xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ถอยกรูดนโยบายภาษีศุลกากร เพราะ‘ตลาดพันธบัตร’ทำท่าปั่นป่วน แล้วยังผวาต่อไปด้วยว่า พวกชาติเอเชียที่เป็นเจ้าหนี้ใหญ่จะเทขายบอนด์อเมริกันหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วิลเลียม เพเซค


ธนาคารกลางในเอเชียอาจเริ่มต้นเทขายตราสารหนี้สหรัฐฯ ถ้าหากนโยบายขึ้นภาษีศุลกากรของ โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกนำมาบังคับใช้กันจริงๆ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The real bond vigilantes hounding Trump are Asian
by William Pesek
11/04/2025

พวกธนาคารกลางในเอเชียเป็นผู้ถือครองและก็เป็นผู้ที่สามารถเทขาย พันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ จึงกลายเป็นแต้มต่อรองซึ่งในที่สุดแล้วอาจสามารถทำให้บุรุษผู้หลงใหลมนตร์ขลังของภาษีศุลกากรอย่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องจำยอมกลับเข้าไปอยู่ในแถว

โตเกียว - ค่าดอลลาร์สหรัฐฯยังคงขยายการหล่นฮวบครั้งใหญ่ที่สุดของเงินตราสกุลนี้ในรอบระยะเวลา 3 ปีต่อไปอีกเมื่อวันศุกร์ (11 เมษายน) หลังจากจีนประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้าเข้าอเมริกันเป็น 125% จากเดิมที่จะจัดเก็บในอัตรา 84% ในก้าวเดินอีกก้าวหนึ่งของการต่อสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ซึ่งกำลังทำให้ราคาทองพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะตลาดหลักทรัพย์ทุกหนทุกแห่งพากันดำดิ่งเหว และพวกนักลงทุนไม่แน่ใจยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาเกี่ยวกับทิศทางอนาคตทางเศรษฐกิจและการเงินของทั่วโลก

มาถึงตอนนี้ต้องเป็นคิวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯแล้ว ที่จะต้องเคลื่อนไหวแสดงท่าที ทำเนียบขาวยุคทรัมป์ 2.0 จะแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจและขยับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรของตนซึ่งเรียกเก็บจากประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียรายนี้ ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ที่ระดับ 145% อยู่แล้วต่อไปอีกหรือไม่? ทั้งนี้ ทรัมป์ได้เคยข่มขู่เอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ว่าจะรีดภาษีอัตรา 200% กับผลิตภัณฑ์จีนบางอย่างบางชนิด

บางทีสิ่งซึ่งน่าสนใจที่สุดเกี่ยวกับสัปดาห์ที่ผ่านมาย่อมได้แก่ เรื่องที่พวกนักลงทุนทั่วโลกได้เรียนรู้เกี่ยวกับขอบเขตขั้นต่ำสุดของสิ่งซึ่งสามารถสร้างความเจ็บปวดจนเริ่มทนไม่ไหวให้แก่ ทรัมป์ 2.0 ทั้งนี้ประดานักลงทุนผู้นิยมเสี่ยงโชคได้เรียนรู้กันแล้ว –ด้วยความรู้สึกสยองขวัญ— ว่า ทรัมป์นั้นมีความยินดีที่จะกลืนกินยอมรับความสูญเสียแบบรูดมหาราชชนิดเป็นตำนานของตลาดหลักทรัพย์ ทว่าแบกรับไม่ไหวกับพวกสัญญาณซึ่งส่อแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในตลาดพันธบัตร

คนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคตจะต้องพากันพูดว่า มันไม่ใช่รัฐสภาสหรัฐฯ, ฝ่ายตุลาการ, หรือพวกผู้ออกเสียงหรอก ที่บังคับให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้ต้องยอมโอนอ่อนเข้าสู่นโยบายภาษีศุลกากรซึ่งสมเหตุสมผลมากขึ้น แต่เป็นพวกเทรดเดอร์ซื้อขายพันธบัตรต่างหากล่ะ

