เหล่าชาติสมาชิกอาเซียน เป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่ถูกประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงโทษทางภาษีหนักหน่วงที่สุด หนึ่งในนั้นโดนไปถึง 49% ซึ่งเสี่ยงฉีกเศรษฐกิจของพวกเขาเป็นชิ้นๆ แต่รายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สชี้ว่าหลายชาติอาเซียน แทบไม่มีอะไรที่จะช่วยคลายความโกรธของผู้นำอเมริกาแม้แต่น้อย
นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ด้วยมาตรการรีดภาษีรอบใหม่ของทรัมป์ เสี่ยงทุบทำลายเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองจากการผลิตรองเท้ากีฬาและสินค้าเทคโนโลยีป้อนแก่ผู้บริโภคอเมริกา ดังนั้นบรรดาชาติในอาเซียนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชาและเวียดนาม จึงเร่งเอาใจทรัมป์ ด้วยการสัญญาว่าจะไม่แก้แค้น ต่างจากจีนและยุโรป นอกจากนี้แล้วพวกเขายังเสนอลดหรือกระทั่งยกเลิกเพดานภาษีของตนเองที่เรียกเก็บกับสินค้านำเข้าจากอเมริกา
ในวันพฤหัสบดี(10เม.ย.) ภูมิภาคแถบนี้ตื่นมาพร้อมกับข่าวดีที่ว่า ทรัมป์ ระงับการรีดภาษีตอบโต้ออกไปชั่วคราว ประธานาธิบดีรายนี้บ่งชี้ว่าการกลับลำดังกล่าว มีสาเหตุจากความปั่นป่วนในตลาดอันเนื่องจากมาตรการรีดภาษี อย่างไรก็ตาม บรรดาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงเดินหน้าในแนวทางยอมอ่อนข้อตามเดิม
แม้ทรัมป์ระงับรีดภาษีเป็นเวลา 90 วัน แต่ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียน ที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดี(10เม.ย.) ระบุว่าพวกเขามีความเป็นหนึ่งเดียวกันในความเห็นที่ว่าการแก้แค้นไม่ใช่ทางเลือก
ถ้อยแถลงของเซียนแสดงถึงความกังวลอย่างเห็นได้ชัด โดยบอกต่อว่า "มาตรการรีดภาษีนำมาซึ่งความไม่แน่นอนและบ่อนทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับการค้าโลก วีถีชีวิตของคนล้านล้านในภูมิภาคคได้รับผลกระทบ" ในขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีคลังของไทย ยอมรับว่าทำเนียบขาวมีอิทธิพลเหนือกว่าประเทศของไทยในประเด็นการค้า ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์ส
"นี่คือวิธีการเจรจาต่อรอง" นิวยอร์กไม์สรายงานอ้างคำสัมภาษณ์ของนายพิชัย "คุณเริ่มต้นด้วยมาตรการหนักหน่วงสุดขั้ว จากนั้นก็ลดข้อเรียกร้องลงระหว่างทาง เราอาจจำเป็นต้องยอมทำตาม"
นิวยอร์กไทม์สรายงานว่านายพิชัย มีแผนเดินทางเยือนวอชิงตันในอีกสัปดาห์ข้างหน้า และหวังพบปะกับ ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์, เจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนด้านการค้าของทรัมป์ และโฮเวิร์ด ลุตนิค รัฐมนตรีพาณิชย์ เป้าหมายของนายพิชัยคือลดเพดานภาษีนำเข้า 36% ที่ทรัมป์มีแผนกำหนดกับสินค้าที่ผลิตในไทย ครั้งที่การระงับรีดภาษีสิ้นสุดลง
ไทย เกินดุลการค้าสหรัฐฯราว 45,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยเหตุนี้นายพิชัยเผยว่าไทยกำลังเตรียมการสำหรับซื้อสินค้าการเกษตรและก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯเพิ่มเติม เป้าหมายก็คือ ไทย จะเพิ่มนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯแตะ 50,000 ล้านดอลลาร์ จากระดับปัจจุบัน 20,000 ล้านดอลลาร์
