xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดีก่อนช่วงวิกฤต?!? ส่งออกพุ่งแรงดันเศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกโตเกินคาด ด้านนักวิเคราะห์เตือน‘ภาษีทรัมป์’ คือความเสี่ยงใหญ่ที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาพของท่าเรือหยางซาน นอกนครเซี่ยงไฮ้ ทางภาคตะวันออกของจีน ในภาพซึ่งถ่ายเมื่อวันอังคาร (15 เม.ย.)
เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกโตเกินคาด เนื่องจากผู้ส่งออกเร่งส่งสินค้าก่อนภาษีมหาโหดของทรัมป์มีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์กังวลว่า สถานการณ์ของแดนมังกรอาจย่ำแย่ลงรุนแรงเนื่องจากภาษีศุลกากรของอเมริกาถือเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีสำหรับจีน

ปักกิ่ง-วอชิงตันกำลังแลกหมัดในเกมอันตรายที่เกิดการพลิกผันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดฉากโจมตีทั่วโลกด้วยภาษีศุลกากรที่ล็อกเป้าสินค้านำเข้าจากจีนเป็นพิเศษ

การตอบโต้แบบไม่มีใครยอมใครส่งผลให้อัตราภาษีที่อเมริกาเรียกเก็บจากสินค้าจีนในขณะนี้พุ่งเป็น 145% ขณะที่ปักกิ่งสวนกลับด้วยการเก็บภาษีสินค้าอเมริกัน 125%

ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจโลกที่มีต่อการฟื้นตัวที่เปราะบางของจีน เริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแม้ยังไม่ชัดเจนนัก จากข้อมูลที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (เอ็นบีเอส) เปิดเผยเมื่อวันพุธ (16 เม.ย.) ซึ่งระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกขยายตัว 5.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะเดียวกันก็สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากคาดไว้ซึ่งเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 5.1%

สำหรับตัวเลขยอดค้าปลีกที่เป็นตัวบ่งชี้ความต้องการของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 4.6% จากไตรมาสแรกปี 2024 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นการบริโภคภายหลังการใช้จ่ายซบเซานานหลายปี

ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้น 6.5% เทียบกับ 5.7% ในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้ว ส่วนยอดส่งออกทะยานกว่า 12% ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่า สืบเนื่องจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าก่อนที่ภาษีศุลกากร “วันปลดแอก” ของทรัมป์จะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เซิ่ง ไหลหยุน รองผู้อำนวยการเอ็นบีเอส เตือนว่า การจัดเก็บภาษีศุลกากรของอเมริกาจะส่งผลต่อการค้าต่างประเทศและเศรษฐกิจของจีน และแม้ยืนยันว่า แนวโน้มทั่วไปของเศรษฐกิจจีนจะยังคงปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว แต่สำทับว่า สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกจะซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น และจีนต้องการนโยบายมหภาคเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพเพื่อกระตุ้นการเติบโตและการบริโภค

ด้าน จื้อเว่ย จาง ประธานและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของพินพอยต์ แอสเส็ต แมเนจเมนต์ เตือนว่า ความเสียหายจากสงครามการค้าจะปรากฏให้เห็นในข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคเดือนหน้า

เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากอเมริกา ฟื้นตัวอย่างยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงวิกฤตโรคระบาด รอบปีที่ผ่านมาปักกิ่งประกาศมาตรการกระตุ้นเชิงรุกออกมาหลายระลอก ซึ่งรวมถึงการลดดอกเบี้ย การยกเลิกข้อจำกัดในการซื้อบ้าน การขยายเพดานหนี้สำหรับรัฐบาลท้องถิ่น และการสนับสนุนตลาดการเงิน

ทว่า หลังจากตลาดการเงินดีดขึ้นอย่างคึกคักเมื่อปีที่แล้วจากความหวังว่า รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ที่รอคอยกันมานาน ความคาดหวังแง่บวกเหล่านั้นเริ่มเจือจางลงเนื่องจากทางการยังคงไม่ยอมเปิดเผยมูลค่ามาตรการกระตุ้นที่แท้จริง หรือเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการที่สัญญาไว้แต่อย่างใด

เดือนมีนาคม ระหว่างการประชุมประจำปีของรัฐสภาจีน พวกผู้นำระดับสูงของจีนประกาศเป้าหมายอัตราการเติบโตประจำปีปัจจุบันเอาไว้ที่ราวๆ 5% พร้อมประกาศผลักดันให้อุปสงค์ภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก

นอกจากนั้นเมื่อไม่กี่วันนี้ นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง กล่าวว่า ผู้ส่งออกของจีนจะต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากภายนอก แต่รับปากว่า จะสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น

ทว่า นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า เป้าหมายการเติบโตอย่างของจีนที่กำหนดเอาไว้นี้ ยังคงสูงเกินจริงเนื่องจากเศรษฐกิจต้องฝ่าฟันปัญหามากมายในขณะนี้

นักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระชี้ว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญศึกใหญ่สองด้านพร้อมกันคือ วิกฤตอสังหาริมทรัพย์เรื้อรังภายในประเทศ และสงครามการค้ากับอเมริกา

ต้นเดือนนี้ ฟิตช์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้งรายยักษ์ใหญ่ของโลก ได้ลดระดับเครดิตของจีนโดยอ้างอิงหนี้สินภาครัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและความเสี่ยงที่มีต่อการคลังสาธารณะ บ่งชี้อุปสรรคในการพยายามหามาตรการที่สมดุลสำหรับผู้วางนโยบายที่ต้องการกระตุ้นการบริโภคเพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากสงครามการค้า

เรย์มอนด์ เหยิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ในจีนของเอเอ็นแซด ระบุว่า สถานการณ์ตอนนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อจีนเหมือนตอนโควิด-19 ระบาดในปี 2020 และวิกฤตการเงินโลกปี 2008 เอเอ็นแซดยังมองว่า จีนมีตัวเลือกจำกัดในการต้านทานผลกระทบจากภาษีศุลกากรของทรัมป์ นอกเหนือจากนโยบายการคลังแบบขยายตัวขนาดใหญ่

กระนั้น เมื่อวันพุธ เซิ่งจากเอ็นบีเอสย้ำว่า จีนยังคงมีความแข็งแกร่ง ศักยภาพ และความเชื่อมั่นในการเผชิญความท้าทายและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กำลังพยายามสร้างภาพลักษณ์ผู้สนับสนุนเสถียรภาพและความแน่นอนของจีนในด้านการค้าเสรีทั่วโลกระหว่างการเยือน 3 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มต้นจากเวียดนาม ตามด้วยมาเลเซียซึ่งประมุขแดนมังกรเดินทางถึงตั้งแต่วันอังคาร (15) และจะอยู่จนถึงวันพฤหัสบดี (17) ก่อนเยือนกัมพูชาเป็นประเทศสุดท้าย

(ที่มา: เอเอฟพี/รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น