xs
xsm
sm
md
lg

สงครามการค้าเดือดพล่าน! จีนประกาศกร้าว 'สู้ถึงที่สุด' หลังถูก 'ทรัมป์' ขู่รีดภาษีศุลกากรรวม 104%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนประกาศกร้าววันนี้ (8 เม.ย.) ว่าจะไม่ยอมก้มหัวให้กับพฤติกรรม "แบล็กเมล" ของสหรัฐฯ ท่ามกลางสงครามการค้าโลกที่ทวีความร้อนแรงสุดขีดหลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่มีวี่แววจะยอมถอยจากคำสั่งรีดภาษีประเทศคู่ค้าทั่วโลก

ท่าทีแข็งกร้าวจากปักกิ่งมีขึ้นหลัง ทรัมป์ ออกมาขู่วานนี้ (7) ว่าจะเก็บภาษีศุลกากรสินค้าจีนเพิ่มอีก 50% ในวันพุธ (9) หากว่าจีนไม่ยอมเพิกถอนการรีดภาษีตอบโต้สหรัฐฯ 34%

ตัวเลขดังกล่าวเมื่อรวมกับอัตราภาษี 20% ที่ ทรัมป์ บังคับใช้กับจีนไปก่อนหน้านี้ และ 34% ที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะทำให้สินค้าจีนที่นำเข้าอเมริกาถูกเก็บภาษีสูงถึง 104%

"การที่สหรัฐฯ ข่มขู่จะรีดภาษีสินค้าจีนเพิ่มขึ้นถือเป็นความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเป็นอีกครั้งที่ฝ่ายอเมริกาได้แสดงให้เห็นถึงนิสัยชอบแบล็กเมล" กระทรวงพาณิชย์จีนระบุในถ้อยแถลง

"หากสหรัฐฯ ยังยืนกรานที่จะใช้วิธีเช่นนี้ จีนก็จะสู้จนถึงที่สุด"

สหภาพยุโรป (อียู) ได้เสนอมาตรการขึ้นภาษีตอบโต้คำสั่งของ ทรัมป์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายสิบประเทศทั่วโลก และทำให้ตลาดการเงินนานาชาติปันป่วนอย่างหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession)

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่นักลงทุนแตกตื่นจนเกิดแรงเทขายหนักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา และทำให้บรรดาผู้นำภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงบุคคลใกล้ชิด ทรัมป์ ต้องออกมาเตือนให้ผู้นำสหรัฐฯ ทบทวนนโยบาย 

ดัชนีนิกเกอิปิดตลาดภาคเช้าปรับตัวขึ้น 6% จากที่เคยร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีครึ่งเมื่อวานนี้ (7) หลังจากที่ ทรัมป์ และนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ แห่งญี่ปุ่น เห็นพ้องให้มีการเปิดเจรจาการค้า

ทรัมป์ ประกาศว่ามาตรการรีดภาษีศุลกากรขั้นต่ำ 10% จากสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าอเมริกา และสูงสุด 50% สำหรับสินค้าจากบางประเทศ จะช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งตกต่ำซบเซามานานหลายสิบปีจากนโยบายการเปิดเสรีทางการค้า (trade liberalization) 

"นี่เป็นโอกาสเดียวที่สหรัฐฯ จะสามารถรีเซ็ตทุกอย่างใหม่ เพราะไม่มีประธานาธิบดีคนไหนที่พร้อมจะทำในสิ่งที่ผมทำอยู่ หรือแม้กระทั่งคิดจะทำด้วยซ้ำ" ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์สื่อที่ทำเนียบขาว

คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอมาตรการรีดภาษีสินค้าอเมริกันหลายประเภทในอัตรา 25% รวมถึงถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง และไส้กรอกต่างๆ ทว่ายังคงมีสินค้าบางประเภทที่ถูกยกเว้น เช่น เบอร์เบินวิสกี้ ตามข้อมูลเอกสารที่ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ได้เห็น

เจ้าหน้าที่ยุโรประบุว่า พวกเขาพร้อมจะเจรจาข้อตกลงกับรัฐบาลทรัมป์ในรูปแบบ "ศูนย์ต่อศูนย์"

"ไม่ช้าก็เร็ว เราจะต้องนั่งลงเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อหาทางออกที่รับได้กันทั้ง 2 ฝ่าย" มารอส เซฟโกวิช กรรมาธิการการค้าของอียู ระบุในงานแถลงข่าว


