ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนประกาศจะไม่ยอมรับข้อตกลงแร่ธาตุซึ่งกระทบต่อโอกาสของยูเครนในการบูรณาการกับสหภาพยุโรป หลังสหรัฐฯ ออกมายื่นข้อเสนอใหม่ที่ขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่ยังคงไร้หลักประกันความมั่นคงให้กับเคียฟ
ผู้นำยูเครนให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงเคียฟว่า ทีมทนายของยูเครนจะต้องพิจารณาร่างข้อตกลงก่อนที่ตนจะสามารถให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อเสนอใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือสหรัฐฯ เรียกร้องให้ยูเครนต้องยอมส่งมอบรายได้ทั้งหมดจากทรัพยากรแร่ธาตุเป็นเวลาหลายปีต่อเนื่อง
เซเลนสกี ยังกล่าวด้วยว่า เคียฟจะไม่ยอมรับว่าเงินช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐที่วอชิงตันให้มาก่อนหน้านี้เป็น "เงินกู้" ที่ต้องชดใช้คืน แต่ก็ไม่ระบุชัดเจนว่า ข้อเรียกร้องนี้ปรากฏอยู่ในร่างข้อเสนอฉบับล่าสุดของสหรัฐฯ หรือไม่
ผู้นำยูเครนยอมรับว่า เนื้อหาของข้อเสนอฉบับล่าสุดนี้ "แตกต่างสิ้นเชิง" กับกรอบข้อตกลงที่ตนเคยจะลงนามร่วมกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนจะเกิดสงครามวิวาทะกลางทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 28 ก.พ.
"ผมไม่อยากจะจุดประเด็นโต้เถียง ผมขอให้ทีมทนายของเราได้ศึกษารายละเอียดเสียก่อน" เซเลนสกี แถลงต่อสื่อที่กรุงเคียฟ
รัฐบาล ทรัมป์ ซึ่งพลิกจุดยืนของสหรัฐฯ ไปแสดงความเห็นอกเห็นใจเหตุผลของรัสเซียในการทำสงครามรุกรานยูเครนพยายามเดินเกิมบีบ เซเลนสกี มานานหลายสัปดาห์เพื่อให้ยอมลงนามเปิดทางอเมริกาเข้าถึงทรัพยากรแร่หายาก
เซเลนสกี ยืนยันว่าตน "ยอมรับแนวคิด" ดังกล่าว แต่จะไม่ยอมลงนามข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่จะทำให้ยูเครนต้องยากจนลงและประชาชนต้องกลายเป็นหนี้ไปอีกหลายสิบปี
เขายังตัดพ้อเมื่อวันพฤหัสบดี (27) ว่า สหรัฐฯ เปลี่ยนเงื่อนไขกลับไปกลับมาตลอด แต่ก็ไม่อยากให้วอชิงตันคิดว่าตนไม่รับหลักการ
แหล่งข่าวใกล้ชิดการเจรจา 3 คนบอกกับรอยเตอร์ว่า สหรัฐฯ มีการปรับแก้ข้อเสนอจริง โดยข้อเสนอล่าสุดก็ยังไม่มีการค้ำประกันความมั่นคงให้ยูเครนเหมือนเคย แถมยังเรียกร้องให้ยูเครนยกผลกำไรทั้งหมดจากทรัพยากรแร่ที่ส่งเข้ากองทุนร่วมให้กับสหรัฐฯ
ข้อเสนอล่าสุดของสหรัฐฯ สรุปใจความสำคัญคร่าวๆ ว่า วอชิงตันต้องได้รับสิทธิซื้อทรัพยากรแร่ที่สกัดออกมาได้เป็นรายแรก และจะสามารถเก็บรวบรวมรายได้เพื่อ "ทวงคืน" เงินช่วยเหลือทั้งหมดที่ให้ยูเครนไปตั้งแต่ปี 2022 บวกอัตราดอกเบี้ยอีก 4% ต่อปี หลังจากนั้นยูเครนจึงจะสามารถเข้าถึงผลกำไรของกองทุนร่วมได้
สำหรับกองทุนร่วมที่ว่านี้จะถูกบริหารจัดการโดยบริษัทการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐฯ (U.S. International Development Finance Corporation) และจะมีคณะผู้บริหารทั้งหมด 5 คนซึ่งแต่งตั้งโดยสหรัฐฯ 3 คนและโดยยูเครน 2 คน ส่วนเงินทุนนั้นจะถูกแปลงเป็นสกุลเงินต่างประเทศ และถูกส่งออกนอกยูเครน
ที่มา: รอยเตอร์