เลขาธิการสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เรียกร้องวันนี้ (9 เม.ย.) ให้กลุ่มอาเซียนเร่งกระบวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ท่ามกลางมาตรการรีดภาษีตอบโต้คู่ค้าของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้หลายประเทศทั่วโลกถูกดึงเข้าสู่สงครามการค้าที่นับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรง
อาเซียน 10 ประเทศซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ถูกประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีตอบโต้หนักที่สุด
“เพื่อคงความสำคัญและมีความยืดหยุ่นอยู่ได้ในโลกซึ่งความสับสนวุ่นวายทางเศรษฐกิจกำลังกลายเป็นความปกติใหม่ (new normal) เราจะต้องดำเนินการอย่างกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว และร่วมมือกันเป็นหนึ่ง เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของอาเซียนในการสร้างสภาพแวดล้อมมีเสถียรภาพ คาดการณ์ได้ และเอื้อต่อภาคธุรกิจ” เกา กึมฮวน เลขาธิการอาเซียน กล่าวในการประชุมด้านการลงทุนซึ่งจัดขึ้นก่อนการประชุมหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจและการคลังของอาเซียนกับบรรดาผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย เพื่อหารือแนวทางตอบสนองมาตรการรีดภาษีของสหรัฐฯ
รัฐบาลอาเซียนทุกประเทศตัดสินใจไม่ตอบโต้คำสั่งรีดภาษีของสหรัฐฯ และจะแสวงหาการเจรจากับผู้นำอเมริกาแทน
อย่างไรก็ดี โครงสร้างเศรษฐกิจของอาเซียนที่ยังเน้นการส่งออกเป็นหลักเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบหนักจากสงครามการค้า เนื่องจาก “จีน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ได้ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐอเมริกา
“หากไม่มีมาตรการร่วมกันโดยด่วนเพื่อที่จะบูรณาการเศรษฐกิจภายในอาเซียน ตลอดจนแสวงหาตลาดและหุ้นส่วนใหม่ๆ เราก็สุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียสถานะในระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งกำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” เกา กล่าว
เวียดนามซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญถูกสหรัฐฯ สั่งรีดภาษีสินค้านำเข้า 46% ขณะที่กัมพูชาซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ตะวันตกราคาถูกโดนรีดภาษีสูงถึง 49%
ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนต่างก็โดนภาษีลดหลั่นกันไป ได้แก่ ลาว (44%) พม่า (44%) ไทย (37%) อินโดนีเซีย (32%) มาเลเซีย (24%) บรูไน (24%) ฟิลิปปินส์ (17%) และสิงคโปร์ (10%)
อาเซียนมีประชากรรวมกันมากกว่า 650 ล้านคน ทว่ารัฐสมาชิกแต่ละประเทศยังมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ประเทศที่ค่อนข้างยากจนอย่างลาวและกัมพูชาเรื่อยไปจนถึงศูนย์กลางการเงินอย่างสิงคโปร์
ที่มา: เอเอฟพี