xs
xsm
sm
md
lg

ทรัมป์จัดเต็มสั่งรีดภาษีอ่วมทั้งพันธมิตร-คู่แข่ง สงครามการค้าระอุหนัก จีน-อียูพร้อมตอบโต้กลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรครั้งใหม่อย่างมโหฬาร เล่นงานประเทศคู่ค้าแทบทุกรายของสหรัฐฯไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรที่ชิดเชื้ออย่างสหภาพยุโรป ซึ่งเจอเข้าไป 20% หรือปรปักษ์คู่แข่งขันอย่างจีนที่โดนรีด 34% จุดชนวนให้เกิดการข่มขู่ที่จะตอบโต้เอาคืนกันอย่างอึกทึกในวันพฤหัสบดี (3 เม.ย.) กลายเป็นการเพิ่มความตึงเครียดที่จะเกิดสงครามการค้าระดับโลก ซึ่งมีหวังเป็นอันตรายทำให้เงินเฟ้อขึ้นลิ่ว รวมทั้งยิ่งเพิ่มความหวาดกลัวที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ด้านประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ถูกถล่มจากมาตรการล่าสุดของทรัมป์หนักที่สุด เป็นต้นว่า ลาวถูกเก็บในอัตรา 48%, กัมพูชา 49%, พม่า 44% และไทย 36%

มาตรการลงโทษทางการค้าอย่างกว้างขวางที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันพุธ (2 ) คราวนี้ ยังทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกปั่นป่วนผันผวน ตลอดจนเรียกเสียงประณามจากผู้นำประเทศต่างๆ ท่ามกลางสัญญาณว่า ยุคแห่งการค้าเสรีที่กำหนดกรอบระเบียบโลกมาหลายทศวรรษกำลังจะสิ้นสุดลง

ตามแผนการที่เขาประกาศล่าสุดนี้ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรพื้นฐาน 10% โดยเรียกเก็บจากสินค้าต่างประเทศทั้งหมดที่นำเข้าอเมริกา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. พร้อมกันนั้นก็จัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ในอัตราสูงขึ้นลดหลั่นกันไป จากพวกประเทศคู่ค้าหลายสิบราย ซึ่งทรัมป์ตราหน้าว่าเป็นพวกผู้ละเมิดทางการค้าอย่างร้ายแรง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.

ทรัมป์ประกาศมาตรการนี้หลังจากตลาดวอลล์สตรีทปิดการซื้อขายทางกายภาพในวันพุธ (3) แล้ว แต่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เมื่อตลาดแถบเอเชียเปิดทำการวันพฤหัสฯ (3) ดัชนีราคาหุ้นตัวสำคัญๆ ต่างทำสถิติดำดิ่งในรอบหลายเดือน สภาพเช่นนี้ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเปิดการซื้อขายของตลาดทางยุโรป รวมทั้งส่งผลต่อพวกสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในวอลล์สตรีทด้วย

สำหรับปฏิกิริยาจากพวกประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ จีนที่ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้คราวนี้ในอัตรา 34% แต่เมื่อบวกกับที่ถูกทรัมป์รีดภาษีศุลกากรในช่วงเร็วๆ นี้ 2 ระลอกๆ ละ 10% ตัวเลขรวมจึงกลายเป็น 54% ได้ประกาศทันควันว่าจะดำเนินการตอบโต้ เช่นเดียวกับทางสหภาพยุโรป แม้ฝ่ายหลังจะยังคงมีน้ำเสียงที่อ่อนลงมา

กระทรวงพาณิชย์จีนออกคำแถลงระบุว่า ปักกิ่งจะใช้มาตรการตอบโต้ขั้นเด็ดขาดเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของประเทศ หลังจากตอนที่ถูกรีดภาษีศุลกากร 2 ครั้งก่อนหน้านี้ แดนมังกรก็ตอบโต้ไปแล้วด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรซึ่งเก็บจากพวกสินค้าเกษตรนำเข้าจากอเมริกา รวมทั้งจำกัดการส่งออกแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตของอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ไปยังสหรัฐฯ

