นายกรัฐมนตรี ฟรังซัวส์ บายรู แห่งฝรั่งเศส กล่าวหาสหรัฐฯกำลังทอดทิ้งโลกประชาธิปไตย และชี้ว่าการที่วอชิงตันปรับเปลี่ยนจุดยืนฉับพลันหันไปสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซีย ได้บ่อนทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของพันธมิตรและสั่นคลอนระเบียบโลก
ในความเห็นเมื่อวันอังคาร(15เม.ย.) บายรู บอกว่าสหรัฐฯ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองในฐานะหมุดหลักสำคัญขององค์กรประเทศเสรีและผู้รับประกันกฎหมายระหว่างประเทศ ได้ละทิ้งรากแก่นแห่งค่านิยมตะวันตก พร้อมระบุเพิ่มเติมว่ามันเป็นเรื่อง "น่าช็อคมาก" ที่ประเทศหนึ่งๆ ซึ่งเคยถูกมองมาช้านานว่าเป็นเสาหลักของระเบียบโลก "จะเปลี่ยนไปเลือกข้างผู้รุกรานอย่างฉับพลัน"
มอสโกและวอชิงตันประสานงานเจรจากันมาตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กลับเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม ทั้ง 2 ชาติได้ทำการพูดคุยเจรจาระดับสูงไปแล้วหลายรอบ มุ่งเน้นไปที่ความเป็นไปได้ในการหาทางออกอย่างสันติในความขัดแย้งยูเครน และรวมไปถึงการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี
สมาชิกอียูบางส่วนและเคียฟ แสดงความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขามองว่าท่าทีของวอชิงตันที่กำลังเลือกข้างรัสเซียในความขัดแย้งยูเครน โดยประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวอ้างในสัปดาห์นี้ ว่านิยายของรัสเซียกำลังมีชัยภายในรัฐบาลทรัมป์ แต่ทางทำเนียบขาว ตอบโต้กลับ เซเลนสกี กล่าวหาผู้นำยูเครนออกถ้อยแถลง "ไร้สาระ"
นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส อ้างถึงกรณีที่สหรัฐฯกดดันยูเครน "ให้ยอมจำนนในทันทีต่อข้อเรียกร้องของผู้รุกราน ภายใต้คำขู่ตัดขาดความช่วยเหลือทางทหารทั้งหมด" ว่าเป็นหลักฐานชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายอย่างสุดขั้วของอเมริกา
ทรัมป์ เปิดศึกวิวาทะต่อหน้าสาธารณะกับ เซเลนสกี ในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ กล่าวหาผู้นำยูเครนขาดความเคารพ ไม่สำนึกบุญคุณความช่วยเหลือของสหรัฐฯในอดีตที่ผ่านมา ไม่สู้เต็มใจที่จะแสวงหาสันติภาพกับรัสเซีย และกำลังเดิมพันด้วยสงครามโลกครั้งที่ 3 พร้อมกับสั่งระงับความช่วยเหลือด้านการทหารที่มอบแก่เคียฟเป็นการชั่วคราว
บายรู ยังวิพากษ์วิจารณ์ ทรัมป์ ต่อกรณีรื้อถอนความร่วมมือที่มีมานานหลายทศวรรษ ด้วยการหันไปเปิดสงครามการค้ากับทั่วโลก "โดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆล่วงหน้า" เล่นงานทั้งมิตรและศัตรูไม่ต่างกัน ด้วยมาตรการรีดภาษี
เขาให้คำจำกัดความมาตรการรีดภาษีนี้ว่าก่อผลลัพธ์พายุไซโคลน ที่โหมกระหน่ำและบ่อนทำลายกฎหมายระหว่างประเทศและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ พร้อมระบุดังนั้นรัฐบาลฝรั่งเศสจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการลดขาดดุลงบประมาณ เพื่อรับมือกับ "สึนามิบั่นทอนเสถียรภาพ" อันมีต้นตอจากมาตรการรีดภาษีของทรัมป์
(ที่มา:อาร์ทีนิวส์)