กองทัพสหรัฐฯจะไม่พร้อมสำหรับทำสงครามยืดเยื้อกับจีน สืบเนื่องจากจุดอ่อนข้อบกพรองต่างๆในฐานอุตสาหกรรมกลาโหมของอเมริกา ทั้งนี้เป็นความเห็นของนายทหารใหญ่ ที่เป็นตัวเลือกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สำหรับก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมคนใหม่ของสหรัฐฯ
ในการให้ปากคำด้วยลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯเมื่อวันอังคาร(1เม.ย.) โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพิจารณารับรองการแต่งตั้งของทางสภาสูง พลอากาศโท จอห์น เคน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสถานะเป็นนายทหารปลดเกษียณ กล่าวเน้นย้ำว่าความเป็นปรปักษ์กับจีนยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นกดดันมากที่สุดซึ่งสหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่เวลานี้
"ภัยคุกคามจากจีนต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯในอินโด-แปซิฟิกนั้นเป็นเรื่องจริงและหนักหน่วงมากขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐฯจำเป็นต้องทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนทั้งหลาย เพื่อป้องปรามความก้าวร้าวของจีนในภูมิภาคนี้" เขากล่าวอ้าง
อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่าปัจจุบันสหรัฐฯไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะตอบโต้กับสิ่งที่มองเห็นกันว่าเป็นภัยคุกคามดังกล่าวนี้ โดยเขาแจกแจงว่า ถือเป็นเคราะห์ร้าย ที่ในช่วงเวลาอันสำคัญยิ่งยวดนี้ กองทัพต่างๆ ของสหรัฐฯที่จะต้องปฏิบัติการร่วมกัน ต่างกำลังเผชิญความยากลำบากในกระบวนการจัดหาจัดซื้อพวกทรัพยากร, ยุทโธปกรณ์, และระบบอาวุธ ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติภารกิจ ขณะที่ฐานอุตสาหกรรมกลาโหมของอเมริกาก็ไม่ได้อยู่ในสภาพทรงประสิทธิภาพที่สุดสำหรับการรับมือกับการสู้รบขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ทั้งนี้ สหรัฐฯไม่มีทั้งความสามารถในการผลิตและจัดส่งอาวุธให้ได้ปริมาณที่น่าพอใจภายในระยะเวลาอันจำกัด (throughput), การตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว, ตลอดจนความคล่องตัว ที่จำเป็นสำหรับการป้องปรามเหล่าอริศัตรู เคน กล่าว
เคน ระบุว่าอินโด-แปซิฟิก คือยุทธบริเวณหลักแห่งหนึ่งสำหรับสหรัฐฯ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า กองทัพจีน “ได้ดำเนินการยกระดับการปรับปรุงด้านการทหารให้ดีขึ้นอย่างสำคัญ ในนั้นรวมถึงปรับแก้โครงสร้างทางทหาร, การใช้ระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งผลิตขึ้นมาเองที่มีความทันสมัย" พร้อมบอกว่า "ในเชิงตัวเลขแล้ว จีนมีกองทัพเรือใหญ่ที่สุดในโลก"
อย่างไรก็ตามเขาบอกว่า ปักกิ่งยังคงมีจุดด้อยข้อบกพร่องต่างๆในเรื่องความชำนาญด้านการบังคับบัญชา, การส่งกำลังบำรุงระยะไกล, การสงครามในเขตเมือง, และขาดแคลนประสบการณ์ในการสงครามสมัยใหม่อย่างเห็นได้ชัด
เคน ยังพูดภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้างออกไป โดยแสดงความเห็นว่าในขณะที่จีน รัสเซียและเกาหลีเหนือ กำลังมีการประสานความร่วมมือกันในระดับจำกัด แต่ "ประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้มีการกระทำการอย่างเป็นกลุ่มก้อน รวมทั้งพวกเขาไม่มีแนวโน้มมุ่งหน้าสู่ความเป็นพันธมิตรในแบบเดียวกับนาโต"
(ที่มา: อาร์ที)