(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
USAID closure deepens pain of quake-hit Myanmar
by Adam Simpson
29/03/2025
ถ้าหาก USAID ที่เป็นสำนักงานให้ความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังคงปฏิบัติงานอยู่ตามปกติ ไม่ถูกสั่งปลดเจ้าหน้าที่แทบทั้งหมดและกระทั่งสั่งยุบหน่วยงานนี้ไปเลยตามนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ USAID ก็น่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการวินิจฉัยกำหนดพื้นที่ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากที่สุดภายหลังแผ่นดินไหวใหญ่ในพม่าคราวนี้ รวมทั้งมีบทบาทในการแบ่งปันจัดสรรความช่วยเหลือฉุกเฉินที่ทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวด
เมื่อตอนต้นปี 2021 หลังจากหนึ่งทศวรรษของการปฏิรูปทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ พม่าแลดูเหมือนกับว่าในที่สุดแล้วพวกเขาก็กำลังเริ่มต้น [1] ที่จะเขย่าพิษตกค้างของการถูกปกครองโดยคณะทหารมานานหลายทศวรรษให้หลุดออกไปได้เสียที ในตอนนั้นการลงทุนจากต่างประเทศกำลังเติบโตขยายตัว และมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนกำลังกระเตื้องดีขึ้นมาอย่างช้าๆ
อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้นเอง คณะทหารก็กลับมายึดอำนาจเอาไว้อีกคำรบหนึ่ง หลังจากขับไล่ [2] รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยของ อองซานซูจี ออกไปด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจ เรื่องนี้ได้ผลักไสให้ประเทศนี้หมุนคว้างดำดิ่งลงสู่สงครามกลางเมือง [3] และความพังพินาศทางสังคมและทางเศรษฐกิจ
แล้วก็เกิดเหตุการณ์ล่าสุดซึ่งเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่ในแต่ละวันของประชาชนผู้ทุกข์ตรอมตรมมายาวนานของพม่า เมื่อแผ่นดินไหวใหญ่ความรุนแรงระดับ 7.7 แมกนิจูด [4] ถล่มใส่บริเวณตอนกลางของประเทศในวันศุกร์ (28 มี.ค.) ที่ผ่านมา จุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวนั้นอยู่ห่างนิดเดียวจากเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศนี้
กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปกว่า 1,000 กิโลเมตรจากจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว ก็ประสบความเสียหายอย่างกว้างขวางด้วยเช่นกัน ภาพจากวิดีโอจำนวนมากแสดงให้เห็นอาคารหลังหนึ่งซึ่งกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างพังถล่มลงมา [5] และน้ำที่กระฉอกออกจากพวกสระว่ายน้ำใหญ่ๆ ที่สร้างอยู่ชั้นบนสุดก็ทำให้เกิดเป็นน้ำตก [6] เททะลักลงมาจากอาคารคอนโดมีเนียมสูงตระหง่าน
ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับขนาดขอบเขตความเสียหายที่เกิดขึ้นในพม่า ปรากฏออกมาอย่างล่าช้า [7] กว่าที่ควรจะเป็น เมื่อพิจารณาจากการที่คณะผู้เผด็จการทหารได้สั่งห้าม [8] ใช้พวกแอปสื่อและแอปติดต่อสื่อสารไปเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, วอตส์แอปป์, ซิกนัล, ตลอดจน เอ็กซ์
ขณะที่กำลังเขียนข้อเขียนชิ้นนี้อยู่ จำนวนผู้เสียชีวิตที่รายงานกันออกมาได้ทะลุหลัก 1,000 คน [9] ไปแล้ว อย่างไรก็ดี จากแบบจำลอง [10] เพื่อการศึกษาซึ่งสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (US Geological Survey) จัดทำขึ้น บ่งชี้ว่าผู้เสียชีวิตอาจจะสูงกว่า 10,000 คน และความสูญเสียทางเศรษฐกิจมีความเป็นไปได้ที่จะสูงเกินผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของพม่า
มิน อ่อง หล่าย ผู้นำของคณะผู้เผด็จการทหารของพม่าซึ่งปกติแล้วเป็นพวกที่แยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว คราวนี้กลับไม่รีรอแต่รีบออกคำแถลงร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ [11]
อย่างไรก็ตาม จากการที่คณะผู้เผด็จการทหารเวลานี้มีอำนาจควบคุมอย่างเต็มที่เหนือพื้นที่เพียงน้อยนิดแค่ 21% [12] ของประเทศซึ่งตกอยู่ในสงครามกลางเมืองที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง สำหรับส่วนที่เหลืออยู่ถูกช่วงชิงหรือไม่ก็ถูกควบคุมโดยพวกกลุ่มติดอาวุธชาวชาติพันธุ์ต่างๆ ตลอดจนพวกนักรบฝ่ายต่อต้าน เรื่องนี้บ่งบอกว่าพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบกระเทือนหนักของประเทศบางส่วน อาจจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือระหว่างประเทศได้อยู่ดี
