xs
xsm
sm
md
lg

ทะเลจีนใต้ระอุ! สหรัฐฯ อนุมัติขายฝูงบินขับไล่ F-16 ให้ ‘ฟิลิปปินส์’ รวม $5,580 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ อนุมัติโครงการจำหน่ายเครื่องบินขับไล่ F-16 รวมมูลค่า 5,580 ล้านดอลลาร์ให้กับฟิลิปปินส์เมื่อวานนี้ (1 เม.ย.) ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณสนับสนุนชาติพันธมิตรท่ามกลางความตึงเครียดกับจีน

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า ทางกระทรวงได้อนุมัติแผนการจำหน่ายฝูงบิน F-16 จำนวน 20 ลำ และเครื่องไม้เครื่องมือที่เกี่ยวข้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรที่มีสนธิสัญญาด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ

คำแถลงของกระทรวงระบุว่า การจำหน่ายระบบอาวุธในครั้งนี้ “จะช่วยยกระดับความมั่นคงให้กับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ยังคงเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมเสถียรภาพ สันติภาพ และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นอกจากนี้ยังช่วย “สนับสนุนกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ในการปฏิบัติภารกิจสร้างความตระหนักรู้ทางทะเล” และ “เพิ่มพูนศักยภาพ (ของฟิลิปปินส์) ในการต่อต้านระบบป้องกันภัยทางอากาศของศัตรู”

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางเหตุกระทบกระทั่งระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยปักกิ่งนั้นอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด แม้ศาลระหว่างประเทศจะเคยพิพากษาว่าจีนไม่มีสิทธิ์กล่าวอ้างเช่นนั้นก็ตามที

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า ข้อตกลงจำหน่ายอาวุธนี้จะถึงที่สุดก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ ได้รับ “หนังสือลงนามว่าด้วยข้อเสนอและการยอมรับ” จาก “หุ้นส่วนที่เป็นผู้ซื้อ”

อาร์เซนิโอ อันโดลง โฆษกกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า ตน “ยังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการ” เกี่ยวกับการตัดสินใจของสหรัฐฯ แต่ก็ยอมรับว่าฟิลิปปินส์มีความประสงค์ที่จะสั่งซื้อฝูงบิน F-16 จากสหรัฐฯ มาตั้งแต่ยุครัฐบาลของประธานาธิบดี เบนิโญ อากีโน ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อปี 2016

มะนิลาและวอชิงตันกระชับความร่วมมือด้านกลาโหมมากขึ้นนับตั้งแต่ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2022 โดยรัฐบาล มาร์กอส นั้นประกาศจุดยืนแข็งกร้าวในการคัดค้านการอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้

เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์ก็สร้างความโกรธเกรี้ยวต่อจีนด้วยการประกาศจะนำระบบขีปนาวุธพิสัยกลาง Typhon ของสหรัฐฯ มาประจำการ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของมะนิลา

ที่มา: รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น