คำแถลงของจีนยังเรียกร้องให้อเมริกายกเลิกมาตรการขึ้นภาษีตามอำเภอใจฝ่ายเดียวในทันที หันหน้ามาแก้ปัญหากับคู่ค้าด้วยการเจรจาอย่างเท่าเทียม

ขณะที่ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานของคณะกรรมการยุโรป ที่เป็นองค์กรบริหารของอียู กล่าวเตือนว่า มาตรการภาษีของทรัมป์จะส่งผลลบต่อประชากรหลายล้านคนทั่วโลก และเสริมว่า บรัสเซลส์เตรียมพร้อมตอบโต้หากการเจรจากับวอชิงตันล้มเหลว

นายกรัฐมนตรีฟรังซัวส์ เบย์รูของฝรั่งเศส ยอมรับว่า ยุโรปเผชิญปัญหาใหญ่มาก แต่เขาคิดว่า อเมริกาและคนอเมริกันต้องเจอหายนะเช่นเดียวกัน

ขณะพวกนักวิเคราะห์หลายรายมองว่า สงครามการค้าที่ลุกลามไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศใดๆ เลย

มัตเตโอ วิลลา นักวิเคราะห์อาวุโสของสถาบันเพื่อการศึกษาการเมืองระหว่างประเทศของอิตาลี ชี้ว่า ถ้าทรัมป์ขึ้นภาษีศุลกากรสูงมาก ยุโรปจะต้องตอบโต้ทั้งที่การนิ่งเฉยดูจะเป็นการดีกว่า ในทางกลับกัน ดูเหมือนทรัมป์จะรู้จักแต่การใช้กำลัง ซึ่งบ่งชี้ความจำเป็นในการตอบโต้อย่างรุนแรงทันที และอียูอาจหวังว่า มาตรการตอบโต้ของตนจะแรงพอโน้มน้าวให้ทรัมป์หันมาเจรจาหรือยกเลิกภาษีโดยเร็ว

ทว่า ก่อนหน้านั้น สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ขู่ว่า หากขืนตอบโต้ ก็รังแต่ทำให้ประเทศเหล่านั้นถูกอเมริการีดภาษีหนักขึ้น

ในบรรดาพันธมิตรใกล้ชิดของอเมริกานั้น อียูถูกเรียกเก็บภาษี 20%, ญี่ปุ่น 24%, เกาหลีใต้ 25% และไต้หวัน 32% แม้แต่ดินแดนขนาดเล็กและเกาะที่ไม่มีคนอยู่อาศัยบางแห่งยังไม่รอดจากมาตรการภาษีนี้

อย่างไรก็ดี แคนาดาและเม็กซิโก สองประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอเมริกาที่ถูกเรียกเก็บภาษีไปแล้ว 25% จากสินค้าหลายรายการ ปรากฏว่ารอดพ้นจากมาตรการภาษีล่าสุดของทรัมป์ครั้งนี้

ในกรณีของออสเตรเลีย ประเทศที่มักถูกเรียกขานว่า เป็นผู้ช่วยนายอำเภอของอเมริกา นายกรัฐมนตรีแอนโทนี แอลบานีส วิจารณ์ภาษีของทรัมป์ว่า ขาดตรรกะรองรับและ “เพื่อนกันไม่ทำกันแบบนี้”

สำหรับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของอเมริกาในเอเชีย โยชิมาสะ ฮายาชิ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ถือเป็นหัวหน้าโฆษกรัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยโดยตำแหน่ง เผยว่า โตเกียวจะวิเคราะห์มาตรการภาษีของอเมริกาและผลกระทบอย่างรอบคอบ และแม้ไม่ได้พูดถึงการตอบโต้ แต่เขาบอกว่า ความเคลื่อนไหวนี้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ ทรัมป์อ้างเหตุผลว่า การขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้เช่นนี้ เพื่อเป็นการเอาคืนการเก็บภาษีศุลกากรตลอดจนกำแพงกีดกันการค้าอื่นๆ ที่มิได้อยู่ในรูปภาษี ซึ่งพวกประเทศคู่ค้าต่างๆ ใช้มาขูดรีดปล้นสะดมเอาจากอเมริกาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ พร้อมกันนั้นเขาก็สำทับว่า มาตรการนี้นอกจากทำให้สหรัฐฯมีรายรับจากภาษีเพิ่มมากขึ้นเป็นกอบเป็นกำแล้ว ยังจะเป็นการจูงใจให้มีการลงทุนนำเอาอุตสาหกรรมการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ จึงช่วยส่งเสริมการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอเมริกาในระยะต่อไป

