผลให้ไม่มีต่างชาติได้สิทธิ์เข้ามาตั้งฐานในแดนอิเหนา
อย่างไรก็ตามปาปัวเป็นเสมือนประตูทางเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและอีกทั้งฐานทัพ Biak อยู่ห่างจากเมืองดาร์วิน(Darwin )ทางเหนือของออสเตรเลียออกไปแค่ 1,300 ก.ม ซึ่งเมืองดาร์วินมีฐานทัพกองกำลังทหารอเมริกันประจำอยู่
Biak เป็นเกาะในอินโดนีเซียตั้งอยู่ทางเหนือของปาปัวตะวันตก อ้างอิงจากสื่อเดอะวอร์โซนของสหรัฐฯพบว่า บนเกาะมีฐานทัพอากาศ Manuhua และท่าอากาศยาน Frans Kaisiepo ตั้งอยู่
ศาสตราจารย์อาคันตุกะ แมทธิว ซัสเซกซ์(Matthew Sussex) ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย(Australia National University)ชี้ว่า ประธานาธิบดีปูตินมีความหวังที่จะให้ 'รัสเซีย' กลายเป็นผู้นำยูโร-แปซิฟิกเพื่อให้รัสเซียเข้ามาใกล้ชิดกับอินโดนีเซียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ท่ามกลางสุญญากาศทางอำนาจเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลสหรัฐฯประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
มาเลเซียและไทย เข้าร่วม BRICS ที่นำโดยรัสเซีย-จีนในเวลาเดียวกันได้สถานะชาติพันธมิตร BRICS ขณะที่ อินโดนีเซีย ได้สถานะ "ชาติสมาชิกโดยสมบูรณ์" และอีกทั้งอินโดนีเซียและไทย ยังมีการซ้อมรบร่วมกับรัสเซียเป็นครั้งแรก โดยรัสเซียเริ่มซ้อมรบทางนาวีกับรัสเซียในช่วงเวลาการเลือกตั้งสหรัฐฯปลายปีที่แล้ว
ซัสเซกซ์ชี้ว่า หากว่ารัสเซียสามารถเข้าใช้ฐานทัพอากาศในปาปัวจะทำให้มอสโกสามารถลอบจารกรรมความลับทางการทหารสหรัฐฯที่เกาะกวม และอีกทั้ง Biak ยังใกล้ฟิลิปปินส์พันธมิตรของวอชิงตัน
และสหรัฐฯยังมีฐานตั้งในนอร์ทเทิร์น เทอร์ริทอรี(Northern Territory) ออสเตรเลียและลากยาวไปจนถึงมหาสมุทรอินเดียตะวันตก
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกคนจากสถาบัน Lowe ของออสเตรเลียชี้ว่า รัสเซียสนใจ Biak เพราะใกล้ส้นศูนย์สูตรของโลก หรือ เส้น equator ที่รัสเซียอาจใช้เพื่อปฎิบัติการทางอวกาศ
โดยอินโดนีเซียมีแผนจะสร้างฐานปล่อยดาวเทียมขึ้นที่นั่นซึ่งรัสเซียพยายามเจรจาเพื่อขอมีส่วนร่วม โดยผู้เชี่ยวชาญต่างกล่าวว่า ฐานบินสามารถปล่อยได้ตั้งแต่ดาวเทียมในวงโคจรระดับต่ำ ไปจนถึงโดรนเพดานบินสูงระยะไกล
“แต่การเจรจานั้นช้ามาก ผมเข้าใจว่าฝ่ายอินโดนีเซียพยายามที่จะตอบปฎิเสธแต่วิธีการตอบปฎิเสธของพวกเขาคือการทำให้การเจรจาลากยาวออกไป” ยาคอบ (Yaacob) จากสถาบันโลกล่าว
ขณะที่ซัสเซกซ์ชี้ว่า และมาจนถึงคำถามว่าเหตุใดประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ถึงผลักดันขอใช้ฐานทัพอากาศที่ Biak ในเวลานี้
“ผมคิดว่ามันเป็นความพยายามที่สามารถพูดได้ว่า “เอาละนะ มาดูกันว่าจาการ์ตาจะสามารถไปไกลได้แค่ไหน” พร้อมเสริมว่า ในขณะที่สหรัฐฯกำลังถอยออกไป “เมื่อเกิดสุญญากาศ มันจะต้องมีการเข้ามาแทนที่”
สื่ออังกฤษชี้ว่า ไม่ใช่แค่อินโดนีเซียเท่านั้นที่รัสเซียกำลังจะเสาะแสวงหา ถึงแม้ว่าคำขอ Biak จะไม่เกิดผล แต่ทว่าปูตินซึ่งเป็นอดีต KGB และมีความเชี่ยวชาญทางยุทธวิธีมากมายได้ใส่ความคิดให้กับชาติพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามธรรมเนียมของสหรัฐฯที่ได้รับรู้สึกว่า ความมั่นคงเกิดความติดขัดขึ้นมาแล้ว
