America’s Brexit? Trump’s historic gamble on tariffs has been decades in the making
By Callum Jones in New York, THE GUARDIAN.
05/04/2025
โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรเอากับแทบทุกประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ กลายเป็นการโจมตีทางเศรษฐกิจใส่โลกทั้งใบชนิดทำเอาพวกนักเศรษฐศาสตร์พากันตื่นตะลึง และส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์พากันดำดิ่งลงเหว ระหว่างทรัมป์และทีมงานของเขา กับพวกนักเศรษฐกิจกระแสหลักบนพื้นพิภพ ใครกันแน่ที่จะเป็นผู้มีชัย
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยกเครื่องเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯครั้งใหญ่โตมโหฬารยิ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งเป็นการประกาศยุติยุคสมัยแห่งโลกาภิวัตน์ และทั้งทำให้ประชาชน รัฐบาล ตลอดจนนักลงทุนตลอดทั่วโลก ตกอยู่ในความหวั่นวิตกถึงภัยอันตรายที่กำลังจะคืบคลานเข้ามา ขณะที่ตัวประมุขทำเนียบขาวเองบอกว่า ไม่ควรมีใครต้องรู้สึกประหลาดใจอะไรกับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ในเวลานี้
การแถลงขึ้นภาษีศุลกากรที่เก็บจากพวกคู่ค้าของสหรัฐฯในอัตราระหว่าง 10% ถึง 50% ครั้งนี้ ทำให้บรรดาตลาดหลักทรัพย์พากันดำดิ่งมุดดิน หลังจากที่ ทรัมป์ เปิดเผย “คำประกาศความเป็นเอกราชทางเศรษฐกิจ” ซึ่งมีเนื้อหาดุเดือดรุนแรงแบบสุดๆ จนกระทั่งผู้คนในสหราชอาณาจักรนำมาเปรียบเทียบว่า ช่างเหมือนกับตอนที่สหราชอาณาจักรตัดขาดถอนตัวออกมาจากสหภาพยุโรป –หรือ “เบร็กซิต”
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้ชนะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง ด้วยคำมั่นสัญญาว่า ภาษีศุลกากรคือสิ่งที่จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งนั้น ได้ป่าวร้องสนับสนุนให้กลับมาใช้มาตรการจัดเก็บภาษีศุลกากรอย่างกว้างขวางและ “ด้วยความสม่ำเสมออย่างยอดเยี่ยม” เป็นเวลายาวนานหลายสิบปีแล้ว ในระหว่างการแถลงข่าวมาตรการสะท้านโลกครั้งนี้ที่สวนกุหลาบของทำเนียบขาวเมื่อค่ำวันพุธ (2 เม.ย.) เขาก็ย้ำถึงเรื่องนี้ว่า “ผมพูดเรื่องนี้มาตลอดเป็นเวลา 40 ปีแล้ว”
ธุรกิจต่างๆ ตลอดจนนักเศรษฐศาสตร์ และนักการเมืองจำนวนมาก ต่างมองกันว่าแผนการค้าของทรัมป์ คือการดึงดันเชื่อไอเดียที่ผิดๆ อย่างดื้อรั้น, เป็นความคิดที่บกพร่องใช้ไม่ได้ และเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบร้ายแรงติดตามมา บางคนกระทั่งเสนอแนะว่ามันอาจจะเป็นแผนการซึ่งเขียนขึ้นมาโดยโปรแกรมเอไอ แชตจีพีที (ChatGPT) ทว่าทรัมป์เป็นฝ่ายที่ถูกต้องอย่างไม่มีข้อกังขาใดๆ เลย เมื่อมาถึงเรื่องจำนวนปีที่เขาได้ออกมาให้ความสนับสนุนมาตรการเช่นนี้