รัฐอียู 27 ประเทศได้รับผลกระทบหนักอยู่แล้วจากคำสั่งรีดภาษีรถยนต์และโลหะที่ ทรัมป์ ประกาศไปก่อนหน้านี้ และกำลังจะถูกรีดภาษีเพิ่มกับสินค้าอื่นๆ อีก 20% ในวันพุธ (9) นอกจากนี้ ทรัมป์ ยังขู่จะลงดาบรีดภาษีกับพวกสุรายาเมาที่นำเข้าจากยุโรปด้วย

นักลงทุนและผู้นำการเมืองทั่วโลกกำลังประเมินกันอยู่ว่า มาตรการทางภาษีของ ทรัมป์ จะคงอยู่แบบถาวร หรือเป็นเพียงกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อกดดันให้ประเทศคู่ค้าเข้ามาเจรจามอบผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้สหรัฐฯ มากขึ้น

เว็บไซต์ Politico รายงานว่า สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้เดินทางไปพบ ทรัมป์ ที่รัฐฟลอริดาเมื่อวันอาทิตย์ (6) เพื่อขอให้ผู้นำสหรัฐฯ เน้นทำข้อตกลงการค้ากับชาติหุ้นส่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ายุทธศาสตร์รีดภาษีครั้งนี้ของสหรัฐฯ จะมี "จุดจบ"

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าเวลานี้มีหลายสิบประเทศทั่วโลกที่ติดต่อขอเจรจากับวอชิงตันด้วยความหวังว่าจะโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ยกเลิกการรีดภาษีที่จะเริ่มมีผลบังคับในวันพรุ่งนี้ (9)

เจ้าหน้าที่รัฐบาล ทรัมป์ ยังชี้แจงด้วยว่า ประธานาธิบดีกำลังทำตามคำมั่นสัญญาในการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าแบบเสรีที่เขาเชื่อว่าเป็นตัวการบ่อนทำลายความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มานานหลายทศวรรษ

"ท่านจะยกระดับมาตรการที่ท่านเชื่อว่าได้ผล และจะทำเช่นนั้นต่อไป" เควิน แฮสเซ็ตต์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์กับ Fox News "แต่ท่านก็พร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอของประเทศคู่ค้า และหากพวกเขาเข้ามาหาเราด้วยข้อเสนอที่ดีจริงๆ และเป็นประโยชน์ต่อภาคการผลิตและเกษตรกรอเมริกัน ผมมั่นใจว่าท่านจะรับฟัง"

บรรดาผู้นำวอลล์สตรีทได้ออกมาเตือนถึงผลกระทบจากมาตรการรีดภาษีของสหรัฐฯ โดย เจมี ไดมอน ประธาน JP Morgan Chase ชี้ว่ามันอาจส่งผลเชิงลบต่อเนื่องในระยะยาว ขณะที่ บิล แอคแมน ผู้บริหารกองทุนป้องกันความเสี่ยงที่สนับสนุน ทรัมป์ ให้ลงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ก็ออกมาเตือนถึง "ฤดูหนาวนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ" ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้

ด้าน อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของเทสลาซึ่งเข้ามาเป็นผู้นำในการตัดลดรายจ่ายภาครัฐให้กับทรัมป์ ก็เรียกร้องให้สหรัฐฯ และยุโรปใช้มาตรการเก็บภาษีเป็น "ศูนย์" และยังวิงวอนผู้นำสหรัฐฯ ให้เพิกถอนคำสั่งรีดภาษีด้วย ตามรายงานของวอชิงตันโพสต์

ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าของทรัมป์ ออกมาปฏิเสธแนวคิดของ มัสก์ ในวันจันทร์ (7) พร้อมระบุว่าไม่แปลกใจที่ได้ยินข้อเสนอเช่นนี้จาก "เจ้าของโรงงานประกอบรถยนต์" (car assembler)

นักลงทุนหลายคนคาดการณ์ว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนหน้า ขณะที่ ทรัมป์ เองก็ออกมาย้ำให้เฟดลดดอกเบี้ยลงเมื่อวานนี้ (7) ทว่า เจโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ยังคงแสดงท่าทีว่า "ไม่รีบร้อน" ในเรื่องนี้

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น