รัฐบาลจีนประกาศตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.) ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าปักกิ่งจะหันไปแสวงหาสินค้าเกษตรนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ เช่น บราซิล มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงที่สหรัฐฯ ประกาศสงครามการค้ากับจีนในรัฐบาลทรัมป์เทอมหนึ่ง
ปักกิ่งได้แถลงมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ หลายอย่าง ซึ่งรวมถึงคำสั่งรีดภาษี 34% จากสินค้านำเข้าอเมริกันทุกชนิด โดยบวกเพิ่มจากอัตรา 10-15% ที่เคยเก็บจากสินค้าเกษตรสหรัฐฯ รวมมูลค่า 21,000 ล้านดอลลาร์ไปเมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค.
แจ็ค สโกวิลล์ รองประธาน Price Futures Group ในนครชิคาโก ระบุว่า “มาตรการนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจส่งออกของสหรัฐฯ... เรากำลังทำให้ทุกฝ่ายไม่พอใจ และนั่นคือปัญหา เราจะหันไปหาใครได้อีกในเมื่อเรารีดภาษีพวกเขาไปทั่ว”
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าถั่วเหลืองในตลาด Chicago Board of Trade (CBOT) ปรับตัวลดลง 34 เซนต์ครึ่งมาอยู่ที่ 9.77 ดอลลาร์ต่อบูเชล (bushel) ลดลง 3.4% จากเมื่อวันพฤหัสบดี (3) และถือเป็นราคาต่ำสุดในชาร์ตของปี 2025
“มันไม่ต่างอะไรกับการปิดประตูนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ และเราไม่มั่นใจว่าจะยังคงมีการนำเข้าได้อีกหรือไม่ หากถูกเก็บภาษีถึง 34%” ผู้ค้าจากบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ซึ่งจำหน่ายธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมันให้กับจีน ระบุ
ด้านผู้จำหน่ายธัญพืชอีกรายในยุโรประบุว่า สหภาพยุโรปซึ่งประกาศแล้วว่าจะตอบโต้มาตรการรีดภาษีของสหรัฐฯ น่าจะมีการสั่งขึ้นภาษีถั่วเหลืองนำเข้าจากอเมริกาด้วยเช่นกัน
คำสั่งรีดภาษีเมื่อช่วงเดือน มี.ค. เป็นตัวเร่งให้จีนลดการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ และเพิ่มการสั่งซื้อจากบราซิล ซึ่งคาดว่าจะสามารถส่งออกถั่วเหลืองไปยังจีนได้มากเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาส 2
“บราซิลจะเป็นประเทศที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดที่สามารถส่งถั่วเหลืองไปจีนทดแทนสหรัฐฯ ได้ แต่ชาติอื่นๆ ก็อาจจะได้ประโยชน์ด้วยเหมือนกัน เช่น อาร์เจนตินาและปารากวัย ในส่วนของข้าวสาลีประเทศที่คาดว่าจะได้ประโยชน์มากก็คือ ออสเตรเลียและอาร์เจนตินา” คาร์ลอส เมรา ประธานฝ่ายวิจัยตลาดสินค้าเกษตรของ
ทรัมป์ ได้กำหนดอัตราภาษีศุลกากรขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้าทุกชนิดที่นำเข้าสหรัฐฯ โดยมีผลตั้งแต่ 5 เม.ย. และยังสั่งรีดภาษีเพิ่มเป็นพิเศษกับสินค้าจากอีกหลายประเทศ รวมถึงจีนที่โดนเพิ่ม 34% ซึ่งเมื่อรวมกับของเดิมจะกลายเป็น 54% ในความเคลื่อนไหวที่ทำให้สงครามการค้าทวีความร้อนระอุขึ้นทั่วโลก
แม้จีนจะยังคงเป็นตลาดสินค้าเกษตรใหญ่ที่สุดสำหรับสหรัฐอเมริกา ทว่ามูลค่าการนำเข้าก็ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยลงมาเหลือแค่ 29,250 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 จากสถิติ 42,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2022
เมื่อวันศุกร์ (4) จีนยังได้ยกเลิกเอกสารบางอย่างที่จำเป็นสำหรับการนำเข้าข้าวฟ่างจากบริษัท C&D (USA) Inc. ซึ่งเป็นบริษัทของจีนเองในสหรัฐฯ โดยอ้างเรื่องความปลอดภัยอาหาร นอกจากนี้ยังยกเลิกเอกสารนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกและเนื้อติดกระดูกจากอีก 3 บริษัท ได้แก่ American Proteins, Mountaire Farms of Delaware และ Darling Ingredients
ที่มา: รอยเตอร์