“นี่ต้องถือเป็นเรื่องไม่ปกติสำหรับทรัมป์ เขาน่ะเป็นนักการเมืองตามแบบฉบับคนหนึ่ง เมื่อพูดกันในทางหนึ่งแล้ว นั่นคือ เขาไม่ได้เชื่ออะไรอย่างลึกซึ้งมากมายหรอก” เป็นการประเมินของ แลร์รี ซาแบโต (Larry Sabato) ผู้อำนวยการของศูนย์กลางเพื่อการเมือง (Center for Politics) แห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย (University of Virginia) เขากล่าวต่อไปว่า แต่ในเรื่องภาษีศุลกากรเป็นสิ่งที่แตกต่างออกไป “สำหรับสิ่งนี้แล้ว เขาดูเหมือนมีความเชื่อเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งมาก”
ย้อนหลังกลับไปถึงปี 1987 ตอนที่ ทรัมป์ ยังเป็นเจ้าพ่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้หิวกระหายชื่อเสียงคนหนึ่ง เขาได้ออกเงินลงโฆษณาขนาดเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์ต่างๆ เรียกร้องให้ใช้ยุทธศาสตร์ชนิดซึ่งเมื่อเขามาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีอยู่ในเวลานี้ กำลังกระทำอยู่ เขาประณามว่าพวกระบบเศรษฐกิจใหญ่ๆของประเทศอื่นๆ ต่างกำลังทำตัวเป็น “เครื่องยักษ์ทำกำไรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ได้เคยมีการสร้างกันมา” ดังนั้น “จงเรียกเก็บ ‘ภาษี’ จากพวกชาติร่ำรวยเหล่านี้ ไม่ใช่มาเรียกเก็บจากอเมริกา” เขาร่ายเหตุผลของเขาแบบนี้ มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว
ครั้นแล้ว 8 ปีหลังจากเริ่มต้นสมัยแรกแห่งการเป็นประธานาธิบดีของเขา และเพียงแค่ 10 สัปดาห์ย่างเข้าสู่สมัยสองของเขา ในที่สุดทรัมป์ก็เริ่มต้นที่จะทำความฝันนั้นของเขาให้กลายเป็นจริงอย่างเอาจริงเอาจัง –และบอกปัดไม่ฟังคำเตือนทั้งหลายที่ว่ามันอาจจะย่ำแย่จนกลายเป็นฝันร้ายสุดสยองเสียมากกว่า
ระหว่างการรณรงค์หาเสียงของเขาเมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์ไม่ได้ปกปิดอำพรางวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ของเขาเลย โดยเขาให้สัญญาว่า ภาษีศุลกากรจะเป็นตัวปลดโซ่ตรวนที่จองจำเศรษฐกิจสหรัฐฯเอาไว้, ฟื้นคืนชีวิตให้แก่บรรดาดินแดนศูนย์กลางอุตสาหกรรมของอเมริกาขึ้นมาใหม่, และถอดกุญแจให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯได้เข้าสู่โชคลาภทางการเงินอันมากมายมหาศาลจากภาษีซึ่งจะเก็บได้เพิ่มขึ้น
แต่หลังจากเสนอภาพการสร้างระเบียบเศรษฐกิจโลกที่ทั้งใหญ่โต, สวยงาม, และห้าวหาญ ขึ้นมาใหม่เช่นนี้แล้ว การปฏิบัติการแรกๆ ของคณะบริหารทรัมป์สมัยสองกลับอยู่ในลักษณะที่ทั้งมีขนาดเล็กจ้อยลงมา, ก่อให้เกิดความปั่นป่วนอย่างเบาบางกว่าที่คุยเอาไว้, อีกทั้งโดยรวมๆ ก็ยังคงอยู่ในอาการลังเลเชื่องช้ากว่าที่ได้แผ้วถางทางตระเตรียมกัน
ตอนแรก จุดโฟกัสได้หดแคบลงอย่างน่าใจหาย จากโลกทั้งโลกลงมาเหลือเพียงประเทศจำนวนหยิบมือหนึ่ง ได้แก่ จีน, แคนาดา, และเม็กซิโก แล้วจากนั้นขณะที่จีนถูกตีกระหน่ำอย่างแรง แต่ภาษีศุลกากรครอบคลุมกว้างขวางที่ประกาศใช้กับแคนาดาและเม็กซิโก กลับถูกขัดจังหวะเอาไว้ก่อนครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งด้วยการเปลี่ยนแปลงกำหนดเส้นตาย, การชะลอออกไปก่อน, และการยกเว้น หลายต่อหลายระลอกจนชวนเวียนศีรษะ
