xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อนฝูงก็ไม่เว้น! ญี่ปุ่นโอด 'เสียใจ' ถูกสหรัฐฯ รีดภาษี-ชี้ละเมิดกฎ WTO ด้าน EU ลั่นพร้อมตอบโต้แต่ไม่ปิดทางเจรจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ญี่ปุ่นออกมาวิจารณ์คำสั่งรีดภาษีศุลกากรตอบโต้ประเทศคู่ค้าทั่วโลกของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ว่าเป็นเรื่องที่ “น่าเสียใจอย่างยิ่ง” และอาจจะเข้าข่ายละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) รวมไปถึงข้อตกลงการค้าทวิภาคี ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) ลั่นพร้อมใช้มาตรการตอบโต้ แต่ไม่ปิดหนทางเจรจากับวอชิงตัน

แม้บริษัทญี่ปุ่นจะถือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในสหรัฐฯ ทว่าโตเกียวก็ไม่ได้รับการยกเว้น โดย ทรัมป์ ได้ประกาศรีดภาษีนำเข้าจากสินค้าญี่ปุ่นสูงถึง 24%

“ผมได้แจ้งไปแล้วว่า การรีดภาษีฝ่ายเดียวของสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่ง และผมขอเรียกร้องอย่างจริงจังอีกครั้ง (ให้สหรัฐฯ) อย่าทำเช่นนี้กับญี่ปุ่น” โยจิ มูโตะ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

มูโตะ ยืนยันว่าได้เคยหารือกับ โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก่อนที่ ทรัมป์ จะประกาศใช้ฐานภาษีศุลกากรขั้นต่ำ 10% และภาษีสูงเป็นกรณีพิเศษสำหรับบางประเทศ ซึ่งก็ไม่เว้นแม้แต่พันธมิตรทางยุทธศาสตร์อย่างญี่ปุ่น

“ญี่ปุ่น (เป็น) ชนชาติที่แข็งแกร่งทรหดและยิ่งใหญ่ พวกเขารีดภาษีเรา 46% และมากกว่านั้นอีกสำหรับสินค้าบางชนิด... แต่เราเก็บภาษีพวกเขาแค่ 24%” ทรัมป์ ระบุ

มูโตะ กล่าวว่า ตนได้อธิบายให้ ลุตนิก ฟังไปแล้วว่า “การรีดภาษีจะส่งผลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะจะบั่นทอนศักยภาพของบริษัทญี่ปุ่นในการเข้าไปลงทุน”

ด้าน โยชิมาสะ ฮายาชิ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น ย้ำว่ามาตรการของสหรัฐฯ อาจจะเข้าข่ายละเมิดกฎองค์การการค้าโลก (WTO) รวมไปถึงข้อตกลงการค้าทวิภาคีระหว่างทั้ง 2 ชาติด้วย

“เรามีความกังวลอย่างมากว่า มาตรการนี้อาจไม่สอดคล้องกับกฎของ WTO และข้อตกลงการค้าญี่ปุ่น-สหรัฐฯ” เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน แต่เมื่อถูกถามว่าญี่ปุ่นจะขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าอเมริกัน หรือยื่นร้องเรียนต่อ WTO หรือไม่? ฮายาชิ กลับตอบสั้นๆ ว่า “ขอไม่พูดถึงรายละเอียดที่เรากำลังพิจารณาอยู่”

ในช่วงรัฐบาลทรัมป์เทอมหนึ่ง อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ได้ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ดีกับ ทรัมป์ ช่วยให้ญี่ปุ่นได้รับยกเว้นจากมาตรการรีดภาษีของอเมริกามาได้


เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ทรัมป์ ได้เปิดทำเนียบขาวต้อนรับนายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ ซึ่งบรรยากาศการเจรจาก็ดูจะชื่นมื่นและได้เนื้อหาสาระ และผู้นำสหรัฐฯ เองยังกล่าวชื่นชม “ยุคทองใหม่สำหรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น”

อิชิบะ รับปากจะสนับสนุนการลงทุนในสหรัฐฯ มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ และจะเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ ให้มากเป็นประวัติการณ์ด้วย

ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังเตรียมเข้าเป็นหุ้นส่วนในโครงการท่อก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ในรัฐอะแลสกา ตามการเปิดเผยของทรัมป์

กระนั้นก็ดี ญี่ปุ่นก็ยังไม่พ้นถูก ทรัมป์ สั่งรีดภาษีสินค้านำเข้า 24% และยังไม่ได้รับการยกเว้นจากคำสั่งเก็บภาษียานยนต์นำเข้า 25% ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (3) ด้วย

ยานยนต์คิดเป็นสัดส่วน 28% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าจากญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ รวม 21.3 ล้านล้านเยนในปีที่แล้ว และการจ้างงานในญี่ปุ่นราวๆ 8% ผูกโยงอยู่กับอุตสาหกรรมประเภทนี้

ข้อมูลจากสำนักข่าว Bloomberg ระบุว่า ค่ายรถญี่ปุ่นมีการส่งรถยนต์เข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ 1.45 ล้านคันผ่านทางแคนาดาและเม็กซิโกซึ่งบริษัทเหล่านี้เข้าไปตั้งฐานการผลิตอยู่ ส่วนรถยนต์ที่ส่งออกจากญี่ปุ่นเข้าสู่สหรัฐฯ โดยตรงมีอยู่ประมาณ 1.49 ล้านคัน ขณะที่ค่ายรถญี่ปุ่นยังมีการผลิตรถยนต์อีกประมาณ 3.3 ล้านคันในสหรัฐอเมริกา

ในส่วนของสหภาพยุโรป อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกมาเตือนในวันนี้ (3) ว่ายุโรปพร้อมจะตอบโต้คำสั่งรีดภาษีของทรัมป์ แต่ขณะเดียวกันก็ขอให้ประธานาธิบดี ทรัมป์ มาแก้ไขข้อกังวลต่างๆ ผ่านเวทีเจรจาจะดีกว่า

“ดิฉันรู้สึกเสียใจกับทางเลือกเช่นนี้” ฟอน แดร์ ไลเอิน กล่าว

“ดูเหมือนว่าในความสับสนวุ่นวายจะไม่มีระเบียบใดๆ เหลืออยู่ ไม่มีเส้นทางที่ชัดเจนผ่านความยุ่งยากซับซ้อนที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ต่างกำลังเผชิญกันทั่วหน้า”

“เราพร้อมที่จะกำหนดมาตรการตอบโต้เพิ่มเติมเพื่อปกป้องผลประโยชน์และภาคธุรกิจของเรา หากกระบวนการเจรจาไม่เป็นผล”

สหรัฐฯ ประกาศรีดภาษีสินค้ายุโรปในอัตรา 20% หลังจากที่ได้เพิ่มภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้า รวมไปถึงยานยนต์และอะไหล่มาแล้วก่อนหน้านี้

ที่มา: เอเอฟพี
กำลังโหลดความคิดเห็น