สหรัฐฯกำลังมุ่งหน้าสู่ "การล่มสลายทางการเงิน" และสภาคองเกรสควรใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อกอบกู้การควบคุมทางการคลัง แทนที่จะเอาแต่มองสร้างหนี้เพิ่มเติม จากเสียงเตือนของมหาเศรษฐี ไมเคิล บลูมเบิร์ก
อดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์ก ส่งเสียงเตือนในวันอังคาร(1เม.ย.) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ภาวะล่มสลายทางการเงินใกล้เข้ามาแล้ว ในสำนักข่าวบลูมเบิร์ก สื่อมวลชนที่เขาจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ความเห็นของเขาเป็นไปในทิศทางเดียวกับการประมาณล่าสุดของสำนักงานงบประมาณแห่งสภาคองเกรสสหรัฐฯ (CBO) ที่บ่งชี้ว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณสหรัฐฯและหนี้สินของรัฐบาลกลาง กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้อยู่ในอัตราที่ช้ากว่าที่เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้เมื่อ 1 ปีก่อน
"ตัวเลขประมาณการอันเลวร้ายนี้ เป็นการส่งสารอย่างชัดเจนว่า มันจะเป็นอะไรที่น่ากลัว จนกว่าสภาคองเกรสจะเบี่ยงเส้นทางอย่างเร่งด่วน" บลูมเบิร์กเตตือน พร้อมชี้ว่าสหรัฐฯกำลังมุ่งหน้าสู่ภาวะ "ล่มสลายทางการคลัง" เนื่องจากคาดหมายว่าหนี้สาธารณะจะยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นนี้หรือมากกว่านี้ต่อไปอีกหลายทศวรรษ
"ปัจจุบันรัฐบาลกลางใช้จ่ายเงินราวๆ 7 ล้านล้านดอลลาร์ แต่จัดเก็บภาษีได้เพียงปีละ 5 ล้านล้านดอลลาร์ ผลลัพธ์คือขาดดุลงบประมาณเกือบๆ 6% ของจีดีพี" เขาเขียน พร้อมชี้ว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯจะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในทศวรรษนี้
ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ยังได้วิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอปรับลดภาษี ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สัญญาไว้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นเดียวกับมาตรการรีดภาษีสินค้านำเข้าที่ประธานาธิบดีกำลังเดินหน้า อ้างว่าเพื่อคืนความสมดุลแก่การค้า "ผลกระทบของมาตรการรีดภาษีต่อรายได้โดยรวม ดูเหมือนจะออกมาในแง่ลบ เพราะว่ามาตรการรีดภาษีจะกลายเป็นตัวกดกิจกรรมทางกาค้าและการสร้างงาน"
บลูมเบิร์ก บอกต่อว่าความพยายามปรับลดการใช้จ่ายที่รัฐบาลทรัมป์กำลังดำเนินการอยู่ ดูเหมือนจะไม่ส่งผลกระทบใดๆในระยะยาวต่องบประมาณ แต่มันกลับก่อความเสียหายแก่การบริการสาธารณะและสร้างความโกรธเคืองแก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ที่ได้เห็น "สวนสาธารณะทั้งหลายถูกปิด ระบบดูแลสุขภาพกำลังเสื่อมทรามลง และยอดตายจากโรคติดต่อกำลังกลายเป็นเรื่องปกติมากกว่าเดิม"
ทั้งนี้ บลูมเบิร์ก แนะนำว่าแทนที่จะมุ่งเน้นการปรับดการใช้จ่ายอย่างมโหฬาร ทางรัฐบาลสหรัฐฯควรปรับขึ้นภาษีอย่างระมัดระวัง พร้อมกับค่อยๆการใช้จ่ายและคงไว้ซึ่งมาตรการส่งเสริมการเติบโตบางอย่าง อย่างเช่น "การลดหย่อยภาษีเงินได้มากกว่ามาตรฐานและเพิ่มสิ่งจูงใจการลงทุนมากขึ้น เพื่อลดตัวเลขประมาณการขาดดุลงบประมาณอย่างยั่งยืน"
(ที่มา:บลูมเบิร์ก/อาร์ทีนิวส์)