ทหารพม่ายิงเตือนขบวนรถของกาชาดจีนเมื่อวันพุธ (2 เม.ย.) อ้างขบวนรถดังกล่าวไม่แจ้งล่วงหน้าและไม่ยอมหยุดรถ ตอกย้ำอุปสรรคความยุ่งยากในการนำความช่วยเหลือไปให้แก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ขณะที่กลุ่มบรรเทาทุกข์เรียกร้องให้กองทัพพม่ายุติการโจมตีกลุ่มกบฏเพื่ออำนวยความสะดวกในแก่การปฏิบัติงานของพวกเขา รวมทั้งรับประกันความปลอดภัยของบุคลากร ตลอดจนเปิดทางเข้าถึงเพื่อช่วยเหลือผู้รอดชีวิตในทุกพื้นที่ทันที
รัฐบาลทหารพม่าประสบความยากลำบากในการบริหารประเทศ นับตั้งแต่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของอองซาน ซูจี เมื่อต้นปี 2021 ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ บริการขั้นพื้นฐานเสียหายอย่างหนัก โดบเฉพาะหลังจากสงครามกลางเมืองขยายตัวออกไปเรื่อยๆ
ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารพม่า แถลงในวันพุธว่า ขบวนรถที่มีด้วยกัน 9 คันของกาชาดจีนไม่แจ้งทางการล่วงหน้าก่อนเข้าสู่หมู่บ้านโอมมาติ ทางตอนเหนือของรัฐชาน ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า เมื่อคืนวันอังคาร (1) ทีมรักษาความปลอดภัยจึงยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อเตือนเมื่อขบวนรถดังกล่าวไม่ยอมหยุดรถ
ขณะที่ กัว เจียคุน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงในวันเดียวกันว่า ทั้งทีมเจ้าหน้าที่และสิ่งบรรเทาทุกข์ ต่างปลอดภัยดีและกำลังเดินทางไปส่งข้าวของที่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่าซึ่งได้รับความเสียหายหนัก เนื่องจากอยู่ใกล้จุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวรุนแรง 7.7 แมกนิจูดครั้งนี้ พร้อมกันนั้น โฆษกผู้นี้ก็เรียกร้องทุกฝ่ายในพม่ารับประกันความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่กู้ภัยและบรรเทาทุกข์
จีนเป็นประเทศที่มีความสำคัญมากในทางเศรษฐกิจสำหรับพม่า เวลาเดียวกันก็ยังเป็นหนึ่งในผู้จัดหาอาวุธให้แก่รัฐบาลทหารพม่า นอกเหนือจากรัสเซีย
ทอม แอนดรูส์ เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าที่ได้รับมอบหมายจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องผ่านแพลตฟอร์มเอ็กซ์ให้กองทัพพม่ายุติการโจมตีเพื่ออำนวยความสะดวกในการบรรเทาทุกข์
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อคืนวันอังคาร กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ หรือบางทีก็เรียกกันว่ากลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ ซึ่งเป็น 1 ในพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธทรงอิทธิพลและควบคุมพื้นที่กว้างขวางในรัฐชานตลอดจนรัฐยะไข่ ของพม่า ได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหว ขณะที่มีรายงานจากหลายแหล่งระบุว่า รัฐบาลทหารพม่ายังคงโจมตีกลุ่มกบฏในพื้นที่ต่างๆ หลังเกิดแผ่นดินไหว ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ ประกอบด้วย กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (MNDAA) ที่เป็นกองกำลังของชาวโกก้าง, กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) ของชาวตะอาง (ปะหล่อง) , และกองทัพอาระกัน ที่เป็นกองกำลังชาวยะไข่
ทางสำนักงานบริการโครงการแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอพีเอส) แถลงว่า สถานการณ์แผ่นดินไหวในพม่ายังคงอยู่ในภาวะวิกฤต ขณะที่เครือข่ายสื่อสารหยุดชะงัก ถนนใช้การไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตสะกาย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวรุนแรง
คำแถลงของยูเอ็นโอพีเอสเสริมว่า มีประชาชนกว่า 28 ล้านคนใน 6 เขตของพม่าที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดย 12 ล้านคนต้องการอาหาร ที่พัก น้ำ ระบบสุขาภิบาล การสนับสนุนทางจิตใจ และบริการอื่นๆ อย่างเร่งด่วน
ด้าน อินเตอร์เนชันแนล ไครซิส กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองระดับนานาชาติ ระบุว่า เขตสะกาย มีพื้นที่ซึ่งอยู่ในการควบคุมของกลุ่มกบฏติดอาวุธที่สู้รบกับรัฐบาลทหารพม่า จึงถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ท้าทายที่สุดสำหรับหน่วยงานบรรเทาทุกข์
ขณะที่ องค์การสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรต์ วอตช์ เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่ายกเลิกการขัดขวางองค์กรบรรเทาทุกข์ โดยระบุว่า ผู้บริจาคควรที่จะสามารถจัดส่งความช่วยเหลือผ่านกลุ่มบรรเทาทุกข์อิสระแทนที่จะต้องผ่านรัฐบาลทหารพม่าเท่านั้น
ไบรอัน ลอ รองผู้อำนวยการฮิวแมนต์ ไรต์ วอตช์ประจำเอเชีย ระบุว่า รัฐบาลทหารพม่าไม่ได้รับความไว้วางใจในเรื่องการรับมือภัยพิบัติรุนแรงระดับนี้ พร้อมเรียกร้องประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกดดันรัฐบาลทหารพม่าให้เปิดทางเข้าถึงผู้รอดชีวิตทุกพื้นที่ทันที
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นขณะที่สื่อของทางการพม่ารายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 เมื่อวันศุกร์ (28 มี.ค.) เพิ่มเป็น 2,886 คน บาดเจ็บ 4,639 คน และสูญหาย 373 คน
อย่างไรก็ดี เมื่อเช้าวันพุธเอ็มอาร์ทีวีของทางการพม่ารายงานว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยของตุรกีและทีมท้องถิ่นใช้เวลาช่วยเหลือกว่า 9 ชั่วโมงและสามารถช่วยคนงานชายวัย 26 ปีออกจากซากโรงแรมในเมืองเนปิดอว์หลังติดอยู่เกือบ 108 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ และองค์การบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศยังคงจัดส่งความช่วยเหลือให้พม่าอย่างต่อเนื่อง
วันพุธ ออสเตรเลียประกาศให้ความช่วยเหลือพม่าอีก 4.5 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเติมจากที่ประกาศไปแล้ว 1.25 ล้านดอลลาร์ และเผยว่า ทีมตอบสนองเร่งด่วนลงพื้นที่ช่วยกู้ภัยในพม่าแล้ว
เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ 3 คนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (ยูเอสเอด) ที่เดินทางถึงพม่าเมื่อวันอังคารเพื่อประเมินวิธีช่วยเหลือที่ดีที่สุดขณะที่ทรัพยากรและงบประมาณมีจำกัด และเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่า จะให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน 2 ล้านดอลลาร์แก่พม่า
(ที่มา: รอยเตอร์/เอพี)