ยังมีปัจจัยที่เพิ่มความซับซ้อนให้แก่ความยากลำบากเหล่านี้มากขึ้นไปอีก นั่นคือ การที่ก่อนหน้านี้ไม่นาน คณะบริหารทรัมป์ได้ทำลายกิจกรรมต่างๆ ในพม่าของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (US Agency for International Development หรือ USAID) ไปอย่างยับเยิน เรื่องนี้ทำให้เกิดอุปสรรคเพิ่มขึ้นมาก ในการวินิจฉัยตัดสินว่าพื้นที่ใดซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด และจะจัดสรรแบ่งปันความช่วยเหลืออย่างไรกันบ้างในการปฏิบัติงานภาคสนาม
พม่าที่ถูกภัยพิบัติทางธรรมชาติเล่นงานอยู่เป็นประจำ
นอกจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา [13] ในเรื่องการปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจและโหดเหี้ยมของฝ่ายทหารในประเทศนี้นับตั้งแต่ที่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1948 สิ่งที่เกิดคู่ขนานกันไปก็คือพม่ายังต้องเจ็บปวดเดือดร้อนอยู่เป็นประจำจากความวิบัติหายนะทางธรรมชาติทั้งหลาย
เมื่อเดือนกันยายน ปี 2024 ที่ผ่านมานี้เอง ผู้คนอย่างน้อยที่สุด 430 คนทีเดียวที่เชื่อกันว่าได้เสียชีวิตไปตอนที่เกิดน้ำท่วมใหญ่สืบเนื่องจากฤทธิ์เดชของพายุไต้ฝุ่นยางิ (Typhoon Yagi) [14] หลังจากในปี 2023 มีรายงานว่าพายุไซโคลนโมคา ( Cyclone Mocha) [15] ได้สังหารชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์โรฮิงญาไปราว 460 คน โดยที่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกกักกันอยู่ตามค่ายต่างๆ ของรัฐบาลพม่า [16] ในรัฐยะไข่ ในสภาพเงื่อนไขที่ถูกปฏิบัติเหมือนกับพวกเขาไม่ใช่มนุษย์
อย่างไรก็ดี ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่ผู้มีชีวิตอยู่ในเวลานี้ยังจดจำกันได้ ย่อมได้แก่ พายุไซโคลนนาร์กิส (Cyclone Nargis) [17] เมื่อปี 2008 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อยที่สุด 140,000 คน [18] ในคราวนั้น คณะผู้เผด็จการทหารได้ต่อต้านไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ซึ่งน่าที่จะส่งผลทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตไปอย่างไม่จำเป็น [19] เป็นจำนวนมาก
ในครั้งนั้น ภายในพม่าไม่มีสื่อมวลชนอิสระใดๆ เลย รวมทั้งยังแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินการสืบค้นเสาะหาสิ่งที่เกิดขึ้นมาจริงๆ ในภาคสนาม
แต่สำหรับในยุคปัจจุบัน จากความแพร่หลายของโทรศัพท์มือถือในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จึงเปิดทางให้ข้อมูลข่าวสารสามารถแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าเดิมมากมายนัก แม้กระทั่งในสภาพที่คณะผู้เผด็จการทหารยังพยายามปิดกั้นขัดขวางสัญญาณอินเทอร์เน็ต ส่วนวิธีการอื่นๆ ในการเซนเซอร์ข่าวสารก็ยังคงมีการบังคับใช้มิได้ถูกยกเลิกไป
เมื่อตอนที่เกิดเหตุพายุไซโคลนนาร์กิสพัดถล่ม –ราว 1 ปีหลังจากแอปเปิลเปิดตัว ไอโฟน – ประชากรของพม่าเพียงราวๆ 1% [20] เท่านั้นที่มีโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อถึงตอนที่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2021 อัตราการเข้าถึงและใช้งานสมาร์ตโฟนของพม่า [21] อยู่ในระดับ 114% (นี่หมายความว่าประเทศนี้มีจำนวนสมาร์ตโฟนมากกว่าจำนวนประชากรเสียอีก)
ทรัมป์หั่นความช่วยเหลือต่างประเทศ
ขณะที่ มิน อ่อง หล่าย ก้าวไปไกลกว่าระบอบเผด็จการทหารพม่าเมื่อปี 2008 ที่อยู่มาก่อนหน้าเขา จากการที่เขาออกมาร้องขอความช่วยหลือจากนานาชาติอย่างรวดเร็ว แต่การกระทำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กลับทำให้เป็นที่แน่ใจได้ว่าความช่วยเหลือระหว่างประเทศใดๆ ก็ตามทีจะมีประสิทธิภาพลดน้อยลงไปนักหนา หากเทียบกับเมื่อช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ในวันศุกร์ (28 มี.ค.) ที่ผ่านมา วันเดียวกับที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนี้นั่นเอง คณะบริหารทรัมป์ได้แจ้งกับรัฐสภาอเมริกันว่า จะตัดลดตำแหน่งงานแทบทั้งหมดที่ยังเหลืออยู่ใน USAID อีกทั้งจะปิดหน่วยงานแห่งนี้ ซึ่งครอบคลุมถึงการยุติคณะทำงานของ USAID ที่มีอยู่ทั่วโลกทั้งหมด