ต่อมาจึงมีการขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมนำเข้ากันจริงๆ กระนั้นวาระด้านการค้าของทรัมป์ส่วนใหญ่แล้วยังคงมีลักษณะเด่นอยู่ที่การข่มขู่และการพ่นน้ำลาย นั่นคือ เต็มไปด้วยถ้อยคำโวหาร ทว่าไม่ใช่ความเป็นจริง
ในวันพุธ (2 เม.ย.) ที่ทรัมป์และพวกผู้ช่วยของเขาเรียกขานว่าเป็น “วันปลดแอก” (Liberation Day) นั้น เขาพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นมาเสียที หลังจากมีแต่การโลเลแกว่งไปแกว่งมา, ความสงสัยข้องใจ, และความสับสนวุ่นวาย มาอย่างยาวนานเป็นสัปดาห์ๆ --และประกาศบังคับใช้ภาษีศุลกากรที่มีเนื้อหาครอบคลุมทั่วถึง ในลักษณะ “เป็นมาตรการตอบโต้” ซึ่งเขาให้คำมั่นมาหลายครั้งเต็มทีในระหว่างการรณรงค์ต่อสู้เพื่อช่วงชิงทำเนียบขาวอีกสมัยหนึ่ง ว่าจะนำเอามาใช้
มาตรการดังกล่าวนี้ ทรัมป์ตัดสินใจเดินหน้าไปตาม “กึ๋น” ของเขาเอง โดยไม่แยแสใส่ใจใดๆ กับคำทำนายและความกังวลห่วงใยของบรรดานักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักตลอดจนแวดวงบริษัทธุรกิจทั้งหลาย เรื่องนี้ทำเอา ซาแบโต อุทานออกมาว่า “นี่คือพฤติการณ์ตามแบบฉบับของพวกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องเบร็กซิตของแท้เลยใช่ไหมล่ะ พวกเขาเชื่อมันจริงๆ อย่างล้ำลึก จนถึงแกนกลางแห่งจิตวิญญาณของพวกเขาเลยทีเดียว”
ระหว่างการแถลงของเขาเมื่อวันพุธ (2 เม.ย.) มีอยู่ช่วงหนึ่ง ทรัมป์ เปลี่ยนบทบาทของเขาจากประธานาธิบดีไปเป็นนักประวัติศาสตร์ โดยกล่าวว่า “เมื่อปี 1913 ด้วยเหตุผลอะไรแน่ๆ นั้น มนุษยชาติยังคงไม่ทราบกัน พวกเขาได้กำหนดจัดทำเรื่อง ภาษีเงินได้ (income tax) ขึ้นมา” เพื่อเป็นการแผ้วถางทางให้แก่การลดภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บกับพวกสินค้านำเข้าจากต่างประเทศลงอย่างฮวบฮาบ “จากนั้น พลเมืองภายในประเทศ แทนที่จะเป็นต่างประเทศ ก็เริ่มต้นเป็นผู้จ่ายเงินที่จำเป็นต้องนำไปใช้สำหรับการดำเนินงานของรัฐบาลของเรา”
หลังจากเวลาผ่านไปหลายๆ ทศวรรษ ความมั่งคั่งรุ่งเรืองของสหรัฐฯก็ “มาถึงจุดจบอย่างฉับพลัน” จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) นับตั้งแต่ปี 1929 “ศาสตราจารย์” ทรัมป์แสดงความคิดเห็นที่สวนกุหลาบของทำเนียบขาว ต่อหน้าชั้นเรียนของเขาซึ่งประกอบไปด้วยพวกผู้ช่วย, ประดารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ , และพวกผู้สนับสนุน “มัน (ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่) จะเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นมาเลย ถ้าหากพวกเขายังคงยึดมั่นอยู่กับนโยบายภาษีศุลกากร” เขากล่าวอ้าง “มันจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยที่แตกต่างออกไปอย่างมากมาย”
ปรากฏว่ามีนักประวัติศาสตร์ตัวจริงเสียงจริงหลายรายออกมาโต้แย้งเรื่องเล่าเรื่องนี้ของ “ศาสตราจารย์” ทรัมป์ “นี่คือสิ่งที่เราควรจะเรียกกันว่า เรื่องโกหก เรื่องเท็จร เรื่องไม่จริง” เป็นคำกล่าวของ แอนดรูว์ โคเฮน (Andrew Cohen) ศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์ของวิทยาลัยแมกซ์เวลล์ (Maxwell School) แห่งมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ (Syracuse University) รัฐนิวยอร์ก, สหรัฐฯ “เขาพูดมาผิดหมดเลย ไม่มีใครคิดอย่างนั้นหรอก แม้กระทั่งพวกนักเศรษฐศาสตร์หัวอนุรักษนิยมก็ยังไม่คิดแบบนั้นเลย แม้กระทั่งพวกนักเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวคิดแบบนักกีดกันการค้าก็ไม่คิดแบบนั้น”
หลังจากตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่คราวนั้นมาหลายเดือน สหรัฐฯก็ได้ออกรัฐบัญญัติภาษีศุลกากร สมูต-ฮาวลีย์ ปี 1930 (Smoot-Hawley Tariff Act of 1930) ซึ่งได้ขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้านำเข้าหลายหมื่นรายการ ในความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯเอง ทว่าในปัจจุบันกลับถูกพิจารณากันอย่างกว้างขวางว่ามันคือตัวการที่ทำให้วิกฤตการณ์คราวนี้ยืดเยื้อออกไป และกระทั่งยิ่งหยั่งรากลงลึกไปอีก แล้วต่อจากมาก็ไม่มีประธานาธิบดีสหรัฐฯคนไหนเคยพยายามใช้ยุทธวิธีเดียวกันนี้ –จวบจนกระทั่งมาถึงตอนนี้นั่นแหละ
การคัดค้านโต้แย้งอย่างรวดเร็วต่อการวิจารณ์อดีตของ ทรัมป์ ปรากฏว่าได้ถูกแซงหน้าไปอย่างรวดเร็ว จากกระแสตอบโต้ต่อการทำนายอนาคตอย่างทะเยอทะยานของเขา
โดยในการแถลงเมื่อวันพุธ (2 เม.ย.) ครั้งเดียวกันนี้ ทรัมป์ให้สัญญาว่าสหรัฐฯกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคทองครั้งใหม่ โดยที่ผู้คนเป็นล้านๆ จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ ให้ทำ, มีเงินทองเพิ่มมากขึ้นเป็นหมื่นล้านแสนล้านดอลลาร์จากการส่งออกที่เติบโตขยายตัวของสหรัฐฯ และอีกหลายล้านล้านดอลลาร์ด้วยรายรับจากอัตราภาษีศุลกากรที่ขยับสูงขึ้นไป ทั้งนี้ ภาพอนาคตสุดสดใสดังกล่าวนี้ นอกเหนือจากคณะบริหารทรัมป์เองแล้ว ใครๆ อื่นๆ ต่างพากันแสดงความข้องใจสงสัย
“ภาษีศุลกากรของทรัมป์ เป็นหลักหมายแสดงถึงการปลดแอกหลุดลอยออกมาจากผลประโยชน์ทั้งแหลายแหล่ซึ่งธุรกิจต่างๆ ของอเมริกันและผู้บริโภคชาวอเมริกันเคยได้รับอยู่จากการค้าเสรี” นี่คือคำพูดแกมเหน็บแนมของ เอสวาร์ ปราสาด (Eswar Prasad) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายการค้าแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University) และเป็นอดีตเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทาศ (ไอเอ็มเอฟ) “ทรัมป์เพิ่งประกาศทำศึกทางการค้ากับพวกคู่ค้ารายใหญ่ๆ ของสหรัฐฯโดยในทางปฏิบัติแล้วก็คือทำกับทุกๆ รายเลย ไม่มียกเว้นว่าใครเป็นพันธมิตรใครเป็นปรปักษ์คู่แข่งขัน” เขากล่าวต่อ พร้อมกับระบุว่าด้วยการกระทำเช่นนี้ มันจะ “ก่อให้เกิดความสะดุดติดขัดอย่างสาหัสร้ายแรงให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยที่ผลลัพธ์ต่างๆ จะเป็นที่รู้สึกกันได้ของบรรดาผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ ของอเมริกา เรียกได้ว่าในทุกๆ อุตสาหกรรม”