ระหว่างชั่วโมงการซื้อขายเมื่อวันพุธที่ 9 เมษายน ของทางฝั่งเอเชีย พวกนักลงทุนที่ถูกขนานนามว่าเป็น “บอนด์ วิจิแลนเต” (bond vigilantes น่าจะเรียกว่า พวกผู้ตั้งตัวเองเป็นผู้รักษาความยุติธรรมในตลาดพันธบัตร -ผู้แปล) ได้ผลักดันให้อัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ของพันธบัตรชนิดอายุไถ่ถอน 30 ปีของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (30-year US Treasury bonds) [1] ขึ้นไปอยู่สูงกว่าระดับ 5% ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก [2] เรื่องนี้ –และความทรงจำเก่าๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ความวุ่นวายผันผวนในตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ทั้งจากช่วงกลางทศวรรษ 1990, กลางทศวรรษ 2000, และการล้มครืนของธนาคาร ซิลิคอน แวลลีย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) ในปี 2023 - ก็ทำให้เราได้เห็น ทรัมป์ สั่งถอยหลังกรูดจากการรีดภาษีศุลกากรส่วนใหญ่ อย่างรีบเร่งและอย่างที่พบเห็นได้ยาก
(วิจิแลนเต vigilantes หมายถึง กลุ่มอาสาสมัครที่รวมตัวจัดตั้งกันขึ้นมาเพื่อปราบปรามและลงโทษการก่ออาชญากรรมด้วยวิธีการรวบรัด อย่างเช่นในเวลาที่กระบวนการทางกฎหมายถูกมองว่าเชื่องช้าไม่มีความเหมาะสม, พวกที่ตั้งตนเป็น ศาลเตี้ย, ความหมายอย่างกว้าง หมายถึง พวกที่ตั้งตัวเองเป็นผู้สร้างความยุติธรรม ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.merriam-webster.com/dictionary/vigilante และ https://dict.longdo.com/search/vigilante -- ผู้แปล)

อย่างไรก็ตาม มันเป็นเพราะความกังวลเกี่ยวกับพวกผู้ตั้งตนเองเป็นผู้ผดุงความยุติธรรม ที่จะปรากฏตัวออกมาประจันหน้ากับทำเนียบขาวของทรัมป์ในรอบต่อไปต่างหาก ซึ่งทำให้เขาต้องยอมล่าถอย คนเหล่านี้ย่อมได้แก่ พวกนายธนาคารกลางของชาติแถบเอเชีย

บรรดาธนาคารกลางในภูมิภาคแถบนี้ถือครองพันธบัตรและตั๋วเงินคลังเอาไว้คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ก็อยู่ในราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่ญี่ปุ่นกับจีนคือผู้ถือครองสูงสุดเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ซึ่งรวมกันแล้วก็อยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ถ้าหากพวกเขาเกิดเริ่มนำออกมาขายกันในขนาดเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ใครกันล่ะที่จะสามารถเข้ามาทดแทนได้? ยกเว้นแต่พวกแบงก์ระดับโลกรายใหญ่ที่สุดจะทุ่มเทเงินทองเข้ามารับซื้อไปอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น ก็น่าจะพูดได้ว่าไม่มีใครอื่นจะทำได้อีกแล้ว

นี่คือเหตุผลที่ทำไมการพูดคุยกันในแวดวงการซื้อขายพันธบัตรช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ว่าญี่ปุ่น, จีน และพวกหน่วยงานรับผิดชอบทางนโยบายการเงินของเอเชียแห่งเอื่นๆ อาจจะเป็นผู้ที่กำลังเทขายพันธบัตรอเมริกัน จึงสามารถสร้างความระแวดระวังภัยอันตรายให้แก่พวกเจ้าหน้าที่ระดับท้อปของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ บรรดาเทรดเดอร์ทั้งหลายอยู่ในอาการหวาดกลัวกันมานานแล้วว่าจีนอาจจะเทขายพันธบัตรและตั๋วเงินคลังสหรัฐฯที่พวกเขาถือครองอยู่เป็นจำนวนมหาศาล เพื่อเป็นการแก้แค้นเอาคืนต่อการที่สหรัฐฯใช้มาตรการแซงก์ชั่นและจำกัดแดนมังกรในด้านต่างๆ บางที วันเวลาดังกล่าวอาจจะมาถึงแล้วในตอนนี้

ไม่ว่ายังไงก็ตาม ต้องยอมรับว่าจีนนั้นมีแรงจูงใจที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า “พวกเขาจะไม่ลังเลเลยในการก่อให้เกิดความปั่นป่วนผันผวนขึ้นในตลาดการเงินโลก เพื่อเป็นการยกระดับเพิ่มพูนอำนาจการเจรจาต่อรองของพวกเขาให้อยู่เหนือสหรัฐฯ” นี่เป็นความเห็นของ อะตารุ โอกุมุระ (Ataru Okumura) นักยุทธศาสตร์แห่งบริษัทหลักทรัพย์ เอสเอ็มบีซี นิกโก ซีเคียวริตีส์ (SMBC Nikko Securities)

มีรายงานข่าวว่า นักการเงินซึ่งชื่อของเขาเป็นที่รู้จักมักคุ้นของแทบทุกครัวเรือนในสหรัฐฯ อย่าง เจมี ไดมอน (Jamie Dimon) [3] แห่ง เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค (JPMorgan Chase & Co) ก็ได้ส่งเสียงเตือนถึงภัยอันเลวร้ายมาก จนเจาะทะลุผ่านฟองน้ำลายคุยโตของพวกที่ฝักใฝ่นิยมทรัมป์