เจเรมี คอนินไดค์ (Jeremy Konyndyk) ประธานบริหารขององค์การผู้ลี้ภัยสากล (Refugees International) [22] ซึ่งในอดีตเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของ USAID เรียกความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า เป็น “การสละทอดทิ้งบัลลังก์ความเป็นผู้นำในโลกของสหรัฐฯไปอย่างสิ้นเชิงหลังจากที่ได้ธำรงรักษาเอาไว้ได้มายาวนานหลายทศวรรษ” เขาหยิบยกเหตุผลขึ้นมาประกอบความคิดเห็นของเขาว่า การปลดเจ้าหน้าที่เหล่านี้ออก คือการตัดทิ้ง “ส่วนท้ายสุดที่ยังเหลืออยู่ของทีมงานของ USAID ซึ่งสามารถเรียกระดมกันออกมาทำหน้าที่ตอบโต้รับมือกับภัยพิบัติ” เฉกเช่นแผ่นดินไหวล่าสุดในพม่านี้
เมื่อปี 2024 USAID ยังใช้จ่ายเงินงบประมาณถึง 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ [23] ในพม่า ซึ่งเท่ากับราวๆ หนึ่งในสามของความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมระดับพหุภาคีทั้งหมดที่นานาชาติจัดหาให้แก่ประเทศนี้ทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ที่ ทรัมป์ สาบานตัวเขารับตำแหน่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา จำนวนโปรแกรมของ USAID ในพม่าก็ถูกหั่นลดลงอย่างพรวดพราด จาก 18 เหลือเพียงแค่ 3 โปรแกรม พวกองค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) จำนวนมาก และโรงพยาบาลที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯอย่างน้อย 7 แห่งซึ่งกำลังดำเนินงานอยู่ตามพื้นที่ชายแดนของพม่าที่ติดต่อกับประเทศไทย ต่างต้องปิดตัวลง
พวกสื่อของพม่าซึ่งใช้ช่องทางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นอิสระไม่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล โดยที่ต้องพากันลี้ภัยไปปฏิบัติงานจากนอกประเทศ และที่ผ่านมาคือผู้คอยเปิดโปงการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อนของคณะทหาร เวลานี้ต่างมองเห็นว่าเงินทุนของพวกเขาถูกหั่นเหี้ยน จากการที่คณะบริหารทรัมป์เคลื่อนไหวดำเนินการเพื่อปิด USAID
ต่อจากนี้ไปจะเป็นยังไง?
ในวันก่อนหน้าจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ มิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวปราศรัยกับกองทหารที่เข้าร่วมการเดินสวนสนามเนื่องในวาระครบรอบ 80 ปีของวันกองทัพพม่า เขาประกาศว่าจะเดินหน้าจัดการการเลือกตั้งระดับชาติ [24] ขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ – ถึงแม้มันเป็นการโหวตซึ่งถูกพวกกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ประทับตราให้เรียบร้อยแล้วว่าเป็น “การหลอกลวงต้มตุ๋น” [25] เท่านั้นเอง
มันไม่มีทางที่จะนึกออกเลยว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งซึ่งเป็นไปอย่างสุจริตยุติธรรมขึ้นมาได้ในประเทศที่ตกอยู่ใต้การปกครองของทหารแห่งนี้ หรือในขณะที่สงครามกลางเมืองยังคงกำลังดำเนินอยู่อย่างดุเดือดเช่นนี้
พวกพรรคการเมืองซึ่งฝ่ายทหารหนุนหลังอยู่ ต่างถูกปฏิเสธอย่างท่วมท้นล้นหลามจากบรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงของพม่า ในการเลือกตั้งซึ่งยังห่างไกลจากการให้ประชาชนได้ใช้สิทธิใช้เสียงอย่างเสรีและเป็นธรรมทุกๆ ครั้งในช่วงเวลา 4 ทศวรรษหลังสุดที่ผ่านมา นี่ก็รวมไปถึงการเลือกตั้งคราวล่าสุดซึ่งจัดขึ้นในปี 2020 [26] และคว้าชัยชนะไว้ได้โดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League of Democracy หรือNLD) ที่นำโดย อองซานซูจี
ขณะที่โลกควรให้การต้อนรับ –อีกทั้งตอบสนองอย่างเร่งด่วน--ต่อคำเชื้อเชิญให้นานาประเทศเข้าไปช่วยเหลือของ มิน อ่อง หล่าย แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีตสมควรที่จะลืมกันไป ชีวีตผู้คนที่บริสุทธิ์จำนวนเป็นพันเป็นหมื่นคนทีเดียว [27] ต้องสูญเสีย โดยเป็นผลจากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจอย่างไม่มีความจำเป็นและมีแต่สร้างความเสียหายร้ายแรงของฝ่ายทหารเมื่อปี 2021
