xs
xsm
sm
md
lg

นึกว่ามาไม้ไหน!สื่อแฉทรัมป์มีแผนใช้การเจรจารีดภาษี บีบบังคับทั่วโลกให้โดดเดี่ยวจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแผนใช้การเจรจาเกี่ยวกับมาตรการรีดภาษีที่กำลังดำเนินการอยู่ กดดันบรรดาคู่หูการค้าของสหรัฐฯ ให้จำกัดการคบค้าสมาคมกับจีน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล อ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิดในประเด็นนี้

ความคิดนี้คือการกดดันรีดเอาคำสัญญาจากบรรดาคู่หูการค้าของสหรัฐฯ ให้โดดเดี่ยวเศรษฐกิจของจีน เพื่อแลกกับการลดอุปสรรคทางการค้าและการรีดภาษีที่กำหนดโดยทำเนียบขาว โดยวอลล์สตรีท เจอร์นัล บอกว่าพวกเจ้าหน้าที่อเมริกมีแผนใช้การเจรจากับประเทศต่างๆกว่า 70 ชาติ ขอให้ชาติต่างเหล่านั้นไม่อนุญาตให้จีนส่งออกสินค้าผ่านประเทศของพวกเขา ขัดขวางเหล่าบริษัทของจีนจากการโยกย้ายเข้าไปอยู่ในดินแดนของชาติต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการรีดภาษีของสหรัฐฯ และไม่ยอมให้สินค้าอุตสาหกรรมราคาถูกของจีนแทรกซึมเข้าสู่เศรษฐกิจของพวกเขา

มาตรการเหล่านี้มีเจตนาตอกลิ่มเข้าใส่เศรษฐกิจที่ง่อนแง่นอยู่ก่อนแล้วของจีน และบีบให้ปักกิ่งยอมเข้าสู่โต๊ะเจรจาด้วยอำนาจงัดข้อที่น้อยลง ในความเป็นไปได้ของการเจรจาระหว่างทรัมป์ กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ทั้งนี้ข้อเรียกร้องอย่างเจาะจงอาจต่างกันไปในแต่ละชาติ เนื่องจากจากระดับความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจีนที่ต่างกันออกไป

ทำเนียบขาวยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อรายงานข่าวนี้

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯหยิบยกความคิดนี้ขึ้นมาระหว่างการพูดคุยในเบื้องต้นกับบางประเทศ วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานอ้างอิงแหล่งข่าวใกล้ชิดกับการหารือ พร้อมระบุว่าส่วนตัวของทรัมป์เอง ก็พูดเป็นนัยเกี่ยวกับยุทธศาสตร์นี้เช่นกันในวันอังคาร(15เม.ย.) โดย ทรัมป์ บอกกับสำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์ ว่าเขาจะพิจาณาให้ประเทศต่างๆเลือกเองระหว่างสหรัฐฯและจีน ในการตอบคำถามหนึ่งเกี่ยวกับกรณีที่ ปานามา ตัดสินใจไม่เดินหน้าบทบาทของพวกเขาในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative - BRI) โครงการโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของจีน สำหรับบรรดาชาติกำลังพัฒนา

หนึ่งในคลังสมองที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดนี้ก็คือ สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ผู้ซึ่งรับหน้าที่เป็นแกนนำในการเจรจาทางการค้า นับตั้งแต่ ทรัมป์ แถลงระงับรีดภาษีตอบโต้เป็นเวลา 90 วัน เมื่อวันที่ 9 เมษายน สำหรับประเทศต่างๆเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นจีน

แหล่งข่าวเปิดเผยกับวอลล์สตรีท เจอร์นัล ว่า เบสเซนต์ นำเสนอความคิดนี้กับ ทรัมป์ ระหว่างการพบปะหารือในรีสอร์ทมาร์อาลาโก เมื่อวันที่ 6 เมษายน โดยชี้ว่าการบีบบังคับให้บรรดาคู่หูทางการค้าของสหรัฐฯยอมทำตาม อาจช่วยขัดขวางปักกิ่งและบรรดาบริษัทจีนจากการหลีกเลี่ยงมาตรการรีดภาษีของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับมาตรการควบคุมการส่งออกและมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นๆ

กลยุทธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมกว่า ที่ทาง เบสเซนต์ พยายามผลักดันเพื่อนำไปสู่การโดดเดี่ยวเศรษฐกิจจีน ซึ่งได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆจากบรรดาเจ้าหน้าที่ของทรัมป์เมื่อไม่นานที่ผ่านมา ทั้งนี้แม้มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับขนาดและความรุนแรงของมาตรการรีดภาษีของสหรัฐฯ แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเจ้าหน้าที่ดูจะเห็นด้วยในแผนเล่นงานจีนของเบสเซนต์

แผนการนี้เกี่ยวข้องกับการตัดจีนออกจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยมาตรการรีดภาษีและอาจเป็นไปได้ถึงขั้นตัดหุ้นจีนออกจากตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ในขณะที่ เบสเซนต์ ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะพยายามถอดบริษัทจีนออกจากตลาดหลักทรัพย์อเมริกา ระหว่างให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์เมื่อไม่นานที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายขั้นสุดท้ายของรัฐบาลสหรัฐฯ ในนโยบายเกี่ยวกับจีน ก็ยังคงไม่ชัดเจน เนื่องจากขณะเดียวกันนั้น เบสเซนต์ บอกว่ายังคงมีที่ว่างสำหรับการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และการเจรจาดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับ ทรัมป์ และประธานธิบดีสี จิ้นผิง

กระนั้น แคโรไลน์ ลีวิตต์ เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนของทำเนียบขาว อ่านถ้อยแถลงใหม่ฉบับหนึ่งของทรัมป์ ระหว่างแถลงข่าวในวันอังคาร(15เม.น.) บ่งชี้ว่ายังไม่ใกล้เคียงมีข้อตกลงกับจีน "เวลานี้มันขึ้นอยู่กับฝ่ายจีน จีนต้องการทำข้อตกลงกับเรา เราไม่ต้องการทำข้อตกลงกับพวกเขา จีนต้องการสิ่งที่เรามี นั่นคือผู้บริโภคอเมริกา"

นอกจากนี้แล้วมันไม่เป็นที่ชัดเจนเช่นกันว่าแนวทางต่อต้านจีนนี้จะถูกนำเข้าสู่การเจรจากับทุกชาติ โดยบางประเทศบอกว่าไม่ได้ยินข้อเรียกร้องเกี่ยวกับจีนมาจากคณะผู้แทนเจรจาของสหรัฐฯ แต่พวกเขายอมรับว่าการเจรจายังคงอยู่ในขั้นต้นๆ และคาดหมายว่าบางทีรัฐบาลทรัมป์ อาจหยิบยกข้อเรียกร้องเกี่ยวกับจีน ขึ้นมาเป็นข้อแม้ไม่ช้าก็เร็ว

ในส่วนของจีน กำลังดำเนินการทางการทูตด้านการค้าขอบตนเองเช่นกัน โดยในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีสี ได้เดินทางเยือนเวียดนาม คู่หูการค้าหลักของสหรัฐฯ ที่ได้ถูกทรัมป์รีดภาษีอย่างหนักหน่วง และได้มีการลงนามในคำมั่นสัญญาทางเศรษฐกิจหลายสิบฉบับกับรัฐบาลฮานอย

(ที่มา:วอลล์สตรีท เจอร์นัล/รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น