xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศคู่ค้าพล่านเตรียมรับแรงกระแทกจาก‘ภาษีทรัมป์’ ประมุขทำเนียบขาวเล็งอาจประกาศในคืนอังคารหรือวันพุธ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรดาประเทศคู่ค้าของอเมริกา เตรียมพร้อมรับมือภาษีศุลกากรตอบโต้ที่ทรัมป์เล็งประกาศอย่างเร็วที่สุดในคืนวันอังคาร (1 เม.ย.) นี้ ท่ามกลางความกังวลว่า มาตรการเช่นนี้อาจย้อนศรทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เองเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยล่าสุดโกลด์แมน แซคส์คาดว่า มีโอกาสเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 35% ที่สภาวการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น กระนั้น ไอเอ็มเอฟแม้เชื่อแผนการของทรัมป์อาจสร้างความวิตกกังวล แต่เห็นว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักในขณะนี้

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมากล่าวอีกในวันจันทร์ (31 มี.ค.) ว่า มาตรการ “ภาษีศุลกากรตอบโต้” ที่เขากำลังเตรียมจะประกาศออกมา เป็นสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากเวลานี้อเมริกาถูกทุกประเทศทั่วโลกขูดเลือดขูดเนื้อ พร้อมให้สัญญาว่า การประกาศเรื่องนี้ในวันพุธ (2 เม.ย.) จะทำให้วันดังกล่าวกลายเป็น “วันปลดแอก” สำหรับอเมริกา

เมื่อผู้สื่อข่าวขอรายละเอียด ผู้นำสหรัฐฯ ตอบว่า “คืนวันอังคาร (1) หรือพุธ (2) จะได้รู้กัน” พร้อมกับย้ำสิ่งที่เขาเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า ถึงแม้มาตรการนี้จะใช้กับ “ทุกประเทศ” แต่อเมริกาจะใช้อย่างใจกว้างมีเมตตามากกับประเทศคู่ค้า เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่ประเทศคู่ค้าเหล่านี้ทำกับอเมริกาตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์หลายคนพากันเตือนว่า ยุทธศาสตร์เช่นนี้เสี่ยงจุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าลุกลามขยายตัวไปทั่วโลก เนื่องจากจะกระตุ้นห่วงโซ่การตอบโต้จากพวกประเทศคู่ค้ารายสำคัญ โดยที่จีนและแคนาดาต่างออกออกมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้เล่นงานสินค้าอเมริกันนำเข้าไปแล้วเพื่อรับมือกับการรีดภาษีซึ่งทรัมป์ประกาศออกมาระลอกก่อนหน้านี้ ขณะที่มาตรการตอบโต้ของสหภาพยุโรป จะเริ่มมีผลช่วงกลางเดือนนี้

ในวันจันทร์ สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของทางการจีน (ซีซีทีวี) โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม เว่ยปั๋ว ว่า จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ตกลงร่วมกันรับมือมาตรการภาษีศุลกากรของอเมริกา ระหว่างการหารือทางเศรษฐกิจของประเทศทั้ง 3 ครั้งแรกในรอบ 5 ปีเมื่อวันอาทิตย์ (30 มี.ค.)

ทว่า เมื่อพวกสำนักข่าวต่างประเทศสอบถามไปยังกระทรวงการค้าเกาหลีใต้ กลับได้คำตอบว่า นี่เป็นรายงานข่าวเกินจริง และอ้างอิงคำแถลงร่วมซึ่งกล่าวเพียงว่า รัฐมนตรีการค้าสามประเทศเห็นพ้องเร่งการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันเพื่อส่งเสริมการค้าภายในภูมิภาคและระดับโลกเท่านั้น

เช่นเดียวกับโยจิ มูโตะ รัฐมนตรีการค้าญี่ปุ่น ที่เผยว่า ในการประชุมดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่ไม่มีการหารือเรื่องการรับมือมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แต่อย่างใด

นอกจากนั้นทางด้านทรัมป์ยังให้สัมภาษณ์ว่า ไม่กังวลว่า มาตรการภาษีจะผลักดันให้พวกชาติพันธมิตรหันไปคบค้ากับปักกิ่ง พร้อมกับเสริมว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับติ๊กต็อก ซึ่งเขาต้องการให้จีนยินยอมปล่อยให้บริษัทแม่ของแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยอดนิยมแห่งนี้ ขายหุ้นกิจการส่วนที่ในสหรัฐฯให้แก่กลุ่มทุนอเมริกันนั้น จะโยงกับมาตรการรีดภาษีศุลกากรซึ่งเขาจะนำมาใช้กับจีนด้วย

