วิกฤตหนักหน่วงขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในดอลลาร์ อาจค่อยๆปรากฏขึ้น จากความเห็นของดอยซ์แบงก์ สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ คำเตือนนี้มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศรีดภาษีรอบใหม่อย่างครอบคลุม(ก่อนระงับชั่วคราว 90 วัน) ที่สั่นคลอนตลาดเงินและโหมกระพือความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระดับโลก
รอยเตอร์รายงานว่า ในบันทึกที่ส่งถึงลูกค้าเมื่อวันพฤหัสบดี(10เม.ย.) ทาง จอร์จ ซาราเวลอส หัวหน้าฝ่ายวิจัยแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของดอยซ์แบงก์ ธนาคารยักษ์ใหญ่สัญชาติเยอรมนี กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกระแสทุน อาจบ่อนทำลายเสถียรภาพของตลาดเงินตรา "สารของเราโดยรวมคือมีความเสี่ยงที่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกระแสทุนจะเข้าปกคลุมเหนือพื้นฐานเงินตราและความเคลื่อนไหวของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เริ่มไม่เป็นระบบระเบียบ"
ดอลลาร์ดิ่งลงอย่างหนักในสัปดาห์นี้ ขยับลงมากกว่า 1.5% เมื่อเทียบกับทั้งยูโรและสกุลเงินเยนของญี่ปุ่น และกว่า 1% เมื่อเทียบกับปอนด์อังกฤษ การแกว่งตัวลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก ทรัมป์ ตัดสินใจกำหนดมาตรการรีดภาษี ในระดับ 10% ไปจนถึง 50% กับสินค้านำเข้าต่างๆนานาจากประเทศต่างๆหลายสิบชาติ ตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า ซึ่งกระตุ้นให้พวกนักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ
ซาราเวลอส เตือนด้วยว่าหากสถานการณ์ความเชื่อมั่นที่น้อยลงต่อดอลลาร์นั้นลากยาวออกไป มันอาจก่อกระทบอย่างกว้างขวาง ในนั้นรวมถึงยูโรโซน ซึ่งจะเป็นงานท้าทายยิ่งสำหรับธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)
ก่อนหน้านี้ทางอีซีบี เคยแสดงความกังวลว่ามาตรการทางการค้าของสหรัฐฯอาจก่อความปั่นป่วนแก่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของนานาชาติ สร้างความไม่แน่นอนต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อ และบีบให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการค้า
คำเตือนนี้มีขึ้นในขณะที่ผลลัพธ์จากมาตรการรีดภาษีของทรัมป์เกิดขึ้นอย่างทันควัน ตลาดหุ้นร่วงหนักทั่วโลก ราคาน้ำมันดิ่งแรงเช่นกัน และพันธบัตรรัฐบาลต่างๆก็ปรับลด ในขณะที่พวกนักลงทุนเตรียมตัวรับมือกับเศรษฐกิจเติบโตชะลอตัว สวนทางกับสินทรัพย์ต่างๆที่ถูกมองในฐานะสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ในนั้นรวมถึงทองคำ ที่พุ่งขึ้นแรง จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น
สถาบันการเงินอื่นๆ ในนั้นรวมถึงเจพีมอร์แกนและฟิตช์ ก็ออกคำเตือนแบบเดียวกัน ตามรายงานของไฟแนนซ์เชียลไทม์สและรอยเตอร์ โดยประมาณการว่ามาตรการรีดภษาอาจกัดเซาะการเติบโตของจีดีพีสหรัฐฯสูงสุดถึง 1.5% และเป็นไปได้ว่าจะฉุดเศรษฐกิจรายใหญ่อื่นๆเข้าสู่ภาวะถดถอย
(ที่มา:อาร์ทีนิวส์/รอยเตอร์)