ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ส่งคำเตือนไปยังรัฐบาลทั่วโลกวานนี้ (6 เม.ย.) ว่าพวกเขาจะต้อง “จ่ายเงินมหาศาล” หากต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกกำแพงภาษี พร้อมเปรียบเทียบการรีดภาษีว่าเป็นเสมือน “ยา” ที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอเมริกา ท่ามกลางความกังวลที่ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งแรงตั้งแต่เช้าวันนี้ (7 เม.ย.)
ตลาดหุ้นเอเชียยังคงร่วงแรงต่อเนื่องระหว่างการซื้อขายเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ขณะที่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ก็ดิ่งแรงในคืนวันอาทิตย์ (6) สืบเนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลว่ามาตรการรีดภาษีของ ทรัมป์ จะทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น อุปสงค์ลดลง บ่อนทำลายความเชื่อมั่น และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ทั่วโลก
ระหว่างให้สัมภาษณ์นักข่าวบนเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันวานนี้ (6) ทรัมป์ ระบุว่าตน “ไม่กังวล” กับความผันผวนครั้งใหญ่ซึ่งส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกสูญเสียเม็ดเงินไปแล้วหลายล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ เองที่สูญเสียมูลค่าไปเกือบ 6 ล้านล้านดอลลาร์
“ผมไม่ได้อยากให้อะไรมันลง แต่บางครั้งคุณก็ต้องยอมใช้ยาเพื่อแก้ไขบางสิ่งบางอย่าง” เขากล่าวระหว่างเดินทางกลับจากตีกอล์ฟที่รัฐฟลอริดาในช่วงสุดสัปดาห์
ผู้นำสหรัฐฯ ยังบอกด้วยว่า ตนได้พูดคุยกับผู้นำประเทศจากยุโรปและเอเชียตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนแต่พยายามเกลี้ยกล่อมให้ตนยกเลิกคำสั่งรีดภาษีศุลกากรสูงสุด 50% ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.
“พวกเขาเข้ามาขอเจรจา พวกเขาต้องการพูดคุย แต่จะไม่มีการคุยเว้นเสียแต่พวกเขาจะยอมจ่ายเงินมหาศาลให้กับเราเป็นรายปี” ทรัมป์ กล่าว
การที่ ทรัมป์ ประกาศรีดภาษีศุลกากรตอบโต้คู่ค้าทุกประเทศโดยไม่เว้นแม้แต่ชาติพันธมิตรเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้สร้างความแตกตื่นอย่างหนัก และกระตุ้นให้จีนสั่งรีดภาษีสินค้าอเมริกันเป็นการแก้แค้น ท่ามกลางกระแสหวาดกลัวสงครามการค้าและภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังแผ่ลามไปทั่วโลก
นักลงทุนและผู้นำการเมืองต่างกำลังจับสัญญาณว่ามาตรการของ ทรัมป์ จะคงอยู่ไปอีกนานนับจากนี้ หรือว่าเป็นเพียงกลยุทธ์ที่สหรัฐฯ ใช้ต่อรองให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาขอเจรจาเพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่อเมริกา
ระหว่างร่วมรายการทอล์คโชว์เมื่อเช้าวันอาทิตย์ (6) บรรดาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ ทรัมป์ ต่างพยายามวาดภาพภาษีศุลกากรว่าเป็นการปรับสถานะอย่างชาญฉลาดของสหรัฐฯ ในด้านระเบียบการค้าโลก
สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่ามีมากกว่า 50 ประเทศที่เริ่มติดต่อขอเจรจากับสหรัฐฯ หลังจากที่ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2) ขณะที่ โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก็บอกผ่านรายการ Face The Nation ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสนิวส์ว่า การรีดภาษีครั้งนี้อาจจะมีผลบังคับใช้ไปอีก “นานหลายวัน หรือหลายสัปดาห์”
ญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในเอเชียก็เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเทศที่ต้องการทำข้อตกลงรอมชอมกับรัฐบาลทรัมป์ แต่กระนั้นนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ ก็ออกมายอมรับในวันนี้ (7) ว่า ผลลัพธ์ “คงจะไม่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน”
แรงเทขายวันนี้ (7) เกิดขึ้นท่ามกลางการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจะทำให้สหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดภายในเดือน พ.ค.
เควิน แฮสเซตต์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทำเนียบขาว ออกมาปฏิเสธแนวคิดที่ว่า ทรัมป์ กำลังใช้ภาษีศุลกากรเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์กดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ย โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ใช้วิธี “ข่มขู่ทางการเมือง” ต่อเฟด
นักเศรษฐศาสตร์ของจีพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า มาตรการรีดภาษีจะทำให้ GDP ของสหรัฐฯตลอดทั้งปีลดลงราว 0.3% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 1.3% ขณะที่อัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นจากระดับ 4.2% ในปัจจุบันเป็น 5.3%
บิล แอคแมน (Bill Ackman) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Pershing Square Capital Management ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ และเป็นหนึ่งในบุคคลที่ออกมาสนับสนุนให้ ทรัมป์ ลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชี้ว่า ทรัมป์ กำลังสูญเสียความเชื่อมั่นจากบรรดาผู้นำภาคธุรกิจ พร้อมเตือนให้ระวัง “ฤดูหนาวนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ” ที่จะมาถึงหาก ทรัมป์ ยังไม่หยุดนโยบายที่ทำอยู่
หน่วยงานศุลกากรของสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีขั้นต่ำ 10% จากสินค้าทุกอย่างที่นำเข้าอเมริกาตั้งแต่วันเสาร์ (5) และอัตราภาษีที่สูงขึ้นระหว่าง 11-50% จะถูกเรียกเก็บจากสินค้าของแต่ละประเทศตั้งแต่เวลา 00.01 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (EDT) ของวันพุธที่ 9 เม.ย.
รัฐบาลหลายชาติเริ่มส่งสัญญาณเต็มใจที่จะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อเลี่ยงการถูกรีดภาษี โดยประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ แห่งไต้หวันแถลงเมื่อวันอาทิตย์ (6) ว่า รัฐบาลจะเสนออัตราภาษีเป็นศูนย์เพื่อใช้เป็นฐานในการเจรจากับทรัมป์ พร้อมให้สัญญาว่าจะยกเลิกมาตรการกีดกันอื่นๆ และจะสนับสนุนให้บริษัทของไต้หวันเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นด้วย
ด้านนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ระบุว่า ตนจะพยายามขอให้สหรัฐฯ ยกเลิกอัตราภาษี 17% สำหรับสินค้านำเข้าจากอิสราเอล ระหว่างที่หารือกับ ทรัมป์ ในวันจันทร์นี้ (7)
เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า อินเดียไม่มีแผนที่จะตอบโต้คำสั่งรีดภาษี 26% ของทรัมป์ และอยู่ระหว่างพูดคุยเพื่อทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ
ด้านประธานาธิบดี โต เลิม ของเวียดนามระบุว่า ตนได้เห็นพ้องร่วมกับ ทรัมป์ ระหว่างพูดคุยโทรศัพท์เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (4) ว่าจะทำข้อตกลงขอยกเลิกการรีดภาษี 46% จากสินค้าเวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกสหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ทรัมป์ เองยอมรับว่า การพูดคุยกับผู้นำเวียดนาม “ได้ผลดีมาก”
ที่มา: รอยเตอร์