วอชิงตันเฝ้าจับตาชาติพันธมิตรของตัวเองในภูมิภาครวมไทย VOA ของสหรัฐฯรายงานเมื่อวันที่ 25 ก.พ ที่ผ่านมาว่า ไทยผงาดกลายเป็นท่อฮับขนาดใหญ่เป็นตัวหลักสำหรับเครื่องจักรกลและชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่สำคัญและสามารถนำมาใช้ด้านการทหารได้ส่งไหลเข้ามอสโก และมีบริษัทจำนวนมากขึ้นกำลังช่วยมอสโกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกที่ลงโทษการรุกรานยูเครน
นับตั้งแต่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครนเมื่อกุมภาพันธ์ปี 2022 วอชิงตันได้สั่งคว่ำบาตรไทยจำนวน 7 บริษัทที่เกี่ยวพันกับรัสเซีย โดยบริษัทสุดท้ายเพิ่งโดนคว่ำบาตรเมื่อธันวาคมปีที่แล้วในการส่งออกสินค้าอ่อนไหว (high priority items) ไปให้รัสเซีย
“ดังนั้นเป็นที่น่าประหลาดใจที่ได้เห็นเหล่านี้..ในฐานะประเทศใหม่หรือโลเกชันใหม่ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมสินค้า” ไบรอนร แม็คคินนีย์ (Byron McKinney) ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงการคว่ำบาตรและห่วงโซ่อุปทานประจำ S&P Global Market Intelligence เปิดเผยกับ VOA
การส่งออกของไทยไปรัสเซียพุ่งกว่า 1,000% จาก 8.3 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 มาอยู่ที่ 98.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2023
และอีกทั้งการส่งออกของไทยปี 2023 ยังเป็นที่ตกตะลึงเพราะส่วนใหญ่เป็นสินค้าอ่อนไหว เช่น ไมโครชิป ตามข้อกำหนดของศุลกากรสหรัฐฯให้อยู่ในระดับ เทียร์ 1 (Tier 1)
และในการส่งออกของไทยไปรัสเซียในปี 2024 พบว่าสินค้าอ่อนไหวสูง 90 ล้านดอลลาร์
VOA รายงานว่า บริษัทสัญชาติไทย NAL Solutions เมื่อมกราคมปี 2024 โดนกระทรวงการคลังสหรัฐฯสั่งคว่ำบาตร
บริษัทนี้เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเครือข่ายที่ควบคุมโดยชาวรัสเซีย นิโคไล อเล็คซานโดรวิช เลวิน (Nikolai Aleksandrovich Levin) ใช้เป็นช่องทางส่งอิเล็กทรอนิกและสินค้าอื่นๆจากสหรัฐฯและชาติอื่นๆไปรัสเซีย
ส่วนอีก 5 บริษัทในไทยโดนวอชิงตันคว่ำบาตรในตุลาคมปีที่แล้วรวม Intracorp ที่ถูกกล่าวหาว่าจัดตั้งบริษัทอื่นๆในการส่งสินค้าอ่อนไหวเข้ารัสเซีย
และในธันวาคมปลายปี 2024 บริษัท Siam Expert Trading ถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำในฐานะเครือข่ายข้ามชาติเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเลี่ยงปัญหาจากการคว่ำบาตรให้กับคนระดับสูงรัสเซีย
เอียน สตอรีย์ (Ian Storey) นักวิจัยประจำ ISEAS-Yusof Ishak ของสิงคโปร์กล่าวว่า “เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีไทยในปี 2023 เขามองเหมือนเลเซอร์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและมองรัสเซียเป็นเสมือนพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่มีประโยชน์”
และเสริมว่า ขณะที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แพทองธาร ชินวัตร นั้นยังคงดำเนินตามรอยเศรษฐาทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและสถานะความเป็นกลางในสงครามรัสเซีย-ยูเครน