ระยะเวลานานปีที่ สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯคนปัจจุบันทำงานคลุกคลีอยู่ในแวดวงกองทุนเฮดจ์ฟันด์ นับว่าสามารถนำมาใช้งานได้ดีทีเดียวในเวลานี้ สำหรับเสียงคำรามคุกคามสาธารณชนทั้งหลายทั้งปวงของทรัมป์แล้ว สิ่งที่พึงสำเนียกตระหนักกันให้จงหนักก็คือว่า ถ้าหากเกิดกรณีการพังครืนขึ้นมาทำนองเดียวกับ กองทุนเฮดจ์ฟันด์ ลองเทอมแคปิตอลแมเนจเมนต์ (Long-Term Capital Management หรือ LTCM) ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว มันก็อาจหมายถึงความวิบัติหายนะทั้งสำหรับตลาดการเงินทั่วโลกและทั้งสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ

การที่ LTCM ล้มลงไม่เป็นท่าเมื่อปี 1998 ส่วนหนึ่งก็สืบเนื่องมาจากการพุ่งสูงของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้กระทรวงการคลังสหรัฐนนี้แหละ และด้วยการที่ภาษีศุลกากรของทรัมป์กำลังพลิกคว่ำพลิกหงายบรรดาสินทรัพย์ทั้งหลายทั้งปวงทุกชั้นทุกประเภท ขณะที่จีนก็กำลังทำท่าอยากกกกอดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเอาไว้ไม่ยอมปล่อย เหล่านี้อาจทำให้กรณีการพังคืนของ บิ๊กธนาคารเพื่อการลงทุน เลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) ในปี 2008 ดูเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ไปเลยเมื่อนำเอามาเปรียบเทียบกัน

นโยบายต่างๆ ของทรัมป์ [4] กำลังมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นทุกทีในแต่ละวันที่ผ่านไป ว่าอาจจะเป็นตัวขับไล่ไสส่งพวกนายธนาคารกลางชาติเอเชีย และภัยคุกคามนี้เองก็กำลังกลายเป็นการเพิ่มแต้มต่อรองอย่างพิเศษให้แก่ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น, ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน, ตลอดจนพวกหน่วยงานรับผิดชอบด้านการเงินระดับท็อปแห่งอื่นๆ ในเอเชีย

แต้มต่อรองของเอเชียที่มีเหนือวอชิงตันในเวลานี้ ได้แก่ พวกพันธบัตรตราสารหนี้, สกุลเงินตรา, และการค้าในด้านภาคบริการต่างๆ อย่างหลังนี้หมายถึงสภาพที่การส่งออกพวกบริการทางการเงิน, เทคโนโลยี, และทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกา ต้องพึ่งพาอาศัยตลาดเอเชียอย่างมากมายมหาศาลเหลือเกิน

กลไกในการทำสงครามการค้าของทรัมป์คราวนี้ ซึ่งเน้นหนักมากมายไปที่ภาษีศุลกากร บ่งชี้ให้เห็นว่า พวกเขามีความเข้าใจอย่างไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับจุดอ่อนเปราะต่างๆ ของเศรษฐกิจสหรัฐฯในส่วนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเอเชีย

สำหรับพวกเทรดเดอร์พันธบัตรแล้ว สิ่งที่พวกเขาจะสามารถฉวยใช้เอาเป็นช่องทางหาผลประโยชน์ได้อย่างถนัดถนี่ของพวกเขาเอง เมื่อการดำเนินนโยบายโดยภาพรวมของรัฐบาลทำท่าจะไปไม่รอด ล้วนแล้วแต่อยู่ในแวดวงอาณาจักรของตราสารหนี้และอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินตรา

“พวกบอนด์ วิจิแลนเต ออกปฏิบัติการอย่างได้ผลอีกครั้งหนึ่งแล้ว” เอด ยาร์เดนี (Ed Yardeni) ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัย ยาร์เดนี รีเสิร์ช (Yardeni Research) และเป็นผู้ใช้คำว่า บอนด์ วิจิแลนเต เป็นคนแรก กล่าว พร้อมกับสำทับว่า “เราสามารถพูดได้ว่าจากการศึกษาของเราจวบจนถึงปัจจุบันนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ในกรณีของตลาดการเงินสหรัฐฯ [5] แล้ว พวกบอนด์ วิจิแลนตา เป็นพวกเดียวเท่านั้นที่ออกปฏิบัติการทีไรก็ได้ผลสมบูรณ์ทุกทีในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา”

