xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องบินขับไล่ก้าวหน้าล้ำยุครุ่น‘เจเนอเรชั่นที่ 6’กำลังเริ่มเผยโฉม มันมีคุณสมบัติใหม่ๆ อะไรบ้างที่จะทำให้สงครามทางอากาศต้องเปลี่ยนแปลงไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด บาคชี


ภาพเครื่องบินขับไล่รุ่นเจเนอเรชั่นที่ 6 ในจินตนาการของโบอิ้ง ซึ่งทางบริษัทโบอิ้งเสนอออกมา และสื่อนำมาเผยแพร่ไว้ในช่วงกลางปี 2024
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

New wave of fighter jets transforming aerial combat
by David Bacci
01/04/2025

เครื่องบินขับไล่ในเจเนอเรชั่น รุ่นที่ 6 ซึ่งกำลังทยอยเผยโฉมออกมาเรื่อยๆ ล้วนแล้วแต่มีจุดมุ่งหมายที่จะรวบรวมเอาความก้าวหน้าล้ำยุคอย่างสำคัญในด้านต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งการออกแบบเครื่องบิน, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนเครื่องบิน, และระบบอาวุธ

เครื่องบินขับไล่รุ่นก้าวหน้าล้ำยุคที่สุดในโลกในปัจจุบัน เป็นที่รู้จักเรียกขานกันว่า “รุ่นที่ 5” หรือ “เจเนอเรชั่นที่ 5” (fifth generation) เครื่องบินเหล่านี้บรรจุไว้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาในช่วงแรกๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 21 ตัวอย่างของเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 มีดังเช่น เอฟ-35 ไลต์นิ่ง 2 (F-35 Lightning II) [1] และ เอฟ-22 แรปเตอร์ (F-22 Raptor) [2] ของอเมริกา, เฉิงตู เจ-20 (Chengdu J-20) ของจีน, และ ซูคอย ซู-57 (Sukhoi SU-57) ของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม เวลานี้ชาติต่างๆ กำลังมีการเคลื่อนไหวเดินหน้าไปสู่เครื่องบินรบเจเนอเรชั่นที่ 6 กันแล้ว ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จีนได้นำเอาเครื่องบินต้นแบบของรุ่น เจ-36 และรุ่น เจ-50 [3] ขึ้นทดลองบิน เวลาเดียวกัน สหรัฐฯก็ได้คัดเลือกให้บริษทโบอิ้ง [4] ได้สัญญาสร้างเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ที่เรียกขานกันว่า รุ่น เอฟ-47

ภาพที่เข้าใจกันว่าเป็นภาพเครื่องบินขับไล่เทคโนโลยีหลีกเร้นเรดาร์รุ่นใหม่ของจีน ซึ่งน่าจะใช้ชื่อรุ่นว่า เสิ่นหยาง เจ-50  ภาพของเครื่องบินรุ่นนี้ถูกนำออกมาเผยแพร่ครั้งแรกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2024 และถูกมองว่าคือรุ่นเจเนอเรชั่นที่ 6 ของจีน

พวกนักวิเคราะห์ด้านการทหารคาดกันว่า นี่คือ เครื่องบินที่ใช้ชื่อรุ่นว่า เฉิงตู เจ-36 ของจีน โดยเป็นเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 6 อีกแบบหนึ่งของแดนมังกร ทั้งนี้เครื่องบินแบบนี้ถูกพบและถ่ายภาพไว้ขณะทำการทดสอบเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2024

ภาพวาดในจินตนาการที่กองทัพอากาศสหรัฐฯนำออกเผยแพร่ โดยระบุว่าเป็นเครื่องบินในโปรแกรม Next Generation Air Dominance (NGAD) และใช้ชื่อรุ่นว่า F-47  ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2025 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า กองทัพอากาศได้เลือกให้บริษัทโบอิ้ง เป็นผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 6 แบบแรกของสหรัฐฯนี้ โดยคาดหมายว่าจะนำออกมาประจำการได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้
แบบเดียวกับในเจเนอเรชั่นก่อนๆ รุ่น 6 นี้จะเป็นการรวบรวมเอาความก้าวหน้าล้ำยุคสำคัญๆ ในด้านต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งการออกแบบเครื่องบิน, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนเครื่องบิน, และระบบอาวุธ

แต่ว่าเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นใหม่นี้จะมีความแตกต่างอย่างโดดเด่นออกมาจากรุ่นก่อนอย่างไรบ้างล่ะ? ไอพ่นที่กระทำภารกิจสู้รบเป็นหลักเหล่านี้ในรุ่นอนาคต จะไม่ได้มีอัตราความเร็วสูงสุด หรือความสามารถในการบินเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจอะไร ตรงกันข้าม นวัตกรรมที่แท้จริงจะอยู่ในเรื่องที่ว่าระบบใหม่ๆ เหล่านี้จะมีการทำงานกันเลิศล้ำอย่างไรได้บ้าง และจะสามารถบรรลุฐานะครองน่านฟ้าในการสู้รบทางอากาศได้อย่างไรมากกว่า

ทำนองเดียวกับเจเนอเรชั่นที่ 5 ในรุ่น 6 นี้เทคโนโลยีที่จะโดดเด่นจนมีฐานะเหนือกว่าอย่างอื่นๆ อย่างชัดเจน ยังคงเป็น เทคโนโลยีด้านการหลีกเร้นจากการตรวจจับของข้าศึก (stealth technology) [5] โดยที่หากพูดกันเป็นรูปธรรมแล้ว มันคือสิ่งที่ช่วยให้เครื่องบินขับไล่สามารถลดโอกาสในการถูกตรวจจับโดยตัวเซนเซอร์อินฟราเรด และเซนเซอร์เรดาร์ จนกระทั่งถึงจุดที่ว่าตอนที่สัญลักษณ์ประจำตัวของพวกมันถูกตรวจพบอย่างชัดเจนในท้ายที่สุด ฝ่ายข้าศึกก็ไม่มีเวลาพอที่จะทำอะไรได้เสียแล้ว

คุณสมบัติของการหลีกเร้น เป็นสิ่งที่บรรลุได้ด้วยการทำลำตัวอากาศยาน (airframe) ให้อยู่ในรูปทรงเฉพาะบางอย่าง (ตัวอย่างเช่นทำเป็นทรงเพชร diamond shapes) และการเคลือบผิวนอกของเครื่องบิน –ด้วยสิ่งที่เรียกกันว่าวัสดุดูดซับเรดาร์ (radar absorbing materials) ทั้งนี้ คำว่าลำตัวอากาศยาน หมายถึงกรอบโครงสร้างพื้นฐานของเครื่องบิน ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนลำตัว, ปีก, ส่วนหาง, และชุดฐานล้อของเครื่องบิน

รูปทรงที่เหมือนกับเหลี่ยมเพชร ซึ่งได้กลายเป็นลักษณะของไอพ่นรุ่นเจเนอเรชั่นที่ 5 ไปเรียบร้อยแล้วนั้น น่าที่จะยังคงอยู่ในเครื่องบินขับไล่รุ่นที่กำลังจะทยอยกันปรากฏโฉมออกมา ทว่ามันจะมีการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปบางอย่างบางประการ

ลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่งที่เราน่าจะได้เห็นกันก็คือ การลด หรือกระทั่งการถอดทิ้ง แพนหางดิ่ง (vertical tails) [6] ซึ่งอยู่ที่ด้านหลังของเครื่องบิน ตลอดจนพื้นที่ควบคุมของอุปกรณ์ตัวนี้ ในอากาศยานที่มีอยู่ปัจจุบันนั้น แพนหางดิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่สร้างเสถียรภาพและการควบคุมทิศทางในการบิน เปิดทางให้เครื่องบินสามารถรักษาเส้นทางและการดำเนินกลยุทธ์ (maneuver)

เอฟ-35 ไลต์นิ่ง 2 ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ถือเป็นเครื่องบินขับไล่รุ่นเจเนอเรชั่นที่ 5 ซึ่งจะมองเห็นแพนหางดิ่ง (Vertical tail) อยู่ที่ด้านหลังของเครื่องได้อย่างชัดเจน (ภาพจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ)
อย่างไรก็ตาม ไอพ่นรุ่นที่ 6 สามารถบรรลุการควบคุมดังกล่าวนี้ได้ด้วยความช่วยเหลือของ ระบบทรัสต์ เวคเตอริ่ง (thrust vectoring) –นั่นคือความสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากการควบคุมเครื่องยนต์ และด้วยเหตุนี้ จึงหมายถึงความสามารถในการควบคุมแรงขับดัน (thrust หมายถึงพลังที่ขับเคลื่อนอากาศยานไอพ่นให้พุ่งตัวไปในอากาศ)

บทบาทของแพนหางดิ่ง ยังสามารถแทนที่ได้เป็นบางส่วน ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า ฟลูอิดิค แอคชูเอเตอร์ (fluidic actuator) อุปกรณ์นี้ส่งกำลังไปยังปีกเครื่องบิน ด้วยการเป่าลมความเร็วสูงและแรงดันสูงไปยังส่วนต่างๆ ของปีก

การถอดแพนหางดิ่งทิ้งไปเลยนั้น สามารถช่วยเพิ่มคุณสมบัติการหลีกเร้นของเครื่องบินขับไล่ นอกจากนั้นเรายังน่าจะได้เห็นไอพ่นสู้รบรุ่นเจเนอเรชั่นใหม่เหล่านี้ใช้วัสดุดูดซับเรดาร์อย่างใหม่ๆ ที่มีสมรรถนะก้าวหน้าล้ำยุคยิ่งขึ้นไปอีก

เราจะได้เห็นนำการนำสิ่งที่รู้จักกันในชื่อว่า เครื่องยนต์ อะแดปทีฟ ไซเคิล เอนจิน (adaptive cycle engines) [7] มาใช้กับเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 6 เครื่องยนต์พวกนี้จะมีคุณสมบัติที่เรียกกันว่า ทรี-สตรีม ดีไซน์ (three-stream design) ซึ่งหมายถึงการที่กระแสลมไหลผ่านเครื่องยนต์ได้ 3 ทาง ไอพ่นในปัจจุบันมีทิศทางที่กระแสลมไหลผ่านเครื่องยนต์อยู่เพียง 2 ทาง โดยทางหนึ่งได้แก่ไหลผ่านแกนกลางของเครื่องยนต์ และอีกทางหนึ่งคือไหลข้ามแกนกลางเครื่องยนต์

การพัฒนาช่องทางสำหรับให้กระแสลมไหลผ่านเครื่องยนต์เป็นทางที่ 3 ขึ้นมา ทำให้มีช่องทางกระแสลมผ่านพิเศษ 1 ช่องทาง ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงของเครื่องยนต์และในการทำงานของเครื่องยนต์ นี่จะเปิดทางให้สามารถใช้สมรรถนะในการเคลื่อนตัวไปตามปกติได้อย่างทรงประสิทธิภาพขณะใช้อัตราความเร็วเหนือเสียง (supersonic speed) และทั้งให้สามารถใช้แรงขับดันสูงในระหว่างเวลาทำการสู้รบ

มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ จีน และสหรัฐฯจะสร้างเครื่องบินขับไล่รุ่นเจเนอเรชั่นที่ 6 เป็น 2 แบบแตกต่างกันออกไป โดยแต่ละแบบต่างมีโครงสร้างลำตัวที่ไม่เหมือนกัน แบบหนึ่งนั้นจะมีโครงสร้างลำตัวขนาดใหญ่กว่า ออกแบบมาเพื่อใช้ในพื้นที่อย่างเช่นภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิก ในพื้นที่เช่นนี้ ความสามารถในการบินได้ไกลขึ้นและสามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้นจะกลายเป็นกุญแจสำคัญ สืบเนื่องจากต้องนำปัจจัยเรื่องลักษณะภูมิประเทศซึ่งอยู่ห่างไกลเข้ามาพิจารณา ด้วยเหตุนี้โครงสร้างลำตัวอากาศยานที่ออกแบบให้ใช้งานในภูมิภาคนี้จะต้องมีขนาดใหญ่กว่า

สำหรับเครื่องบินขับไล่อีกแบบหนึ่งซึ่งจะมีโครงสร้างลำตัวขนาดเล็กกว่านั้น จะถูกออกแบบมาสำหรับใช้ในพื้นที่อย่างเช่นยุโรป ซึ่งคุณสมบัติเรื่องความคล่องตัวและความสามารถในการดำเนินกลยุทธ์ จะกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่า

ไอพ่นสู้รบรุ่นต่อไป ยังจะต้องมีระบบหนึ่งในห้องนักบิน ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารจำนวนมากทั้งที่มาจากเครื่องบินลำอื่นๆ, สถานีตรวจการณ์ภาคพื้นดิน, และดาวเทียม จากนั้นระบบที่ว่านี้จะทำหน้าที่บูรณาการข้อมูลเหล่านี้แก่นักบิน เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์อย่างมีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น ระบบนี้ยังสามารถจะทำหน้าที่รบกวนตัวเซนเซอร์ของฝ่ายข้าศึกอย่างเอาการเอางานได้อีกด้วย

คุณสมบัติสำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การมีอากาศยานสู้รบไร้คนบังคับควบคุม (unmanned combat aerial vehicles หรือ Ucavs) [8] ซึ่งก็คือโดรนทางอากาศประเภทหนึ่ง ติดตั้งประจำอยู่ในเครื่องบิน เครื่องบินขับไล่หลักที่มีนักบินประจำอยู่ จะสามารถบังคับควบคุมพวกโดรน Ucavs เหล่านี้ที่ปล่อยออกไป เพื่อให้ทำหน้าที่ต่างๆ กันหลายหลาก ตั้งแต่การเป็นนักบินประจำเครื่องลูกฝูงผู้ซื่อสัตย์ภักดี ไปจนถึงการเป็นเครื่องบินขับไล่ไร้นักบินซึ่งมีราคาถูกลงมาที่คอยช่วยเหลือการปฏิบัติภารกิจนั้นๆ รวมไปถึงการคอยคุ้มครองป้องกันเครื่อบินขับไล่ลำหลักที่มีนักบินประจำอยู่

สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดจะเป็นความรับผิดชอบของอะไรบางอย่างที่ถูกเรียกชื่อว่า ระบบห้องนักบินดิจิตอลระดับก้าวหน้าล้ำยุค (advanced digital cockpit) โดยเป็นระบบซึ่งขับดันด้วยซอฟต์แวร์ และมีระบบเสมือนจริง (virtual reality) อยู่ด้วย มันจะเปิดทางให้นักบินสามารถกลายเป็นผู้บริหารจัดการสมรภูมิคนหนึ่งได้อย่างทรงประสิทธิภาพ

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence หรือ AI) จะเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดประการหนึ่งของพวกระบบที่คอยสนับสนุนโดรน นี่จะเป็นการเปิดทางให้ระบบเหล่านี้ถูกควบคุมในแบบซึ่งมีอิสระอย่างสมบูรณ์เต็มที่ นักบินจะเป็นผู้มอบหมายภารกิจหลัก – เป็นต้นว่า “โจมตีเครื่องบินขับศึกลำนั้นในเวคเตอร์นั้น” –แล้วระบบก็จะกระทำภารกิจดังกล่าวโดยไม่ต้องใส่อินพุตใดๆ เพิ่มเติมเข้าไปอีก

ความก้าวหน้าล้ำยุคอีกด้านหนึ่ง จะเป็นเรื่องของพวกระบบอาวุธ โดยที่จะมีการปรับปรุงดัดแปลงขีปนาวุธให้ไม่เพียงแค่สามารถเดินทางไปด้วยอัตราความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic เร็วกว่าความเร็วของเสียง 5 เท่าตัวขึ้นไป) เท่านั้น แต่ยังมีคุณสมบัติของการหลีกเร้นการตรวจจับของเรดาร์อีกด้วย

เรื่องนี้จะยิ่งลดระยะเวลาสำหรับที่กองกำลังข้าศึกจะสามารถมีปฏิกิริยาตอบโต้ ในอีกด้านหนึ่งพวกระบบอาวุธที่ใช้พลังงานตรง (directed energy weapons systems) อย่างเช่น อาวุธเลเซอร์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรากฏตัวขึ้นในการพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 6 ในช่วงหลังๆ เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย

ในโครงการเครื่องบินขับไล่รุ่นเจเนอเรชั่นที่ 6 ของอเมริกานั้น ทางกองทัพเรือสหรัฐฯยังกำลังทำงานอยู่กับโครงการเครื่องบินอีกแบบหนึ่งที่แยกต่างหากออกไป ซึ่งใช้ชื่อเรียกกันว่า แบบ F/A-XX [9] เป็นการเพิ่มเติมจาก เอฟ-47

โมเดลคอนเซ็ปต์เครื่องบินขับไล่ในโปรแกรมการสู้รบทางอากาศระดับโลก (global combat air program หรือ GCAP) ซึ่งเป็นโครงการร่วมของสหราชอาณาจักร, อิตาลี, และญี่ปุ่น  ภาพนี้ซึ่งเผยแพร่อยู่ในวิกิพีเดีย ถ่ายจากบูธของ GCAP ในนิทรรศการที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2024

โมเดลขนาดเท่าของจริงของเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นหน้า ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการสู้รบทางอากาศอนาคต (future combat air system หรือ FCAS) พร้อมด้วยโดรนที่จะประจำอยู่ภายในเครื่องบิน ตั้งแสดงอยู่ในงานปารีส แอร์ โชว์ เมื่อปี 2019 ทั้งนี้ FCAS เป็นโครงการร่วมของ เยอรมนี, สเปน, และฝรั่งเศส (ภาพจากวิกิพีเดีย)

ภาพในจินตนาการที่ได้มาจาก Creative Commons  แสดงให้เห็นเครื่องบินขับไล่สเตลธ์ ในโปรแกรม PAK DP (คำย่อภาษารัสเซียของชื่อเต็มๆ ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Prospective air complex for long-range interception ของรัสเซีย เครื่องบินรุ่นนี้มักถูกอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งว่า มีชื่อรุ่นว่า มิโคยัน มิก-41 และมีนักวิเคราะห์ด้านกลาโหมชาวแดนหมีขาวได้ออกมาระบุว่า มิก-41 นี้จะถูกถือว่าเป็นโครงการเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นที่ 6
ขณะที่ สหราชอาณาจักร, อิตาลี, และญี่ปุ่น ก็กำลังทำงานอยู่กับโครงการเครื่องบินขับไล่อีกโครงการหนึ่งซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า โปรแกรมการสู้รบทางอากาศระดับโลก (global combat air program หรือ GCAP) [10] เครื่องบินแบบนี้จะมาแทนที่ ยูโรไฟเตอร์ ไทฟุน (Eurofighter Typhoon) ในเวลาเข้าประจำการกัองทัพสหราชอาณาจักรและอิตาลี และใช้ชื่อว่า มิตซูบิชิ เอฟ-2 (Mitsubishi F-2) เมื่อเข้าประจำการกองกำลังฝ่ายญี่ปุ่น

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเยอรมนี, สเปน, และฝรั่งเศส ซึ่งกำลังทำงานร่วมกันอยู่ในโปรแกรมเครื่องบินขับไล่ที่เรียกชื่อกันว่า ระบบการสู้รบทางอากาศอนาคต (future combat air system หรือ FCAS) [11] เครื่องบินใหม่นี้น่าจะเข้ามาแทนที่ เครื่องบินขับไล่ ไทฟุน (Typhoon) ซึ่งเวลานี้ประจำการอยู่ในกองทัพเยอรมนีและกองทัพสเปน และเครื่องบินขับไล่ ราฟาล (Rafale) ของกองทัพฝรั่งเศส

เส้นทางสำหรับเครื่องบินขับไล่รุ่นเจเนอเรชั่นที่ 6 ดูเหมือนกับได้รับการแผ้วถางกรุยแนวทางเอาไว้เรียบร้อยแล้ว กระนั้นก็ยังคงมีความไม่แน่ไม่นอนอยู่หลายๆ ประการ เป็นต้นว่า คุณสมบัติที่ระบุเอาไว้ข้างต้นนี้ บางสิ่งบางอย่างยังไม่ได้ผ่านการศึกษาว่าคุ้มค่าแก่การลงทุนหรือไม่ รวมทั้งระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการวิจัยพัฒนายังคงไม่มีความชัดเจน

ในคราวเครื่องบินขับไล่รุ่นที่ 5 นั้น ช่วงระยะเวลาในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาเช่นนี้ครอบคลุมเวลามากกว่า 10 ปี แล้วรุ่นที่ 6 นี่ก็กำลังทำท่าจะมีความสลับซับซ้อนมากกว่าด้วยซ้ำทั้งในเรื่องของข้อกำหนดต่างๆ และในเรื่องของสมรรถนะ

เครื่องบินขับไล่เจเนอเรชั่นใหม่นั้น เป็นที่คาดหมายกันว่าควรจะสามารถออกปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มตัว เป็นเวลายาวนานสัก 30 ปี ทว่าสงครามที่เกิดขึ้นในทั่วโลกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีการวิวัฒนาการที่รวดเร็วยิ่ง มันไม่มีความชัดเจนเลยว่าข้อกำหนดเรียกร้องด้านการออกแบบต่างๆ ที่เรากำลังพยายามแก้ไขให้ตกไปในทุกวันนี้นั้น มันจะยังคงเหมาะสมใช้การได้อยู่หรือไม่ ในช่วงหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป

เดวิด บาคชี เป็นนักวิจัยอาวุโส อยู่ที่ห้องปฏิบัติการเทอร์โมฟลูอิดส์ ออกซ์ฟอร์ด (Oxford Thermofluids Laboratory) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร

เดวิด บาคชี มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับ แครนฟิลด์ การป้องกันและความมั่นคง (Cranfield Defence & Security) แห่งมหาวิทยาลัยแครนฟิลด์ (Cranfield University) ในฐานะเป็นนักวิจัยอาคันตุกะ (Visiting Research Fellow)

ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/how-a-new-wave-of-fighter-jets-could-transform-aerial-combat-252949

เชิงอรรถ
[1] https://www.lockheedmartin.com/en-us/products/f-35.html
[2] https://www.lockheedmartin.com/en-us/products/f-22.html
[3] https://www.flightglobal.com/fixed-wing/chinas-new-sixth-generation-aircraft-likely-for-air-superiority-role-usaf/162057.article
[4] https://www.theguardian.com/us-news/2025/mar/21/trump-boeing-fighter-jet-contract
[5]https://www.sciencedirect.com/topics/engineering/stealth-aircraft
[6] https://en.wikipedia.org/wiki/Vertical_stabilizer
[7] https://en.wikipedia.org/wiki/Variable_cycle_engine
[8]https://en.wikipedia.org/wiki/Unmanned_combat_aerial_vehicle
[9] https://www.reuters.com/business/aerospace-defense/boeing-northrop-grumman-await-us-navy-next-generation-fighter-contract-this-week-2025-03-25/
[10] https://commonslibrary.parliament.uk/research-briefings/cbp-10143/
[11] https://www.airbus.com/en/products-services/defence/future-combat-air-system-fcas
กำลังโหลดความคิดเห็น