รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของไต้หวันคนหนึ่งจะเดินทางเยือนสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ เพื่อยลโฉมเครื่องบินขับไล่ F-16 รุ่นใหม่ลำแรกที่ประกอบเสร็จและเตรียมส่งมอบให้กับไต้หวัน โดยถือเป็นการเยือนสหรัฐฯ อย่างเปิดเผยครั้งแรกของเจ้าหน้าที่ระดับสูงไต้หวันในยุครัฐบาลทรัมป์ 2.0
สหรัฐฯ ในปี 2019 ได้อนุมัติโครงการจำหน่ายฝูงบินขับไล่ F-16V ซึ่งผลิตโดย ล็อกฮีด มาร์ติน ให้กับไต้หวันรวมมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อทำการส่งมอบครบจะทำให้ไต้หวันมีฝูงบิน F-16 มากกว่า 200 ลำ ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และถือเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บเพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มองว่าไต้หวันเป็นดินแดนในอธิปไตยซึ่งจะต้องถูกรวมมาอยู่ภายใต้การปกครองของปักกิ่งในสักวันหนึ่ง
ไต้หวันได้ทำการอัปเกรดฝูงบิน F-16A/B จำนวน 141 ลำให้กลายเป็น F-16V และยังสั่งซื้อ F-16V เพิ่มเติมจากสหรัฐฯ อีก 66 ลำ ซึ่งจะมีระบบการบิน อาวุธ และเรดาร์ที่ทันสมัยยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถต่อกรกับกองทัพอากาศของจีน ซึ่งรวมถึงเครื่องบินขับไล่สเตลธ์ J-20
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไต้หวันโอดครวญเรื่อยมาว่าการส่งมอบ F-16V นั้นล่าช้ากว่าที่กำหนด และยังเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบซอฟต์แวร์ด้วย
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่ไทเปวันนี้ (26 มี.ค.) เจียง หยวนฉี (Chiang Yuan-chi 江元琦) ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนของกองทัพอากาศไต้หวัน ระบุว่า เครื่องบิน F-16V ลำแรกจะออกจากโรงงานผลิตที่รัฐเซาท์แคโรไลนาในสัปดาห์นี้ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมไต้หวันคนหนึ่งจะนำคณะผู้แทนไปร่วมพิธีดังกล่าว
อย่างไรก็ดี เจียง ไม่ได้ระบุชื่อของรัฐมนตรีที่จะเดินทางไปสหรัฐฯ และไต้หวันนั้นมีรัฐมนตรีช่วยกลาโหมอยู่ 2 คน
“เครื่องบิน F-16V ลำแรกถูกประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว” เจียง กล่าว พร้อมเผยว่าคำสั่งซื้อจากไต้หวันน่าจะถูกผลิตเสร็จสิ้นภายในปีหน้า
ทั้งนี้ ไต้หวันส่งนักบินขับไล่ F-16 ไปทำการฝึกที่ฐานทัพอากาศลุค (Luke Air Force Base) ในรัฐแอริโซนา
สำหรับการเยือนสหรัฐฯ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไต้หวันนั้นมักจะกระทำแบบเงียบๆ และไม่ออกคำแถลงอย่างเป็นทางการ ซึ่งแตกต่างจากการไปเยือนของเจ้าหน้าที่จากประเทศพันธมิตรอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่นและอังกฤษ
ปีที่แล้ว ผู้บัญชาการกองทัพเรือไต้หวันก็ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เช่นกัน
จีนเรียกร้องเรื่อยมาให้สหรัฐฯ ยุติการมีปฏิสัมพันธ์ทางทหารกับไต้หวันในทุกรูปแบบ ขณะที่สำนักงานกิจการไต้หวันของจีนยังไม่ออกมาให้ความเห็นใดๆ ในประเด็นนี้
สหรัฐฯ มีพันธกรณีตามกฎหมายที่จะต้องสนับสนุนไต้หวันให้สามารถปกป้องตนเองได้ แม้จะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน เนื่องจากวอชิงตันยังคงยึดถือนโยบายจีนเดียวซึ่งให้การรับรองปักกิ่งเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องของจีนเพียงหนึ่งเดียว
ที่มา: รอยเตอร์