ทรัมป์และเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวบอกว่าพวกเขาต้องการลดตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯกับประเทศอื่นๆ แต่สำหรับประเทศที่มีความมั่งคั่งที่น้อยกว่ามากอย่างเช่นบรรดาชาติในเอาเชียน การลดช่องว่างดังกล่าวดูเป็นสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมันเสี่ยงฉีกเศรษฐกิจของพวกเขาเป็นชิ้นๆ
กระนั้นในวันพฤหัสบดี(10เม.ย.) เวียดนามเผยว่า รัฐบาลทรัมป์เห็นพ้องตามคำร้องของพวกเขา ที่ขอเริ่มเจรจาในข้อตกลงการค้าต่างตอบแทนกัน ส่วนฟิลิปปินส์บอกว่าพวกเขาติดต่อไปยังสหรัฐฯ เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของข้อตกลงการค้าเสรี
รายงานของนิวยอร์กไทม์สระบุว่าคำถามสำคัญคือประเทศต่างๆเหล่านั้น มีความตั้งใจมากน้อยแค่ไหนในการจัดการกับกลยุทธ์ที่บางบริษัทใช้หลีกเลี่ยงมาตรการรีดภาษีของสหรัฐฯ ยกตัวอย่างเช่นกรณีบริษัทต่างๆส่งสินค้าที่ผลิตเสร็จสิ้นในจีน มายังเวียดนามและไทย จากนั้นก็ทำการเปลี่ยนแพ็คเกจหรือติดป้ายกำกับใหม่ แล้วส่งออกสินค้าเหล่านั้นไปยังสหรัฐฯ
"จีนคือผู้เล่นที่สำคัญมาก เราไม่อาจพเกเฉย บางประเทศมีปัญหาในเรื่องนี้" อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวต่อที่ประชุมอาเซียน ในกัวลาลัมเปอร์ "เราจะเดินหน้าในวิธีการที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อรับประกันสันติภาพ ความมั่นคงและได้รับซึ่งผลประโยชน์สูงสุดในแง่ของเศรษฐกิจและการลงทุน"
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ไทยอีกรายเตือนว่ากรุงเทพฯไม่ควรเร่งรีบเข้าสู่การเจรจา หากยังไม่รู้ว่าจริงๆแล้ว ทรัมป์ ต้องการอะไรกันแน่ "ปัญหาคือ ถ้าคุณไปเร็วเกินไป ประธานาธิบดีทรัมป์จะคิดว่าเขามีไพ่ทั้งหมดในมือ" นิวยอร์กไทม์ส อ้างคำกล่าวของดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย "พึงระลึกว่า เขากำลังเล่นไพ่ ดังนั้นจังหวะเวลาคือทุกๆอย่าง" กระนั้นเขายอมรับว่า "เราเป็นประเทศเล็กๆ เรามีไพ่ในมือไม่มากนัก"
ตามรายงานของนิวยอร์ไทม์ส ระบุว่าสหรัฐฯขาดดุลการค้ากับอาเซียน ในแง่ของสินค้า 228,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ทางกลุ่มได้ผลประโยชน์มหาศาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่บริษัทต่างๆจากจีนย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคแถบนี้ หลังจาก ทรัมป์ ในสมัยแรก กำหนดมาตรการรีดภาษีจีน และมันยังคงถูกบังคับใช้อย่างต่อเนื่องจนถึงรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนำมาซึ่งความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับจีน แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้ภูมิภาคแห่งนี้ อยู่ในสถานการณ์ยากลำบากในการเจรจากับรัฐบาลทรัมป์ "ขอบเขตดังกล่าวเป็นเครื่องหมายคำถาม" ปีเตอร์ มัมฟอร์ด นักวิเคราะห์ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากยูเรเซีย กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษา ระบุ "คำถามคือเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ทำได้ดีพอหรือไม่ ในแง่ของมาตรการต่างๆที่เป็นรูปเป็นร่างและตรวจสอบได้ ที่สามารถบรรเทาความไม่พอใจของวอชิงตัน"
นายพิชัย บอกไว่าไทยจะต้องระมัดระวังกว่าเดิม เกี่ยวกับธุรกิจของไทยที่ปฏิบัติการในไทย ที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ในขณะที่ Trinh Nguyen นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการเงิน Natixis บอกว่าไทยและบรรดาชาติเพื่อนบ้าน ไม่มีทางเลือกอื่นยกเว้นแต่เจรจาเพียงอย่างเดียว
(ที่มา:นิวยอร์กไทม์ส)