ถ้าหากพรรค NLD ยังคงอยู่ในรัฐบาลจนกระทั่งถึงตอนนี้แล้ว พม่าก็จะต้องมีการเตรียมตัวอย่างถูกต้องเหมาะสมกว่านี้มากมายนัก สำหรับการรับมือกับผลต่อเนื่องต่างๆ ของธรณีพิโรธคราวนี้ ขอย้ำเอาไว้ตรงนี้อีกครั้งหนึ่งว่า การปกครองอย่างโหดร้ายของฝ่ายทหาร –ตลอดจนการตัดความช่วยเหลืออย่างเหี้ยมเกรียมทารุณของทรัมป์— ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคือสาเหตุที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ยากลำบากและความตายอย่างไม่จำเป็นเพิ่มมากขึ้น
อดัม ซิมป์สัน เป็นอาจารย์อาวุโส ทางด้านการระหว่างประเทศศึกษา มหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย
ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/thousands-are-feared-dead-in-myanmars-quake-trumps-usaid-cuts-will-cause-even-more-unnecessary-deaths-253403
เชิงอรรถ
[1] https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-before-and-after-the-2021-military-coup.html
[2] https://theconversation.com/myanmars-military-reverts-to-its-old-strong-arm-behaviour-and-the-country-takes-a-major-step-backwards-154368
[3] https://theconversation.com/as-the-myanmar-juntas-hold-on-power-weakens-could-the-devastating-war-be-nearing-a-conclusion-247987
[4] https://earthquake.usgs.gov/earthquakes/eventpage/us7000pn9s/executive
[5] https://www.facebook.com/share/r/17bqNAaMrQ/
[6] https://www.facebook.com/share/v/166DeVjdxT/
[7] https://www.nytimes.com/2025/03/28/world/asia/myanmar-earthquake-internet-censorship.html
[8] https://www.rfa.org/english/news/myanmar/google-signal-blocked-myanmar-07232024151304.html
[9] https://x.com/AFP/status/1905848581074096212
[10] https://earthquake.usgs.gov/earthquakes/eventpage/us7000pn9s/pager
[11] https://www.abc.net.au/news/2025-03-29/myanmar-issues-rare-call-for-international-help-after-earthquake/105111720
[12] https://www.bbc.com/news/articles/c390ndrny17o
[13] https://www.taylorfrancis.com/chapters/oa-edit/10.4324/9781003386063-2/d%25C3%25A9j%25C3%25A0-vu-nicholas-farrelly-adam-simpson?context=ubx&refId=5c7ada7e-6535-4faf-851f-6f02f555585b
[14] https://elevenmyanmar.com/news/floods-claim-433-lives-79-missing-and-devastate-780000-acres-of-paddy-fields
[15] https://www.rfa.org/english/news/myanmar/mocha-rakhine-rohingya-05172023160638.html
[16] https://www.hrw.org/news/2023/05/18/cyclone-mocha-devastates-myanmars-rohingya
[17] https://theconversation.com/10-years-after-cyclone-nargis-still-holds-lessons-for-myanmar-95039
[18] https://asean.org/book/myanmar-life-after-nargis/
[19] https://www.hrw.org/report/2010/04/28/i-want-help-my-own-people/state-control-and-civil-society-burma-after-cyclone
[20] https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2015/09/14/424701548/smartphones-bring-happiness-and-headaches-to-myanmar
[21] https://www.ece.uw.edu/spotlight/pwint-htun/
[22[https://www.reuters.com/world/us/state-department-notified-congress-intent-reorganize-usaid-rubio-says-2025-03-28/
[23] https://www.economist.com/asia/2025/03/28/myanmars-earthquake-piles-misery-on-civil-war
[24] https://www.gnlm.com.mm/election-to-proceed-per-2008-constitution-aligned-with-regional-security-conditions/
[25] https://www.theguardian.com/world/2025/mar/10/myanmar-juntas-promise-of-elections-denounced-as-sham-by-experts
[26] https://theconversation.com/aung-san-suu-kyi-wins-big-in-myanmars-elections-but-will-it-bring-peace-or-restore-her-reputation-abroad-149619
[27] https://www.ohchr.org/en/press-releases/2025/01/myanmar-four-years-coup-leaders-ramp-violations-unprecedented-levels-un