อิหร่านเผยสหรัฐฯ เร่งเร้าให้ทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ “โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” ภายหลังการเจรจาซึ่งเปิดฉากขึ้นที่โอมานเมื่อวานนี้ (12 เม.ย.) ขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาขู่ใช้ปฏิบัติการทางทหารหากคุยกับเตหะรานไม่สำเร็จ
สหรัฐฯ และอิหร่านซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมาและตัดขาดความสัมพันธ์ทางการทูตกันไปนานกว่า 40 ปี กำลังหาวิธีที่จะบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กันใหม่ หลังจากที่ ทรัมป์ ได้นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับ 6 ชาติมหาอำนาจเมื่อปี 2018
การเจรจาครั้งนี้มี อับบาส อารักชี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นนักการทูตที่มากประสบการณ์และเคยมีส่วนร่วมในการร่างข้อตกลงเมื่อปี 2015 และ สตีฟ วิตคอฟฟ์ ผู้แทนพิเศษของทรัมป์ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา และถือได้ว่าเป็นการเจรจานิวเคลียร์ระดับสูงสุดระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ นับตั้งแต่ข้อตกลงฉบับเดิมล่มไป
อารักชี ระบุว่า ผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายจะเปิดเจรจากันอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 20 เม.ย.
“ฝ่ายสหรัฐฯ บอกว่าอยากจะได้ข้อตกลงเชิงบวกโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่มันก็ไม่ง่าย และต้องอาศัยความตั้งใจจริงจากทั้ง 2 ฝ่าย” อารักชี ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ
“ผมเชื่อว่าเราเข้าใกล้พื้นฐานของการเจรจาแล้ว ทั้งเราและอีกฝ่ายต่างก็ไม่อยากให้การเจรจาครั้งนี้ไร้ผล หรือเป็นการหารือกันไปแบบส่งๆ เสียเวลา และยืดเยื้อไม่รู้จบ”
ด้านทำเนียบขาวระบุว่า การเจรจากับอิหร่านในรอบแรกนี้ “ให้ผลลัพธ์ที่ดีและสร้างสรรค์”
เมื่อถูกถามถึงผลการเจรจากับอิหร่าน ประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้ให้สัมภาษณ์บนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันว่า “ผมคิดว่าโอเค ทุกอย่างไม่มีปัญหา ขอให้สำเร็จก็แล้วกัน”
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศโอมานรับหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมัสกัต หลังจากสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเรียกร้องขอเจรจากับอิหร่านแบบต่อหน้า (face-to-face)
กระนั้นก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศอิหร่านระบุว่า คณะผู้เจรจาทั้ง 2 ฝ่ายได้พูดคุยกันโดยตรงเพียง “2-3นาที” ซึ่งบรรยากาศก็เป็นไปอย่าง “สร้างสรรค์และเคารพให้เกียรติกัน”
เอสมาอีล บากาอี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอิหร่านโพสต์ X ระบุว่า สองฝ่าย “อยู่คนละห้อง” และ “แสดงวิสัยทัศน์และจุดยืนผ่านทางรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศโอมาน”
อิหร่านซึ่งถูกบั่นทอนอิทธิพลลงไปมากหลังจากที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนและฮามาสในกาซาถูกอิสราเอลโจมตีอย่างหนัก หวังที่จะได้รับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิสราเอลก็ต้องการสกัดกั้นไม่ให้เตหะรานสร้างอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จ
วิตคอฟฟ์ ให้สัมภาษณ์กับวอลล์สตรีทเจอร์นัลก่อนการประชุมว่า จุดยืนของสหรัฐฯเริ่มต้นจากการเรียกร้องให้อิหร่านต้องยุบโครงการนิวเคลียร์ทิ้งทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าอิหร่านคงไม่ยอม
“แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่พยายามแสวงหาทางประนีประยอมอื่นๆ ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ” วิตคอฟฟ์ กล่าว “เส้นแดงสำหรับสหรัฐฯ ก็คือ จะต้องไม่มีการนำศักยภาพด้านนิวเคลียร์ของพวกคุณมาสร้างเป็นอาวุธ”
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่การเจรจาจะเริ่มขึ้น ทรัมป์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อสหรัฐฯ ว่า “ผมอยากให้อิหร่านเป็นประเทศที่ยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ และมีความสุข แต่พวกเขาจะมีอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้”
ด้านที่ปรึกษาของ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน กล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลเตหะรานต้องการก็คือ “ข้อตกลงที่แท้จริงและเป็นธรรม”
ที่มา: รอยเตอร์