อนาคตของพม่า ที่ประเทศที่ถูกสงครามฉีกเป็นชิ้นๆ ตกอยู่ในความไม่แน่นอนมากกว่าเดิม หลังจากประสบเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7.7 เมื่อวันศุกร์(28มี.ค.) หายนะที่แผ่ลามไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ตามรายงานของเดลิเมล สื่อมวลชนของอังกฤษ
ขอบเขตผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจบและความเสียหาย จากแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้ ยังคงไม่ชัดเจน โดยฉพาะในพม่า ซึ่งกำลังตกอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเทือง ดินแดนที่มีการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวด
รายงานข่าวเบื้องต้นพบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย1,600 รายในพม่า และอย่างน้อย 10 คนในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย แต่เชื่อว่ายอดผู้เสียชีวิตในท้ายที่สุดนั้น จะแตะระดับหลายพันคน
เดลิเมล ระบุว่าแม้กระทั่งก่อนหน้าแผ่นดินไหวทำลายล้างสั่นสะเทือนพม่า มีประชาชนมากกว่า 3 ล้านคนในประเทศแห่งนี้ ต้องพลัดถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว และอีกหลายแสนคนถูกตัดขาดจากโครงการอาหารและสาธารณสุขที่สำคัญๆ ผลจากสงครามกลางเมืองนองเลือดที่ยืดเยื้อมากว่า 4 ปี ที่กลุ่มระหว่างประเทศทั้งหลายกล่าวหาว่ามีการเล็งเป้าเล่นงานพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้า
พม่า ตกอยู่ในความยุ่งเหยิงมาตั้งแต่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางอองซาน ซูจี ในวันที่1 กุมภาพันธ์ 2021 โหมกระพือการต่อต้านของประชาชนในวงกว้าง
หลังจากการประท้วงอย่างสงบถูกสกัดโดยการใช้กองกำลังถึงตาย พวกฝ่ายต่อต้านการปกครองของทหารจำนวนมาก ได้หันไปหยิบอาวุธ ทำให้ตอนนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยุ่งเหยิงอยู่ในความขัดแย้ง
ก่อนหน้าเกิดแผ่นดินไหว สหประชาชาติคาดหมายว่าพลเรือนหลายแสนคนต้องไร้ถิ่นฐานจากการสู้รบภายใต้ และมีประชาชนราว 18.6 ล้านคน ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
แต่ตามหลังภัยพิบัติเลวร้ายในวันศุกร์(28มี.ค.) คณะรัฐประหารที่ปกครองพม่า ที่ส่งเสียงวิงวอนแบบที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นนัก ร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ และบอกว่าต้องการเลือดเป็นอย่างมากในพื้นที่ที่โดนผลกระทบหนักหน่วงที่สุด
เทเลกราฟ รายงานอ้างแพทย์รายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม แสดงความกังลว่าระบบบริการสุขภาพจะไม่สามารถรับมือได้ และบอกว่าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ไม่มีทรัพยากรทางการแพทย์และกำลังคนอย่างเพียงพอ เช่นเดียวกับไม่มีการเตรียมพร้อมและไม่มีระบบการจัดการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ให้สัมภาษณ์กับไทม์เรดิโอ ว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจเป็น "หายนะซ้อนหายนะ" พร้อมะบุ "คุณมีประชาชน 20 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ก่อนแผ่นดินไหว 3 ล้านคนต้องเป็นบุคคลพลดถิ่น มากกว่าครึ่งของประชาชนดำดิ่งสู่ความขัดสน ดังนั้นคุณกำลังเผชิญกัสถานการณ์ที่ยากลำบากมากๆ"
โจ ฟรีแลนด์ ทีมวิจัยด้านพม่า ขององค์การนิรโทษกรรมสากล บอกว่า "แผ่นดินไหวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ดีนัก"
หายนะครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ แถลงระงับโครงการความช่วยเหลือต่างประเทศเป็นเวลา 90 วัน ไปไม่นานก่อนหน้านี้ มันนำมาซึ่งการปรับลดอื่นๆในการบริการดูแลผู้ลี้ภัยจากพม่า ในนั้นรวมถึงการปิดสถานพยาบาลในแคมป์ผู้ลี้ภัยต่างๆในไทย ซึ่งมีผู้พักอาศัยอยู่มากกว่า 100,000 น
โครงการอาหารโลก ระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ ว่าการปันส่วนอาหารเกือบทั้งหมดที่แจกจ่ายในพม่า จะถูกตัดขาดในเดือนเมษายน แม้ว่าประเทศแห่งนี้กำลังเผชิญวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่สิ้นหวัง
ทางโครงการอาหารโลกบอกต่อว่าพวกเขาต้องการเงินทุนถึง 60 ล้านดอลลาร์ สำหรับเดินหน้าความช่วยเหลือทางอาหารในพม่า และเรียกร้องให้บรรดาคู่หูเดินหน้าให้การสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติม
นอกจากนี้แล้วทางโครงการอาหารโลก ยังเผยด้วยว่ามีประชาชน 15.2 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชาชนทั้งหมดไม่มีอาหารเพียงพอสำหรับรับประทานขั้นน้อยสุดในแต่วัน และราว 2.3 ล้านคน ต้องเผชิญกับภาวะหิวโหยในระดับฉุกเฉิน
ขอบเขตการเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและความเสียหาย ทั่วภูมิภาคยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในพม่า หนึ่งในชาติที่ยากจนที่สุดของโลก แต่ทางสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ คาดหมายว่ายอดผู้เสียชีวิตอาจแตะระดับ 1,000 คน ก่อนปรับเพิ่มคาดการณ์ในเวลาต่อมา ว่าอาจสูงถึง 10,000 ถึง 100,000 คน
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ระบุระหว่างปราศรัยผ่านสถานีโทรทัศน์ ว่า "ยอดผ้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ คาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้นกว่านี้"
รัฐบาลพม่า บอกว่าต้องการเลือดเป็นอย่างมากในพื้นที่ต่างๆที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในมัณฑะเลย์, สะกาย, มะกเว, ฉาน และบะโก
สหประชาชาติจัดสรรงบประมาณสำหรับความพยายามบรรเทาทุกข์แล้ว 5 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตามภาพถ่ายถนนบิดเบี้ยวและมีรอยแยกขนาดใหญ่ และมีรายงานเกี่ยวกับสะพานถล่มและเขื่อนแตก ได้ก่อความกังวลว่าทีมกู้ภัยจะเข้าไปยังบางพื้นที่ได้อย่างไร ในประเทศที่ประสบกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมอยู่ก่อนแล้ว
Global New Light of Myanmar หนังสือพิมพ์แห่งรัฐ ฉบับภาษาอังกฤษของพม่า ระบุว่ามีเมืองและหมู่บ้าน 5 แห่ง ที่พบเห็นอาคารพังถล่ม และมีสะพานพังครืน 2 แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นสะพานถนนหลวงหลักที่เชื่อมไปยังมัณฑะเลย์
โมฮัมเหมด ริยาส ผู้อำนวยการด้านพม่า ของคณะกรรมการกู้ภัยระหว่างประเทศ ระบุในถ้อยแถลง่า มันอาจต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ก่อนที่จะถึงขอบเขตหายนะที่แท้จริงในประเทศแห่งนี้ และเน้นย้ำว่ามีความเป็นไปได้ที่พม่าจะเจอกับผลกระทบที่รุนแรง
(ที่มา:เดลิเมล/เทเลกราฟ)