ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯในวันพุธ(9เม.ย.) เปิดเผยว่าอิสราเอลจะรับบทบาทเป็น "ผู้นำ" ในความเป็นไปได้ของการใช้ปฏิบัติการทางทหารเล่นงานอิหร่าน หากว่าเตหะรานไม่ยอมล้มเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์
ความเห็นของทรัมป์มีขึ้นก่อนหน้าการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯและเจ้าหน้าที่อิหร่านในโอมาน ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ โดยเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ทรัมป์ อ้างว่าการเจรจาดังกล่าวจะเป็นการพูดคุยกัน "โดยตรง" แต่ทางเตหะรานแสดงท่าทีต่างออกไป บอกว่าการพูดคุยจะเป็นการเจรจาทางอ้อมกับสหรัฐฯ
"ถ้าจำเป็นต้องใช้ทหาร เราก็จะใช้กำลังทหาร" ทรัมป์กล่าว "แน่นอนอย่างที่สุด ว่าอิสราเอลจะเกี่ยวข้องอย่างมากๆในเรื่องนี้ พวกเขาจะเข้ามาเป็นแกนนำ แต่ไม่มีใครเป็นผู้นำเรา เราจะทำในสิ่งที่เราต้องการทำ"
เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ระบุเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ว่าเขาสนับสนุนความพยายามทางการทูตของทรัมป์ ในการบรรลุทางออกกับอิหร่าน พร้อมบอกว่าอิสราเอลและสหรัฐฯมีเป้าหมายเดียวกันคือรับประกันว่าอิหร่านจะไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงคือ เนทันยาฮู คือคนที่เป็นแกนนำในความพยายามโน้มน้าวให้ ทรัมป์ ในปี 2018 ถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านทำไว้กับบรรดามหาอำนาจโลก ในปี 2015
ผู้นำอิสราเอล เป็นที่รู้กันดีว่ามีมุมมองแข็งกร้าวกับอิหร่าน และในอดีตที่ผ่านมาเคยส่งเสียงเรียกร้องให้ยกระดับกดดันทางทหาร ล่าสุด เนทันยาฮู บอกว่าเขาจะยินดีขานรับต่อข้อตกลงทางการทูตหนึ่งๆแบบเดียวกับข้อตกลงที่ลิเบียเคยทำไว้กับประชาคมนานาชาติในปี 2023 โดยในข้อตกลงดังกล่าวพบเห็น โมอัมมาร์ กัดดาฟี ประธานาธิบดีลิเบียผู้ล่วงลับ ยอมละทิ้งโครงการลับทางนิวเคลียร์ของเขา อย่างไรก็ตามในส่วนของอิหร่าน เตหะรานยืนกรานว่าโครงการนิวเคลียร์ของพวกเขาเป็นที่ยอมรับของทบวงปรมาณูสากลและจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป
"ผมคิดว่ามันคงเป็นเรื่องดี" เนทันยาฮูกล่าว "แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่าอิหร่านจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์"
สหรัฐฯมีความกังวลเพิ่มมากขึ้น ว่าอิหร่านอาจเข้าใกล้การมีอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้งานได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ ทรัมป์ ระบุในวันพุธ(9เม.ย.) เขาไม่มีกรอบเวลาที่เด็ดขาดสำหรับการเจรจาหาทางออก เนื่องจากคาดหมายว่าการพูดคุยต่อรองคงเจออุปสรรคตลอดทาง
สหรัฐฯและบรรดาชาติมหาอำนาจอื่นๆ ในปี 2015 บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์อย่างครอบคลุมและระยะยาว ในการจำกัดการแปรรูปยูเรเนียมของอิหร่าน แลกกับการปลดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ ทรัมป์ กลับถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียวในปี 2018 โดยเรียกมันว่าเป็น "ข้อตกลงที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา"
อิหร่านและสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยเจรจากันทางอ้อมในเวียนนา ปี 2021 โดยมีเป้าหมายคืนสถานะข้อตกลงนิวเคลียร์ แต่การเจรจาเหล่านั้นและการเจรจาอื่นๆ ระหว่างเตหะรานกับบรรดาชาติยุโรป ล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงใดๆ
ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังสหรัฐฯในวันพุธ(9เม.ย.) ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่เล่นงานโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน "ผมต้องการเห็นอิหร่านยิ่งใหญ่" ทรัมป์กล่าวในวันเดียวกัน "แต่สิ่งเดียวที่พวกเขาไม่สามารถมีได้นั่นคืออาวุธนิวเคลียร์ และพวกเขาเข้าใจดี"
ในส่วนของประธานาธิบดีมาซูด ปาเซชเคียน แห่งอิหร่าน ให้สัญญาอีกครั้งในวันพุธ(9เม.ย.) ว่าประเทศของเขา "ไม่ได้ไล่ตามอาวุธนิวเคลียร์" และถึงขั้นพูดถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะเข้ามาลงทุนในสาธารณรัฐอิสลามแห่งนี้ หากว่าทั้ง 2 ประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้
(ที่มา:เอพี)