xs
xsm
sm
md
lg

ถอยกันเป็นแถว!มีแค่6ชาติอยากส่งทหารเข้ายูเครน หากเคียฟ-มอสโกบรรลุข้อตกลงสงบศึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มีชาติตะวันตกเพียง 6 ประเทศ ที่รับปากจะส่งกองกำลังเข้าไปยังยูเครน หลังความเป็นปรปักษ์ระหว่างเคียฟกับมอสโกสิ้นสุดลง ตามรายงานของเอเอฟพี ในขณะที่บรรดาผู้สนับสนุนของยูเครนส่วนใหญ่ ลังเลที่จะให้คำสัญญาใดๆ

รายงานข่าวนี้มีขึ้นตามหลังการประชุมล่าสุดของบรรดารัฐมนตรีกลาโหมจากกลุ่มที่เรียกว่า "พันธมิตรแห่งความตั้งใจ" ในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันพฤหัสบดี(10เม.ย.) โดยแนวร่วมนี้ประกอบด้วยประเทศต่างๆราว 30 ชาติ ในนั้นส่วนใหญ่เป็นรัฐสมาชิกของอียูและนาโต อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าพวกเขายังยังคงมีความเห็นแตกแยกกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการส่งกองกำลังเข้าประจำการในยูเครน โดยเหล่าสมาชิกพากันตั้งคำถามเกี่ยวกับเป้าหมายและอาณัติของภารกิจนี้

เอเอฟพีรายงานโดยอ้างพวกเจ้าหน้าที่ยุโรปซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ระบุวาจนถึงตอนนี้มีเพียง 6 ชาติ ในนั้นรวมถึงสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และรัฐแถบบอลติกอย่าง เอสโตเนีย, ลัตเวียและลิทัวเนีย ที่รับปากสนับสนุนกำลังพล แต่รัฐที่ 6 ไม่มีการเปิดเผยชื่อใดๆ

สหราชอาณาจักร ซึ่งยืนยันพันธมิตรกลุ่มนี้มีความจริงจังเกี่ยวกับแผนประจำการ อ้างว่าทหารของพวกเขาจะช่วยส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืนระหว่างรัสเซียกับยูเครน

"แผนของเราคือแผนแห่งความเป็นจริงและเป็นรูปธรรม แผนของเราถูกคิดค้นมาเป็นอย่างดี" จอห์น ฮีเลย์ รัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักรบอกกับที่ประชุม "กองกำลังสร้างความอุ่นใจของเราสำหรับยูเครน จะเตรียมการด้านความมั่นคงด้วยความมุ่งมั่นและน่าเชื่อถือ เพื่อรับประกันว่าสันติภาพที่ต่อรองกันใดๆ จะนำพามาซึ่งสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รับปากไว้ สันติภาพที่ยั่งยืนสำหรับยูเครน" เขากล่าว

อย่างไรก็ตามสมาชิกอื่นๆของแนวร่วม แสดงความกังวลเกี่ยวกับว่าที่ภารกิจ ปฏิเสธให้คำมั่นสัญญาใดๆก่อนที่แผนการต่างๆจะมีความสมบูรณ์มากกว่าที่เป็นอยู่ ในนั้นรวมถึงรัฐมนตรีกลาโหมของเนเธอร์แลนด์ ที่บอกว่าทางกลุ่มต้องดึงสหรัฐฯเข้ามาร่วมด้วย แม้วอชิงตันยืนยันซ้ำๆว่าไม่มีแผนส่งทหารเข้าไปยังยูเครน ไม่ว่าจะบทบาทใดก็ตาม

"ว่าที่ภารกิจนี้คืออะไร แล้วเป้าหมายของมันคืออะไร" รัฐมนตรีกลาโหมเนเธอร์แลนด์ตั้งข้อสงสัย "อาณัติของมันคืออะไร แล้วถ้าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างออกไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีสถานการณ์ลุกลามบานปลายกับรัสเซีย แล้วมันจะเป็นอย่างไรต่อไป" เขาตั้งคำถาม

พอล จอห์นสัน รัฐมนตรีกลาโหมสวีเดน เน้นย้ำว่า "มีคำถามมากมายที่เราต้องการความกระจ่าง ก่อนรับปากใดๆ มันจะช่วยได้มากถ้ามีความชัดเจนว่าภารกิจนั้นจะเกี่ยวข้องกับอะไรและเราทำหน้าที่อะไร เราเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพ ป้องแรามหรือสร้างความอุ่นใจ" เขากล่าว

มอสโกส่งเสียงเตือนไปยังตะวันตกซ้ำๆ คัดค้านการประจำการทหารในยูเครน ไม่ว่าจะภายใต้ข้ออ้างใดๆ และคัดค้านอย่างเจาะจงต่อกรณีมีกองกำลังจากชาตินาโตไหนเข้ามายังประเทศแห่งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว ดมิทรี เมดเวเดฟ สภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย บอกว่าการปรากฏตัวของกองกำลังสันติภาพนาโตในยูเครน จะหมายถึงการเปิดสงครามระหว่างนาโตกับรัสเซีย

(ที่มา:อาร์ทีนิวส์/เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น