แม้กระทั่งตอนที่ “พวก สต็อก วิจิแลนเต (stock vigilantes พวกวิจิแลนเตในตลาดหลักทรัพย์) กำลังส่งสัญญาณบอกกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างชัดเจนเมื่อช่วงปลายๆ อาทิตย์ที่แล้วว่า นโยบายภาษีศุลกากรของเขานั้นเดินอยู่ในเส้นทางที่ผิดพลาดแล้ว แต่ประดาที่ปรึกษาของเขาก็ยังคงป่าวร้องว่าราคาน้ำมันและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่กำลังตกฮวบลงมานั้น คือสิ่งที่กำลังช่วยทำให้แวดวงสามัญชนคนธรรมดาของอเมริกาดีขึ้นในท้ายที่สุด” ยาร์เดนี ชี้และกล่าวต่อไปว่า ครั้นแล้ว “สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีพุ่งขึ้นมา”

ยาร์เดนี เป็นผู้สังเกตการณ์ปรากฏการณ์แบบนี้ที่ชำนาญช่ำชองมากมาหลายสิบปีแล้ว ตั้งแต่ปี 1983 ยาร์เดนี บอกว่า “พวกนักลงทุนในพันธบัตร คือ บอนด์ วิจิแลนเต (พวกตั้งตนเป็นผู้ผดุงความยุติธรรมในตลาดพันธบัตร) ของเศรษฐกิจ ... ดังนั้น ถ้าหากพวกผู้รับผิดชอบนโยบายด้านการคลังและด้านการเงินไม่ยอมจัดระเบียบเศรษฐกิจแล้ว พวกนักลงทุนพันธบัตรก็จะเป็นคนลงมือทำเอง เศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนโดยพวกวิจิแลนเตในตลาดตราสารหนี้”

อีกราวสิบปีต่อมา เจมส์ คาร์วิลล์ (James Carville) ที่เวลานั้นเป็นนักยุทธศาสตร์คนหนึ่งให้แก่ประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ของสหรัฐฯ ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นที่มีชื่อเสียงกล่าวขวัญกันมากของเขาที่ว่า ทำไมเขาจึงปรารถนาเหลือเกินที่จะได้เกิดใหม่กลับมาเป็นตลาดพันธบัตร [6] เนื่องจาก “คุณสามารถขู่กรรโชกทำให้ทุกๆ คนหวาดผวา” เขาปล่อยมุก

สภาพการณ์เช่นนี้กลับปรากฏมาให้เห็นกันอีก ในระหว่างที่ (พวกนักการเมืองสหรัฐฯ) มีการเจรจาต่อรองกันเกี่ยวกับการผ่านงบประมาณแผ่นดินที่มีความสมดุล ในเวลาเช่นนั้น พวกนักลงทุนตราสารหนี้จะมีความอ่อนไหวอย่างว่องไวเป็นพิเศษทีเดียวต่อร่องรอยสิ่งบ่งชี้เกี่ยวกับทิศทางอันวกไปเวียนมาในการโต้เถียงต่อรองนโยบายทางการคลังในวอชิงตัน แม้กระทั่งร่องรอยอันที่เล็กจ้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือทางร้าย

(ภาพจากแฟ้ม) เจมี ไดมอน ซีอีโอ ของ เจพี มอร์แกน เชส กล่าวเตือนเอาไว้ในจดหมายเขียนถึงผู้ถือหุ้นประจำปี ที่นำออกเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (7 เม.ย.) ว่า สงครามการค้าสามารถก่อให้เกิดผลต่อเนื่องด้านลบที่ยืนยาว พร้อมกับกล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ “กำลังเผชิญกับความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างใหญ่โต”  เขาบอกว่า “ยิ่งประเด็นปัญหานี้สามารถคลี่คลายไปได้เร็วเท่าใด ก็เป็นเรื่องดีมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากผลกระทบทางลบบางประการจะมีการสะสมเพิ่มพูนขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป และจะเป็นเรื่องยากสำหรับการเปลี่ยนให้กลับดีใหม่” นอกจากนั้นเขาแจกแจงว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดจากสงครามภาษีศุลกากรและการค้าคราวนี้ มีอาทิเช่น อัตราเงินเฟ้อที่จะยากลำบากแก่การแก้ไข และการขาดดุลงบประมาณในระดับสูง  ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมองเห็นความเสี่ยงที่เกิดความเสียหายทั้งในเรื่องความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ, การลงทุน, การไหลเวียนของเงินทุน, ผลกำไรของภาคบริษัทธุรกิจ, และค่าเงินดอลลาร์ ไดมอนบอกว่า ตลาดการเงินเวลานี้ยังดูเหมือนกำลังตีราคาสินทรัพย์ต่างๆ ด้วยสมมุติฐานที่ว่าสหรัฐฯจะยังคงสามารถประคับประคองเศรษฐกิจให้ชะลอลงเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อสูงเกินไปได้ด้วยความนุ่มนวล พร้อมกับที่สามารถจะหลีกเลี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อีกด้วย  ทว่าเขาไม่ได้มีความแน่ใจถึงขนาดนั้น (ภาพนี้ ถ่ายขณะเขาไปพูดกับสโมสรเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์ก ในนครนิวยอร์ก, สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2024)
ทุกวันนี้ ขณะที่ยอดหนี้สินแห่งชาติของสหรัฐฯกำลังขยับเข้าสู่หลัก 37 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เอเชียย่อมมีเหตุผลซึ่งฟังขึ้นน่าเชื่อถือที่จะห่วงกังวลเกี่ยวกับสุขภาพทางด้านการคลังของวอชิงตัน โดยเฉพาะเมื่อมีกรณีอย่างเรื่องที่พรรครีพับลิกันของทรัมป์ กำลังพิจารณาที่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลมูลค่าระดับหลายล้านล้านดอลลาร์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งน่าจะเร่งให้หนี้สินระดับชาติพุ่งเข้าสู่หลัก 40 ล้านล้านดอลลาร์อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นอีก

เวลาเดียวกัน ความปั่นป่วนแตกแยกภายในรัฐสภาสหรัฐฯยังกำลังทำให้พวกสมาชิกในฝ่ายนิติบัญญัติเล่นการเมืองต่อรองกันทั้งเรื่องเพดานหนี้สิน [7] และการหาเงินมาเป็นงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ด้วยความโกลาหลยิ่งกว่าเมื่อปี 2011 เสียอีก โดยที่ในปีนั้นเอง เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้งส์ (S&P Global Ratings) กลายเป็นสำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิตระดับโลกเจ้าแรก ที่ถอดสหรัฐฯออกจากการได้เรตติ้งขั้นสูงสุด นั่นคือระดับ AAA

ก้าวเดินที่ทำให้ตลาดว้าวุ่นหนักคราวนั้น ปรากฏขึ้น 2 ปีหลังจาก เวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนในตอนนั้น ส่งเสียงแสดงความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของวอชิงตันในเรื่องการพิทักษ์ปกป้องทรัพย์สินความมั่งคั่งในภาครัฐของจีน [8] ซึ่งเวลานั้นจำนวนมากมายมหาศาลทีเดียวอยู่ในรูปสินทรัพย์สกุลดอลลาร์อเมริกัน เวินแสดงความวิตกมากเป็นพิเศษเกี่ยวกับขนาดของมาตรการที่ภาครัฐของอเมริกาเข้าไปอุ้มภาคการเงินการธนาคาร ท่ามกลางวิกฤตการณ์เลห์แมน บราเธอร์ส

“เราได้ให้เงินกู้จำนวนมหาศาลแก่สหรัฐฯ” เวิน กล่าวในปี 2009 “แน่นอนทีเดียว เรามีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสินทรัพย์ของเรา พูดกันตรงๆ เลยนะ ผมมีความรู้สึกวิตกอยู่นิดหน่อย” เขารบเร้าวอชิงตัน “ให้รักษาสัญญา ทำตามคำพูดของตัวเอง รักษาฐานะความเป็นชาติที่มีเครตดิตน่าเชื่อถือเอาไว้ และให้คำรับรองเรื่องความปลอดภัยของสินทรัพย์จีน”

ในเวลานั้น หนี้สินแห่งชาติของนสหรัฐฯอยู่ในระดับไม่ถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ ต่ำกว่าราวๆ สองเท่าตัวครึ่ง จากเมื่อตอนที่ ฟิตช์ เรตติ้งส์ (Fitch Ratings) กลายเป็นสำนักจัดอันดับเครดิตระดับโลกรายที่สอง ซึ่งลดเกรดเขี่ยสหรัฐฯออกจากอันดับสูงสุดเมื่อปี 2023 ทุกวันนี้ มีรายงานว่า มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s Investors Service) สำนักจัดอันดับเครดิตระดับโลกอีกรายเดียวที่เหลืออยู่ซึ่งยังไม่ได้ปรับลดอันดับของสหรัฐฯ ก็กำลังศึกษาทบทวนว่าจะยังคงให้วอชิงตันได้เรตติ้ง AAA ต่อไปหรือไม่ ในเมื่อหนี้สินแห่งชาติของสหรัฐฯอยู่ในระดับเป็น 3 เท่าตัวของที่เคยมีอยู่เมื่อปี 2009

มีความหวาดกลัวกันอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้วว่า รัฐบาลของ สี จิ้นผิง ผู้นำจีนอาจเทขายเงินดอลลาร์เพื่อตอบโต้เอาคืนสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อภาษีศุลกากรของทรัมป์เวลานี้ยืนอยู่ที่ 145% หลังจากถูกปรับให้สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

แน่นอนทีเดียว มันจะเป็นสงครามที่ผู้มีชัยเองก็จะต้องสูญเสียอย่างหนักหน่วงยิ่งเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ถ้าหากต้นทุน (อัตราดอกเบี้ย) การกู้ยืมในสหรัฐฯ (สืบเนื่องจากการเทขายดอลลาร์หรือเทขายพันธบัตรสหรัฐฯของจีน -ผู้แปล) พุ่งสูงขึ้นไป มันก็ย่อมกลายเป็นมุมเมอแรงย้อนกลับมากระทบใส่จีนเอง ด้วยการที่บรรดาครัวเรือนสหรัฐฯบริโภคน้อยลง (นั่นย่อมเท่ากับว่าซื้อสินค้าจีนลดน้อยลง) อย่างปุบปับ

เช่นเดียวกับที่มันจะไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับปักกิ่งหรอก ถ้าหากพวกนักลงทุนทั่วโลก [9] ตัดสินใจลงไปแล้วว่า การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯเป็นปัญหาที่จะต้องหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ ทว่าแน่นอน อีกทั้งไม่อาจแก้ไขอะไรได้

กระนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนก็อาจจะคำนวณเอาไว้แล้วว่า สหรัฐฯจะเป็นฝ่ายเสียหายหนักหน่วงกว่ามาก ถ้าหากเกิดเหตุการณ์วิกฤตการณ์ภาคการเงิน 2.0 ขึ้นมา การที่จีนถอดปลั๊กตัดไฟเสียตั้งแต่ตอนนี้ อาจส่งผลทำให้ตลาดการเงินสหรัฐฯอยู่ในอาการเสียสมดุลอย่างเด็ดขาดชัดเจน และยิ่งทำให้ผลกระทบต่อเนื่องยิ่งบานปลายร้ายแรงขึ้นไปอีก

เมื่อปี 1997 ริวตาโร ฮาชิโมโต นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในเวลานั้น ได้กล่าวยอมรับระหว่างไปพูดครั้งหนึ่งที่นิวยอร์กว่า “มีอยู่หลายหนเลยในอดีตที่ผ่านมา เรามีความโน้มเอียงที่อยากจะเทขายพันธบัตรสหรัฐฯล็อตใหญ่ๆ” เพื่อแสดงจุดยืน หนึ่งในฉากเหตุการณ์เช่นนี้ก็คือในระหว่างที่มีการเจรจาต่อรองเรื่องรถยนต์ที่ดุเดือดมากในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น

สำหรับในคราวนี้ เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายต่างๆ ที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายแบบทรัมป์ขึ้นมา กำลังถูกวางแบอยู่ต่อหน้าให้ทุกๆ คนเห็นถนัดชัดเจนกันอยู่แล้ว

“ทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นมา?” ยาร์เดนี ตั้งคำถาม “พวกนักลงทุนตราสารหนี้อาจจะกำลังเริ่มต้นวิตกว่า จีนตลอดจนต่างชาติอื่นๆ อาจจะเริ่มต้นเอาพันธบัตรคลังสหรัฐฯของพวกเขาออกมาขายกันแล้ว” เขากล่าวต่อไปว่า ตลาดพันธบัตรกำลังวิตกว่า “คณะบริหารทรัมป์อาจจะกำลังเล่นกับไนโตรเจนเหลว” (ไนโตรเจนเหลว ไม่มีพิษ แต่เนื่องจากอุณหภูมิที่เย็นจัด จึงสามารถทำอันตรายต่ออวัยวะร่างกายที่ไปสัมผัส –ผู้แปล)

ลองพิจารณาดูในแง่มุมที่ว่า ด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรแบบทรัมป์ ทำเนียบขาวอาจจะสร้างความเสียหายได้แคไหนแก่เครดิตความน่าเชื่อถือของเงินดอลลาร์ ตลอดจนฐานะที่ได้รับการยอมรับเสมือนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพันธบัตรคลังสหรัฐฯ ในการเป็นฟันเฟืองตัวหลักของการเงินโลก

นอกจากนั้นมันยังมีขอบเขตครอบคลุมไปถึงเรื่องการแข่งขันกันขึ้นภาษีศุลกากรที่ทำให้ภาวะเงินเฟ้อเบ่งบาน, การเข้าไปยุ่มย่ามกับความเป็นอิสระของธนาคารกลางสหรัฐฯ [10], ความเป็นกลางของสำนักงานสรรพากรสหรัฐฯ, และการหาทางตัดลดภาษีครั้งใหม่ลงมาเป็นระดับหลายล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งพวกที่อยู่ในโลกของทรัมป์ทึกทักเอาว่าเหล่านายแบงก์ทางเอเชียของวอชิงตันจะมีความยินดีจัดหาเงินกู้เข้ามาสนับสนุนอย่างกระตือรือร้น

การทึกทักข้อท้ายสุดนี้เป็นเรื่องที่พึงสงสัยให้จงหนักทีเดียว เมื่อพิจารณาจากรายงานต่างๆ ที่ว่าพวกธนาคารกลางแถบเอเชียต่างกำลังพากันจำกัดการถือครองสินทรัพย์สหรัฐฯกันแล้ว ยิ่งได้เห็นการขูดรีดมุ่งตักตวงผลประโยชน์ของทรัมป์ –ซึ่งสามารถทำอันตรายต่ออันดับความน่าเชื่อถือของอเมริกาได้อย่างง่ายดาย— โดยเป็นการเขม้นมองจากระยะทางที่ห่างออกไปเป็นหมื่นกิโลเมตร ก็ยิ่งก่อให้เกิดความหงุดหงิดกังวลใจขึ้นในหมู่พวกผู้วางนโยบายชาวเอเชีย

เรื่องหนึ่งที่ชวนให้เกิดความรู้สึกย้อนแย้งขึ้นมาเป็นอย่างมากก็คือ เอเชียกำลังเฝ้ามองรัฐบาลของทรัมป์กระทำสิ่งต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯเคยเที่ยวมาตำหนิวิจารณ์เอเชียเมื่อราวเสี้ยวศตวรรษที่ผ่านมา ย้อนหลังกลับไปในช่วงปี 1997-98 (ช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินเอเชีย หรือที่ในไทยชอบเรียกกันว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง -ผู้แปล) ตอนที่ ฮาชิโมโต กำลังสร้างความตกใจให้แก่พวกเทรดเดอร์ซื้อขายพันธบัตรอยู่นั้น พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯก็ได้ออกมาอบรมเผยแพร่ให้คำปรึกษาแก่ทั้ง กรุงเทพฯ, จาการ์ตา, กัวลาลัมเปอร์, มะนิลา, และโซล ว่า อย่าได้กลายเป็นทุนนิยมแบบเห็นแก่พวกพ้อง, เป็นระบบเศรษฐกิจที่ถูกครอบงำโดยคนกลุ่มน้อยที่ทรงอิทธิพลทางกาเรมือง, ตลอดจนมีแต่ความคลุมเครือ ขาดไร้ความโปร่งใสอย่างถึงที่สุด

เวลานี้เป็นทีของเอเชียบ้างที่กำลังเฝ้ามองวอชิงตันจุดไฟเผาทิ้งพวกสถาบันการเงินต่างๆ ที่พวกเขาเคยอวดโอ่ ด้วยความเร็วรี่ราวกับไฟไหม้ป่า เรื่องนี้ทำให้พวกผู้วางนโยบายต้องขบคิดวางแผนกันอย่างวุ่นวายว่าจะใช้วิธีการอย่างไรมารับมือกับภาษีศุลกากรตลอดจนความเอาแน่เอานอนไม่ได้โดยภาพรวมของทรัมป์ ซึ่งอาจพลิกผันทำความเสียหายหนักให้แก่เศรษฐกิจของพวกเขา สำหรับในตอนนี้ ดูเหมือนว่าบาดแผลเจ็บลึกที่ทรัมป์ก่อให้เกิดขึ้นกับหุ้น อาจจะรุนแรงน้อยกว่าที่มันทำให้เกิดขึ้นกับพวกตราสารหนี้

“ถึงแม้พวกหุ้นมีการขยับสูงขึ้นภายหลังจากที่ทรัมป์หยุดพัก (ชะลอการขึ้นภาษีศุลกากรเอากับพวกประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ไป 90 วัน) แต่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรคลังยังไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างเต็มที่เลย จากความเคลื่อนไหวอย่างแรงในช่วงต้นๆ ของอาทิตย์ที่ผ่านมา นี่กำลังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเสียหายบางประการที่เกิดขึ้นกับแบรนด์ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ” เป็นข้อสังเกตของ เอียน เบรมเมอร์ (Ian Bremmer) ประธานบริหารของกลุ่มยูเรเชีย (Eurasia Group) กิจการให้คำปรึกษาโดยเฉพาะเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง

“เงินดอลลาร์ก็ยังคงอ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ผลกระทบในทางการเมืองของเรื่องนี้มีความเป็นไปได้ทีเดียวว่าจะแผ่ลามกว้างขวางยิ่งกว่าการหล่นฮวบของตลาดครั้งใดๆ เนื่องจากอัตราผลตอบแทน (ของพันธบัตร) ที่สูงขึ้น ทำให้เป็นเรื่องลำบากมากขึ้นสำหรับพวกธุรกิจเล็กๆ ที่จะเข้าถึงเงินกู้ แล้วก็มีผลกระทบทางอ้อมต่อมาถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯด้วย” เบรมเมอร์ กล่าว

