xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’เดือดจัด ดีลหยุดยิงยูเครนไม่คืบหน้า ฟาด‘ปูติน’เตะถ่วงแต่แล้วก็กลับลำจวก‘เซเลนสกี้’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทรัมป์ออกอาการยัวะจัดที่ปูตินตั้งแง่เซเลนสกี้ไม่เหมาะสมเป็นคู่เจรจาหยุดยิง ออกปากขู่ใช้ภาษีศุลกากรเล่นงาน แต่จากนั้นก็ใช้น้ำเสียงอ่อนลงมาแถมหันมาคำรามใส่ผู้นำยูเครนว่า โยกโย้ไม่ยอมเซ็นข้อตกลงแร่ธาตุ ล่าสุดเครมลินแถลงในวันจันทร์ (31 มี.ค.) ว่าประมุขรัสเซียยังคง “เปิดกว้าง” พร้อมติดต่อพูดจากับประมุขสหรัฐฯ ขณะที่มีรายงานว่ามอสโกและวอชิงตันได้เริ่มคุยโปรเจ็กต์ร่วมสำรวจแรร์เอิร์ธและโครงการอื่นๆ ในแดนหมีขาวแล้ว


ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับเอ็นบีซี นิวส์ ของเครือข่ายทีวีเอ็นบีซีในสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ (30) ว่าเขารู้สึกโกรธมากๆ ที่วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ในฐานะคู่เจรจาเพื่อยุติศึก และรู้สึกว่า มอสโกกำลังขัดขวางความพยายามของตัวเขาในการผลักดันการยุติสงครามในยูเครน

ประมุขทำเนียบขาวยังบอกอีกว่า ถ้าตกลงกับรัสเซียไม่ได้เรื่องยุติการนองเลือดในยูเครนและมันเป็นความผิดของรัสเซียแล้ว ตัวเขาจะใช้มาตรการ “ภาษีศุลกากรรอง” (secondary tariffs) นั่นคือ เรียกเก็บภาษีอัตรา 20-50% กับพวกประเทศที่สั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ก่อนสำทับว่า มีแผนคุยกับปูตินในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น ระหว่างอยู่บนเครื่องบินประจำตำแหน่ง แอร์ฟอร์ซ วัน เพื่อเดินทางจากรีสอร์ทมาร์-อา-ลาโกในฟลอริดากลับกรุงวอชิงตัน ในวันอาทิตย์ (30) แม้เขาบอกว่าผิดหวังกับปูติน แต่ก็คิดว่า อเมริกาและรัสเซียมีความคืบหน้า และไม่อยากใช้มาตรการภาษีรองกับรัสเซีย

แล้วจากนั้น ทรัมป์ก็วกไปเล่นงานเซเลนสกี้ว่า ผู้นำยูเครนกำลังคืนคำและพยายามขอต่อรองข้อตกลงแร่ธาตุที่กำลงทำกับอเมริกาเสียใหม่ โดยที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯเตือนว่า ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ยูเครนเจอปัญหาหนักแน่

ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กำลังพยายามผลักดันให้เคียฟยอมทำข้อตกลงเรื่องแร่ธาตุสำคัญกับวอชิงตัน โดยตามข้อสรุปบ่งชี้ว่า อเมริกาเรียกร้องรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดของยูเครนเป็นระยะเวลาหลายปี และเซเลนสกี้บอกว่า ทีมกฎหมายของยูเครนจำเป็นต้องทบทวนร่างข้อตกลงก่อนที่ตนจะแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอนี้ได้

นับจากเข้ารับตำแหน่งสมัยสองในเดือนมกราคม ทรัมป์มีท่าทีประนีประนอมกับรัสเซียอย่างชัดเจน และพยายามเร่งรัดให้รัสเซียและยูเครนยุติสงครามที่ดำเนินมากว่า 3 ปี ทว่า คณะบริหารสหรัฐฯ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้อยู่ดี แม้พยายามเจรจากับทั้งสองฝ่าย และการวิจารณ์ปูตินในวันอาทิตย์สะท้อนว่า ทรัมป์ไม่พอใจมากขึ้นที่ข้อตกลงหยุดยิงยังไปไม่ถึงไหน