ใครกันล่ะที่จะต้องเป็นคนจ่ายเงินให้แก่เรื่องนี้? ประธานาธิบดีทรัมป์และเหล่าผู้ช่วยของเขาตอบว่า พวกประเทศอื่นๆ ในโลกที่ถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มนั่นไง ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ภาษีศุลกากรซึ่งเก็บจากสินค้านำเข้านั้น คนที่จ่ายก็คือพวกบริษัทและผู้บริโภคที่นำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศอื่นๆ ของโลก –ซึ่งในกรณีนี้ ก็คือพวกบริษัทและผู้บริโภคสหรัฐฯ— ไม่ใช่พวกบริษัทต่างประเทศที่เป็นคนส่งออกสินค้าเหล่านี้มายังอเมริกา
ภาษีศุลกากรของทรัมป์จะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่ครัวเรือนสหรัฐฯเฉลี่ยแล้วครัวเรือนละ 3,800 ดอลลาร์ทีเดียว ทั้งนี้ตามการศึกษาของแล็ปทางด้านงบประมาณแห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale Budget Lab)
“การขึ้นภาษีศุลกากรเหล่านี้น่าจะเป็นการขึ้นภาษีอย่างใหญ่โตมโหฬารที่สุดในทางใดทางหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯเลยทีเดียว และจะก่อให้เกิดผล (ถ้าหากถูกนำไปปฏิบัติอย่างเต็มที่) ในรูปของการมีอัตราภาษีศุลกากรบางอย่างบางประการ อยู่ในระดับสูงที่สุดเท่าที่สหรัฐฯได้เคยเห็นกันมา” เป็นความเห็นในข้อเขียนของ เจเรมี ฮอร์เพดาห์ล (Jeremy Horpedahl) นักวิชาการวุฒิคุณ (adjunct scholar) ที่สถาบันคาโต (Cato Institute) หน่วยงานคลังสมองแนวทางอิสรเสรีนิยม (libertarian) ชื่อดังแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ โดยที่เขาชี้ด้วยว่ามันกระทั่งอาจจะสูงเกินกว่าระดับในยุคหลังรัฐบัญญัติสมูต-ฮาวลีย์ (post-Smoot-Hawley) ของช่วงทศวรรษ 1930 ด้วยซ้ำ
“เหมือนๆ กับภาษีศุลกากรทั้งหลายทั้งปวง สัดส่วนใหญ่โตทีเดียวของภาษีที่จัดเก็บขึ้นใหม่เหล่านี้ จะจ่ายโดยพวกผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ ของสหรัฐฯในรูปลักษณ์ของการที่สินค้านั้นๆ มีราคาสูงขึ้น” ฮอร์เพดาห์ล กล่าวต่อ
ถ้าหาก ทรัมป์ เป็นฝ่ายถูกต้อง และความฝันยาวนานหลายทศวรรษของเขาสามารถที่จะชุบชีวิตระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกรายนี้ขึ้นมาใหม่ได้จริงๆ, ทำให้พลเมืองของอเมริการ่ำรวยขึ้นมา, และเปลี่ยนแปลงฐานทางอุตสาหกรรมของสหรัฐฯให้กลายเป็นทหาอำนาจทางอุตสาหกรรมการผลิต คณะบริหารของเขาก็จะกลายเป็นหนึ่งในคณะบริหารสหรัฐฯที่ประสบความสำเร็จที่สุดในความทรงจำแห่งยุคสมัยใหม่
แต่ถ้าหากเขาเป็นฝ่ายผิด บรรดาชาวอเมริกันที่เป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้งเขาในปีที่แล้ว ด้วยความหวังจะให้เขาลดค่าครองชีพลงมาโดยเร็ว ก็น่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหนักหน่วงที่สุด
“มันจะต้องเป็นไปในทางใดทางหนึ่ง ถ้าไม่ใช่ไปในทางที่ทรัมป์และทีมงานของเขาเชื่อ มันก็จะไปในทางที่พวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมากประสบการณ์ส่วนใหญ่ส่วนข้างมากทั้งหลายเชื่อกัน” ซาแบโต บอก “ตัวผมเองนั้น ผมทราบดีว่าผมวางเดิมพันเอาไว้ข้างไหน”
(อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษของข้อเขียนชิ้นนี้ได้ที่ https://www.theguardian.com/us-news/2025/apr/04/trump-tariffs-economy)