หนทางที่ทรัมป์กำลังสร้างอันตรายให้แก่การเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯโดยที่สัญญาณเตือนภัยกำลังดังลั่นเกี่ยวกับความเป็นไปที่อเมริกาจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ ตามธรรมดาแล้วถ้าหากเป็นช่วงเวลาที่ผ่านมา มันจะต้องเรียกเสียงเชียร์ดังสนั่นจากพวกเทรดเดอร์พันธบัตร (เพราะสภาพเช่นนี้จะทำให้พวกนักลงทุนสนใจเข้ามาถือพันธบัตรกันมากขึ้น) ทว่าเมื่อพิจารณาจากผลกระทบเรื่องเงินเฟ้อจากภาษีศุลกากร ทำให้พวกเทรดเดอร์พันธบัตรกำลังมองนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ 2.0 ด้วยความมืดมน

ตลาดรู้สึกวิตกว่าคณะบริหารทรัมป์ “อย่างไรเสียก็ได้แสดงให้เห็นว่ามีความอดทนอดกลั้นสูงกว่าที่ผู้คนจำนวนมากเคยคาดคิดกันเอาไว้ สำหรับการก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย [11] ขึ้นมา” นี่เป็นความคิดเห็นของ โธมัส แมทธิวส์ (Thomas Mathews) หัวหน้าฝ่ายตลาดแถบเอเชีย-แปซิฟิก ของ แคปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กระนั้นก็ตามที ถึงยังไงผลกระทบต่อตลาดพันธบัตร กลับยังคงเป็นตัวที่บังคับให้ทีมทรัมป์ต้องล่าถอย

คำถามมีอยู่ว่า เมื่อใดที่พวกบอนด์ วิจิแลนเต ระดับบิ๊กสุด –ซึ่งก็คือพวกธนาคารกลางทั้งหลาย— จะเริ่มต้นเทขายพันธบัตรคลังอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นและจีน คือนายแบงก์ที่ปล่อยเงินกู้ (ด้วยการรับซื้อตราสารหนี้พันธบัตรลัง) รายใหญ่ที่สุดของวอชิงตัน [12] ติดตามมาโดย สหราชอาณาจักร, ลักเซมเบิร์ก, หมู่เกาะเคย์แมน, เบลเยียม, แคนาดา, ฝรั่งเศส, ไอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์, ไต้หวัน, และฮ่องกง

ถ้าหากตลาดมองเห็นร่องรอยแม้กระทั่งแค่เบาบางจากธนาคารกลางใดๆ ของพวกเขา ไม่ว่าอยู่ในรูปของการเทขายตราสารหนี้อย่างดุดัน หรือเพียงแค่ระงับการซื้อตราสารหนี้ใหม่ๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็อาจจะเป็นความโกหาหลระดับสติแตกในตลาดสินเชื่อโลก ถ้าหากทรัมป์เป็นผู้ที่มีความเข้าใจถึงความเสี่ยงในเรื่องนี้แล้ว เขาก็แทบไม่ได้ทำอะไรเพื่อสาธิตความเข้าใจดังกล่าวนี้แก่พวกนายธนาคารกลางชาติเอเชียเอาเลย ทั้งๆ ที่นายธนาคารเอเชียเหล่านี้แหละคือเจ้าของผู้ถือครองเศรษฐกิจสหรัฐฯในทางเป็นจริง

เชิงอรรถ
[1] https://asiatimes.com/2025/03/this-is-about-the-us-national-debt-but-please-read-it-anyway/
[2] https://www.bloomberg.com/news/articles/2025-04-09/treasuries-fire-sale-sends-long-term-yields-soaring-worldwide?sref=oTGRLJoa
[3] https://www.wsj.com/livecoverage/stock-market-trump-tariffs-trade-war-04-09-25/card/trump-watched-dimon-interview-on-fox-before-deciding-on-tariff-pause-3xJmTRvWCOLsnvsmAJwL
[4] https://asiatimes.com/2025/04/trump-has-no-monopoly-on-trying-to-restore-vanished-factory-jobs/
[5] https://asiatimes.com/2025/04/this-chart-shows-why-trump-backflipped-on-tariffs/
[6] https://www.reuters.com/markets/rates-bonds/global-markets-bonds-update-1-quotes-2025-04-09/
[7] https://www.cnbc.com/2025/04/10/trump-dodged-a-disaster-from-the-bond-market-but-the-damage-isnt-over-yet.html
[8] https://asiatimes.com/2025/03/trump-giving-china-cause-to-cut-rates-weaken-the-yuan/
[9] https://asiatimes.com/2025/04/trumps-liberation-day-puts-asia-in-its-line-of-fire/
[10] https://www.brookings.edu/articles/why-is-the-federal-reserve-independent-and-what-does-that-mean-in-practice/
[11] https://www.reuters.com/markets/us/goldman-sachs-raises-odds-us-recession-45-2025-04-07/
[12] https://ticdata.treasury.gov/resource-center/data-chart-center/tic/Documents/slt_table5.html
กำลังโหลดความคิดเห็น