มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับบรรดารัฐสมาชิกนาโตผู้เป็นกังวล ในวันพฤหัสบดี(3เม.ย.) ว่าวอชิงตันยังคงมีพันธสัญญากับพันธมิตรทหารแห่งนี้ แต่ต้องยินยอมเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันตนเองให้ถึงระดับเป้าหมาย และอเมริกาจะให้เวลาพวกเขาสักพักในการทำเช่นนั้น
ความเห็นของรูบิโอ มีขึ้นในระหว่างที่เขาพบปะกับบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของนาโต ที่รวมตัวกันในกรุงบรัสเซลส์ ในขณะที่พวกเจ้าหน้าที่ยุโรปบางชาติบอกว่าพวกเขารู้สึกมีความมั่นใจขึ้น จากเสียงเน้นย้ำพันธสัญญาที่มีต่อพันธมิตรทหารแห่งนี้ ในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดจากมาตรการรีดภาษีรอบใหม่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังโหมกระพือหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ
คำพูดและการกระทำของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้ก่อคำถามเกี่ยวกับอนาคตของนาโต พันธมิตรทหารข้ามแอตแลนติกที่เป็นเสาหลักความมั่นคงของยุโรปในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา
รูบิโอ ปฏิเสธความคลางแคลงใจต่างๆต่อพันธสัญญาของสหรัฐฯที่มีกับพันธมิตรทหารนาโต ว่าเป็นโรคหวาดระแวงอันเลยเถิด "สหรัฐฯยังอยู่ในนาโต สหรัฐฯยังเคลื่อนไหวอยู่ในนาโตอย่างที่เคยเป็นมา" เขาบอกกับพวกผู้สื่อข่าว "เขาไม่ได้ต่อต้านนาโต" รูบิโอพูดถึงทรัมป์ "เขาต่อต้านนาโตที่ไม่มีศักยภาพที่จำเป็นสำหรับทำตามภาระผูกพันต่างๆในสนธิสัญญา ที่กำหนดไว้สำหรับแต่ละรัฐและทุกๆรัฐ"
ทรัมป์ บอกว่าพันธมิตรทหารแห่งนี้ควรใช้จ่ายในด้านกลาโหม ในระดับ 5% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับเป้าหมายในปัจจุบัน 2% และระดับที่ไม่เคยมีชาติสมาชิกนาโตรายใด ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ ก้าวไปถึงมาก่อน
วอชิงตันยังพูดจาโผงผางบอกกับบรรดาชาติยุโรป ว่าสหรัฐฯไม่อาจมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับความมั่นคงของทวีปแห่งนี้ เป็นลำดับต้นๆอีกต่อไป
เป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่บรรดาพันธมิตรยุโรปพยายามเสาะหาอย่างเป็นกังวล ต่อรายละเอียดต่างๆของกรอบเวลาและขอบเขตที่สหรัฐฯอาจลดการมีส่วนร่วมในนาโต เพื่อประสานงานกระบวนการที่จะยกระดับการป้องกันยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงช่องว่างด้านความมั่นคง ในกรณีที่ถูกอเมริกาปลีกตัวออกห่าง
อย่างไรก็ตาม รูบิโอ บอกว่า "เราต้องการออกจากที่นี่ พร้อมกับความเข้าใจว่า เรากำลังอยู่บนเส้นทางหนึ่งๆ เส้นทางแห่งความเป็นจริง ที่ทุกๆรัฐสมาชิกให้คำมั่นและเติมเต็มคำสัญญาใช้จ่ายด้ายกลาโหมแตะระดับ 5%" เขากล่าว พร้อมระบุว่าในนั้นรวมถึงสหรัฐฯด้วย "ไม่มีใครคาดหมายว่าพวกเขาจะทำสิ่งนี้ได้ภายในปีเดียวหรือ 2 ปี แต่จำเป็นต้องทำให้เส้นทางนี้เป็นจริง"
เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของยุโรป ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามบอกว่าการประชุมกับรูบิโอ ได้สร้างความอุ่นใจอย่างมาก "การประชุมนี้ไม่ใช่การเผชิญหน้า แค่พันธมิตรต้องทำมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่มีการทุบตีใดๆ"
กระนั้นการใช้จ่ายด้านกลาโหมให้ถึง 5% ของจีดีพี ดูเป็นเรื่องยากสำหรับหลายชาติสมาชิกนาโต
จากการคาดการณ์ของนาโต แม้แต่สมาชิกเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของทวีปบางชาติ อย่างเช่น อิตาลีและสเปน ก็ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้จ่ายงบประมาณกลาโหมต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 2% ของปัจจุบัน อยู่ที่แค่ 1.5% และ 1.3% ตามลำดับ กระนั้นมีถึง 23 ชาติ จากสมาชิกทั้งหมด 32 ประเทศของนาโต ที่ใช้จ่ายด้านกลาโหมในระดับเป้าหมาย 2% ของจีพีดีหรือมากกว่านั้น ในปีที่แล้ว
"ในขณะนี้ ผมคิดว่าระดับ 5% บางทีนั้นอาจสูงเกินไป" รัฐมนตรีต่างประเทศโปรตุเกสกล่าว พร้อมเน้นว่าโปรตุเกส ซึ่งใช้จ่ายงบประมาณกลาโหม 1.55% ของจีพีดีเมื่อปีที่แล้ว จำเป็นต้องทำให้ได้ 2% ก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นค่อยมีแผนสำหรับทำให้ได้ตามเป้าหมายใหม่ที่พันธมิตรจะกำหนดขึ้น ณ ที่ประชุมครั้งถัดไป
(ที่มา:รอยเตอร์/เอเอฟพี)