xs
xsm
sm
md
lg

ไม่เอาด้วย! ออสเตรเลีย ‘ปฏิเสธ’ ร่วมมือ ‘จีน’ สู้สงครามภาษีสหรัฐฯ ยันเดินหน้ายุทธศาสตร์ลดพึ่งพาปักกิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลออสเตรเลียออกมา “ปฏิเสธ” ข้อเสนอของจีนที่ขอให้ทำงานร่วมกันเพื่อต่อต้านมาตรการรีดภาษีของสหรัฐฯ โดยยืนยันว่าแดนจิงโจ้จะยังคงเดินหน้ากระจายความเสี่ยงทางการค้า และลดการพึ่งพาจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในเวลานี้

“เราจะไม่จับมือจีนในการแข่งขันใดๆ ก็ตามกำลังเกิดขึ้นตอนนี้”  ริชาร์ด มาร์เลส รองนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียให้สัมภาษณ์กับ Sky News โดยอ้างถึงข้อเสนอของเอกอัครราชทูตจีนที่เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ “ร่วมมือกัน” ในทางการค้า

“เราจะไม่ทำแบบนั้น สิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือการปกป้องผลประโยชน์ของออสเตรเลีย และกระจายความเสี่ยงทางการค้าระหว่างเรากับทั่วโลก”

มาร์เลส ย้ำว่า ออสเตรเลียจะเพิ่มความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจด้วยการกระชับสัมพันธ์การค้ากับสหภาพยุโรป อินโดนีเซีย อินเดีย อังกฤษ และตะวันออกกลาง

เซียว เฉียน (Xiao Qian) เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงแคนเบอร์รา ได้เผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็นในหนังสือพิมพ์ The Age โดยเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียร่วมมือกับจีนในการปกป้องระบบการค้าแบบพหุภาคี

“ภายใต้สถานการณ์ใหม่ จีนพร้อมที่จะจับมือกับออสเตรเลียและประชาคมนานาชาติเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก” เซียว ระบุ

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ สร้างเซอร์ไพรส์คนทั่วโลกอีกครั้งในวันพุธ (9) โดยประกาศเลื่อนการบังคับใช้อัตราภาษีตอบโต้หลายสิบประเทศไปอีก 90 วัน ยกเว้น “จีน” ที่จะยังโดนรีดภาษีทันที และหนักยิ่งกว่าเก่าจาก 104% เพิ่มเป็น 125%

สถานการณ์เช่นนี้นับว่ามีความสุ่มเสี่ยงสำหรับออสเตรเลียซึ่งส่งออกสินค้าเกือบ 1 ใน 3 ไปยังตลาดแดนมังกร ในขณะที่ยอดส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ มีไม่ถึง 5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ธนาคารกลางออสเตรเลียออกมาเตือนว่า สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีและข้อจำกัดการค้าอื่นๆ ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้ารายใหญ่ๆ อาจกระทบต่อการลงทุนและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในออสเตรเลีย

ทรัมป์ ได้กำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำสุด 10% สำหรับสินค้าจากแดนจิงโจ้

นายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบานีส แห่งออสเตรเลียระบุว่า แม้คำสั่งรีดภาษี 10% ต่อออสเตรเลียซึ่งเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในอินโด-แปซิฟิกจะเป็นเรื่อง “ไม่สมเหตุสมผล” แต่รัฐบาลของเขาก็ไม่มีแผนที่จะตอบโต้สหรัฐฯ

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น