แต่พวกนักเศรษฐศาสตร์ที่อยู่นอกแวดวงของทรัมป์ดูจะมองต่างมุม และพากันเตือนว่า ภาษีศุลกากรตอบโต้เช่นนี้ มีแต่จะฉุดรั้งให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะถดถอย ขณะที่ในอเมริกาเอง จะต้องเจออัตราเงินเฟ้อสูง และค่าครองชีพเฉลี่ยของครอบครัวคนอเมริกันก็จะเพิ่มขึ้นหลายพันดอลลาร์

จากข้อมูลของฟิตช์ เรทติ้งส์ อัตราภาษีนำเข้าของอเมริกาภายใต้คณะบริหารของทรัมป์ขณะนี้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 22% จากแค่ 2.5% เมื่อปีที่แล้ว และถือเป็นระดับสูงสุดนับจากปี 1910

โอลู โซโนลา หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจอเมริกาของฟิตช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า มาตรการภาษีครั้งนี้เป็นตัวเปลี่ยนเกมไม่เฉพาะแต่อเมริกา แต่รวมถึงเศรษฐกิจโลก และหลายประเทศมีแนวโน้มจบลงด้วยภาวะถดถอย หากอเมริกาบังคับใช้มาตรการนี้ยาวนาน

เลิกยกเว้นภาษีให้พัสดุภัณฑ์ขนาดเล็ก

จากเอกสารของทำเนียบขาว ภาษีศุลกากรตอบโต้ครั้งนี้ของทรัมป์ ไม่จัดเก็บจากสินค้าบางรายการ เช่น ทองแดง ยา เซมิคอนดักเตอร์ ไม้แปรรูป ทองคำ พลังงาน และแร่ธาตุบางอย่างที่ไม่มีในอเมริกา

แต่ในอีกด้านหนึ่ง หลังจากประกาศมาตรการภาษีรอบใหม่คราวนี้แล้ว ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับใหม่ ที่มุ่งปิดช่องโหว่ทางการค้าที่เรียกว่า de minimis ซึ่งคือการยกเว้นไม่เก็บภาษีศุลกากรจากพวกพัสดุภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์ ที่จัดส่งจากต่างประเทศเข้าไปยังอเมริกา โดยคำสั่งนี้ครอบคลุมสินค้าจากจีนและฮ่องกง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. โดยทำเนียบขาวอ้างว่า ความเคลื่อนไหวนี้มีจุดประสงค์เพื่อสกัดการนำสารเสพติดเฟนทานิล เข้าสู่อเมริกา

ในวันพุธ คณะบริหารสหรัฐฯ ยังแถลงยืนยันว่า มาตรการขึ้นภาษีศุลกากรจากรถยนต์นำเข้าในอัตรา 25% `ที่ทรัมป์ประกาศไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เริ่มบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันพฤหัสฯ

ไม่เพียงเท่านั้น มีรายงานว่า ทรัมป์ ยังคงเตรียมการเพื่อขึ้นภาษีศุลกากรในลักษณะมุ่งเล่นงานทั้งอุตสาหกรรมเช่นนี้ต่อไปอีกด้วย โดยพุ่งเป้าที่ เซมิคอนดักเตอร์ ยา และอาจรวมถึงแร่ธาตุสำคัญๆ

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ก็เรียกเก็บภาษีศุลกากรจากเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมนำเข้าในอัตรา 25% ตลอดจนขยายไปยังผลิตภัณฑ์ปลายน้ำที่มีมูลค่าเกือบ 150,000 ล้านดอลลาร์

(ที่มา: รอยเตอร์/เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น