ปูตินนั้นปฏิเสธแผนของอเมริกาและยูเครนในการหยุดยิงอย่างครอบคลุมเป็นเวลา 30 วัน และเมื่อวันศุกร์ (28) ประมุขวังเครมลินยังแนะว่า ยูเครนควรมีคณะบริหารชั่วคราวเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่และปลดเซเลนสกี้ที่หมดวาระการดำรงตำแหน่งไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ทั้งนี้ เซเลนสกี้บอกว่า กฎหมายยูเครนระบุไม่ให้จัดการเลือกตั้งระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยที่เซเลนสกี้ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกนับตั้งแต่ที่รัสเซียรุกรานยูเครน

ขณะเดียวกัน ทรัมป์มีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีเลยกับเซเลนสกี้ ครั้งหนึ่งเคยเรียกประธานาธิบดียูเครนผู้นี้ว่า “ผู้เผด็จการ” และยังปะทะคารมกันต่อหน้ากล้องทีวีระหว่างที่เซเลนสกี้ไปเยือนทำเนียบขาวเมื่อเดือนที่แล้ว

ในวันจันทร์ (31) ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ออกมากล่าวกับพวกผู้สื่อข่าวว่า ปูตินยังคง “เปิดกว้าง” สำหรับการติดต่อพูดจากับทรัมป์ หลังจากที่ประมุขทำเนียบขาวบอกว่าโกรธเคืองประมุขเครมลินเป็นอย่างมาก

“ท่านประธานาธิบดี (ปูติน) ยังคงเปิดกว้างสำหรับการติดต่อกับท่านประธานาธิบดีทรัมป์” เปสคอฟ บอก

เขากล่าวว่า ยังไม่มีกำหนดการพูดจาทางโทรศัพท์กันระหว่างผู้นำทั้งสอง แต่การติดต่อเช่นนี้สามารถ “จัดขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว” ถ้าหากมองเห็นว่า “มีความจำเป็น”

เปสคอฟบอกด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายยัง “กำลังทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ... ประการแรกเลย ในเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี และยังกำลังทำงานกันในเรื่องการปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวความคิดบางอย่รางบางประการ ที่เชื่อมโยงกับการคลี่คลาย (การสู้รบขัดแย้ง) ในยูเครน”

“งานกำลังเดินหน้าไปเรื่อยๆ ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมในตอนนี้ กระบวนการนี้ต้องใช้เวลา บางทีอาจจะเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าเนื้อหาของเรื่องนี้มีความยุ่งยากซับซ้อนมาก” เขากล่าวต่อ

ในอีกด้านหนึ่ง คิริลล์ ดมิตรีฟ ผู้แทนพิเศษของเครมลินด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างประเทศ เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์อิซเวสเทีย ของทางการรัสเซีย ที่นำออกมารายงานเมื่อวันจันทร์ (31) ว่า รัสเซียและอเมริกาได้เริ่มต้นการเจรจาโครงการร่วมสำรวจแหล่งแร่หายาก (แรร์เอิร์ธ) และโครงการอื่นๆ ในรัสเซียแล้ว โดยมีบริษัทบางแห่งสนใจเข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปูตินตั้งข้อสังเกตว่า อเมริกาอาจสนใจร่วมสำรวจแหล่งแรร์เอิร์ธในรัสเซีย ซึ่งมีแร่ธาตุหายากที่ใช้ในการผลิตเลเซอร์และอุปกรณ์การทหารมากเป็นอันดับ 5 ของโลก

รอยเตอร์รายงานว่า จีนที่เวลานี้เป็นผู้ควบคุมการผลิตและซัปพลายแรร์เอิร์ธถึง 95% ของทั่วโลก กำลังจับตาความพยายามของประเทศอื่นๆ ในการพัฒนาแหล่งทรัพยากรแรร์เอิร์ธของพวกเขาเอง

สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐฯ ประเมินว่า รัสเซียมีแรร์เอิร์ธ 3.8 ล้านตัน ทว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติรัสเซียประเมินตัวเลขไว้ที่ 28.7 ล้านตัน ณ วันที่ 1 มกราคม 2023 ซึ่ง 3.8 ล้านตันกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาหรือพร้อมสำหรับการพัฒนา

อิซเวสเทียทิ้งท้ายว่า จะมีการหารือเกี่ยวกับการร่วมมือนี้เพิ่มเติมในการเจรจารอบหน้าระหว่างรัสเซียกับอเมริกาที่อาจเกิดขึ้นกลางเดือนเมษายนที่ซาอุดีอาระเบีย

(ที่มา: เอเอฟพี/รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น