ขณะเดียวกัน แคโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงว่า ในวันพุธ (2 เม.ย.) จะมีการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรที่อเมริกาจะใช้กับนานาชาติเป็นรายประเทศ ถึงแม้เวลาเดียวกัน ทรัมป์ยังคงมุ่งมั่นรีดภาษีเป็นรายอุตสาหกรรมมากขึ้นเป็นการแยกต่างหากออกมาอีกด้วย

ทั้งนี้ ทรัมป์ได้ประกาศขึ้นภาษีรายอุตสาหกรรมเฉพาะภาคยานยนต์ โดยเรียกเก็บจากรถยนต์นำเข้าทั้งหลายในอัตรา 25% ไปแล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพฤหัสฯ (3) นอกจากนั้นเขาเคยพูดว่าอาจรีดภาษีเพิ่มจากอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างเซมิคอนดักเตอร์ และยา อีกด้วย

ทางด้าน วอลล์สตรีทเจอร์นัล สื่อทรงอิทธิพลด้านการเงินของสหรัฐฯ รายงานว่า พวกที่ปรึกษาของทรัมป์ ได้เสนอให้ขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้จากนานาชาติทั่วโลกในอัตรา 20 ซึ่งจะกระทบบรรดาคู่ค้าของสหรัฐฯแทบทั้งหมด ขณะที่ ทรัมป์ ยังคงรักษาท่าทีกำกวมไม่ชัดเจนเอาไว้ต่อไป

ปรากฏว่า มาตรการชวนหวั่นผวาแถมเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นนี้ ยังคงสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดการเงินต่อไปหลังส่งผลกระทบแรงมาหลายวันแล้ว โดยทุบราคาหุ้นในแทบทุกกลุ่ม และโหมกระพือความกังวลว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

โดยเมื่อวันจันทร์ นักวิเคราะห์ของ โกลด์แมน แซคส์ ธนาคารเพื่อการลงทุนยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้เพิ่มความเป็นไปได้ที่อเมริกาอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย จากระดับ 20% เป็น 35% ซึ่งสะท้อนการคาดการณ์ที่ว่าอัตราการเติบโตจะชะลอลง ความเชื่อมั่นดิ่งลง ตลอดจนคำแถลงจากพวกเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวต่างบ่งชี้ความพร้อมที่คณะบริหารทรัมป์จะอดทนต่อความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจซึ่งจะต้องเกิดขึ้นมา

อย่างไรก็ดี ด้าน คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า มาตรการภาษีของทรัมป์อาจเป็นสิ่งที่สร้างความวิตกกังวล แต่จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากนักในขณะนี้

ทางด้านพวกประเทศคู่ค้าของอเมริกา ต่างเร่งหาทางลดผลกระทบจากภาษีระลอกใหม่ของทรัมป์ โดยมีรายงานว่า อินเดียอาจลดอัตราภาษีศุลกากรของตนลง เช่นเดียวกับเวียดนามที่ประกาศเมื่อวันอังคารว่า จะลดภาษีศุลกากรสินค้าหลายรายการที่รวมถึงรถยนต์ ก๊าซธรรมชาติเหลว และสินค้าเกษตรบางอย่าง

สำหรับญี่ปุ่นได้จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา 1,000 แห่งสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาษีของอเมริกา

ฮวน รามอน เดอ ลา ฟูเอนเต รัฐมนตรีต่างประเทศเม็กซิโก ก็เรียกร้องให้ปกป้องข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ และหารือเกี่ยวกับภาษียานยนต์ของอเมริกา

ส่วน คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) แนะให้ยุโรปที่กำลังเผชิญช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับการอยู่รอด เดินหน้าส่งเสริมอิสระทางเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ของสหราชอาณาจักร บอกว่ากำลังพยายามหารือกับสหรัฐฯอย่างสร้างสรรค์สำหรับการทำข้อตกลงการค้าระหว่างสองชาติให้สำเร็จโดยเร็ว ถึงแม้เขายอมรับว่า สหราชอาณาจักรคงหนีไม่พ้นได้รับผลกระทบจากการถูกอเมริการีดภาษีศุลกากรอยู่ดี ขณะที่โอลาฟ ชอลซ์ ผู้นำเยอรมนีซึ่งกำลังใกล้พ้นตำแหน่ง เห็นว่า อียูควรตอบโต้อย่างแข็งกร้าว แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะประนีประนอมกับอเมริกา

(ที่มา: เอเอฟพี/รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น