ทีมกู้ภัยและสิ่งบรรเทาทุกข์จากนานาชาติมาถึงพม่าแล้วเพื่อช่วยผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ โดยยอดผู้เสียชีวิตที่แถลงออกมาเมื่อวันอาทิตย์ (30 มี.ค.) ระบุว่ามีอย่างน้อย 1,700 คน ขณะที่มีคนบาดเจ็บ 3,408 คน และสูญหายอีกราว 300 คน เวลาเดียวกันสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศขอระดมเงินทุนฉุกเฉินกว่า 100 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหยื่อธรณีพิโรธครั้งนี้
สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (ไอเอฟอาร์ซี) แถลงเมื่อวันอาทิตย์ (30) ขอระดมทุนฉุกเฉิน 115 ล้านดอลลาร์ สำหรับใช้จ่ายดำเนินการมาตรการฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตและสนับสนุนการฟื้นตัวเบื้องต้นแก่ประชาชน 100,000 คน หรือราวๆ 20,000 ครัวเรือน ที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวในพม่าภายใน 24 ชั่วโมงข้างหน้า
ตามการแถลงอัปเดตในวันอาทิตย์ของรัฐบาลทหารพม่า แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ (28 ) โดยมีจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวใกล้ๆ เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,700 คน บาดเจ็บ 3,408 คน และสูญหายราว 300 คน อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้คาดหมายกันว่าอาจพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก
ทั้งนี้ โมเดลการพยากรณ์ของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐฯ (USGS) ประเมินว่า ยอดผู้เสียชีวิตในพม่าจากแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจสูงถึง 10,000 คน และ สร้างความสูญเสียเกินกว่ามูลค่าผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปีของประเทศ
แผ่นดินไหวยังทำให้โครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่รวมถึงสะพาน ทางหลวง สนามบิน และทางรถไฟได้รับความเสียหายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการบรรเทาทุกข์ นอกเหนือจากการสื่อสารที่ไม่เสถียร ยิ่งกว่านั้น ยังมีความท้าทายจากภาวะสงครามกลางเมือง
มีรายงานหลายกระแสระบุว่า ยังคงเกิดการสู้รบกันประปรายในบางพื้นที่แม้กระทั่งหลังเกิดแผ่นดินไหวแล้ว โดยที่มีกลุ่มกบฎกลุ่มหนึ่งบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีในวันอาทิตย์ (30) ว่า นักรบของพวกเขา 7 คนถูกสังหารจากการถูกถล่มโจมตีทางอากาศ ไม่นานหลังจากธรณีพิโรธในวันศุกร์
ด้านกลุ่มนักรบต่อต้านคณะผู้เผด็จการทหารได้ประกาศหยุดยิงบางส่วนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ในเขตต่างๆ ที่ประสบภัยแผ่นดินไหวเริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ (30) เป็นต้นไป ทั้งนี้ตามคำแถลงของรัฐบาลฝ่ายต่อต้านที่ใช้ชื่อว่า “รัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ” (NUG) หรือบางทีก็เรียกกันว่า “รัฐบาลเงา”
สำหรับ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า กล่าวกับเจ้าหน้าที่เมื่อวันเสาร์ (29) ว่า จำเป็นต้องฟื้นฟูเส้นทางขนส่งโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ปฏิบัติการกู้ภัยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กระนั้น เอพีรายงานว่า ความพยายามบรรเทาทุกข์ของทางการพม่าถูกจัดส่งไปให้พวกที่ทำการรัฐบาลและที่พักอาศัยของข้าราชการก่อน ปล่อยให้ประชาชนและองค์กรบรรเทาทุกข์ยังคงกู้ภัยและค้นหาผู้รอดชีวิตด้วยมือเปล่าและพลั่ว ท่ามกลางอุณหภูมิร้อนอบอ้าว 41 องศา และนานๆ ครั้งจึงจะเห็นมีรถขุดมาช่วยตักดิน
ตอนบ่ายวันอาทิตย์ ยังคงเกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาดรันแคง 5.1 ทำให้ผู้คนบนถนนพากันกรีดร้อง แต่หลังจากนั้นความพยายามในการค้นหาผู้รอดชีวิตก็กลับมาดำเนินต่อไป
คารา แบร็ก ผู้จัดการบริการบรรเทาทุกข์คาทอลิก ในพม่า ระบุว่า ความพยายามกู้ภัยส่วนใหญ่ดำเนินการโดยอาสาสมัครท้องถิ่นและชาวบ้าน ขณะที่โรงพยาบาลต้องรับภาระหนักจากการต้องดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ในสภาพขาดแคลนเวชภัณฑ์ ส่วนทางด้านประชาชนทั่วไปก็ขาดแคลนทั้งอาหารและน้ำสะอาด
ทางการพม่ายังคงสั่งระงับการให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ในหลายเมือง เนื่องจากสนามบินในมัณฑะเลย์ได้รับความเสียหายและหอควบคุมการบินในกรุงเนปิดอ ถล่ม
อย่างไรก็ตาม เครื่องบินขนส่งทางทหารซี-17 ของอินเดียสามารถลงจอดที่เนปิดอเมื่อคืนวันเสาร์ พร้อมโรงพยาบาลสนามและเจ้าหน้าที่ 120 คน ซึ่งได้เดินทางต่อไปยังมัณฑะเลย์ทันทีเพื่อสร้างศูนย์การรักษาพยาบาลฉุกเฉินขนาด 60 เตียง นอกจากนั้นอินเดียยังจัดส่งสิ่งบรรเทาทุกข์อื่นๆ ไปยังย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของพม่าและเป็นฮับปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ของต่างชาติ
ขณะเดียวกัน คาดว่า รถบรรทุก 17 คันของจีนพร้อมเวชภัณฑ์และอุปกรณ์สำหรับศูนย์พักพิงจะเดินทางถึงมัณฑะเลย์ในวันอาทิตย์
ทางการจีนระบุว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยและผู้เชี่ยวชาญกว่า 135 คน พร้อมอุปกรณ์ เช่น ชุดปฐมพยาบาลและเครื่องปั่นไฟ รวมทั้งรับปากจะให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉินราว 13.8 ล้านดอลลาร์แก่พม่า
สำหรับรัสเซียก็แถลงว่า ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัย 120 คน ทีมแพทย์ และเสบียงไปยังพม่า
ด้านทีมกู้ภัยของสิงคโปร์เข้าปฏิบัติภารกิจในเนปิดอแล้ว ขณะที่มาเลเซียส่งเจ้าหน้าที่ 50 คน พร้อมรถบรรทุก อุปกรณ์ค้นหาและกู้ภัย และเวชภัณฑ์ไปยังพม่า และไทยส่งทหาร 55 นายถึงย่างกุ้งในวันอาทิตย์เพื่อร่วมภารกิจค้นหาและกู้ภัย ขณะที่อังกฤษประกาศให้ความช่วยเหลือ 13 ล้านดอลลาร์
(ที่มา: รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอพี)