คณะผู้แทนระดับสูงสหรัฐฯ เตรียมเดินทางไปเยือนเกาะกรีนแลนด์ในสัปดาห์นี้เพื่อเยี่ยมฐานทัพอเมริกันและชมการแข่งขันสุนัขลากเลื่อน ท่ามกลางการจับตามองอนาคตของดินแดนกึ่งปกครองตนเองของเดนมาร์กแห่งนี้ หลังประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชัดเจนว่าอยากจะ “ยึด” มาเป็นของอเมริกา
อูชา แวนซ์ ภริยาของรองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ จะนำคณะผู้แทนของสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึง ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว และคริส ไรท์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ไปเยือนกรีนแลนด์
วอลซ์ และ ไรท์ มีกำหนดการไปเยือนฐานทัพอวกาศพิทัฟฟิก (Pituffik Space Base) ซึ่งเป็นฐานทัพของสหรัฐฯ ในกรีนแลนด์ และจะรับฟังรายงานสรุปจากทหารอเมริกันซึ่งประจำการอยู่ที่นั่น ตามข้อมูลจากทำเนียบขาว
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ทั้งสองจะติดตามสุภาพสตรีหมายเลข 2 ของสหรัฐฯ ไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่างๆ และร่วมชมการแข่งขันสุนัขลากเลื่อนแห่งชาติ
ไบรอัน ฮิวจ์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว ระบุว่า คณะผู้แทนสหรัฐฯ “มีความเชื่อมั่นว่า การไปเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่จะเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่เคารพความปรารถนาของชาวกรีนแลนด์ และส่งเสริมความร่วมมือในเชิงเศรษฐกิจ”
“นี่คือการไปเยือนเพื่อศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และผู้คนของกรีนแลนด์ และเพื่อเข้าร่วมชมการแข่งขันสุนัขลากเลื่อนซึ่งสหรัฐฯ มีความภูมิใจที่จะสนับสนุน แค่นั้นเอง” ฮิวจ์ กล่าว
การยึดเกาะกรีนแลนด์มาเป็นของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่ ทรัมป์ พูดถึงอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ม.ค. โดยทำเลที่ตั้งของกรีนแลนด์นั้นถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดจากยุโรปไปอเมริกาเหนือ และยังจำเป็นต่อระบบเตือนภัยขีปนาวุธของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีทรัพยากรแร่ธาตุต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่ออเมริกาอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ทางการกรีนแลนด์และเดนมาร์กต่างแสดงจุดยืนคัดค้านแผนการของ ทรัมป์ ที่จะยึดเกาะแห่งนี้
รัฐบาลกรีนแลนด์ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่รักษาการ หลังพรรคที่หนุนการแยกตัวเป็นเอกราชจากเดนมาร์กแบบค่อยเป็นค่อยไปชนะศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนการเยือนของคณะผู้แทนสหรัฐฯ
ด้านนายกรัฐมนตรี เมตเต เฟนเดอริกเซน แห่งเดนมาร์ก ได้มีถ้อยแถลงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรระบุว่า แผนการเยือนของสุภาพสตรีหมายเลข 2 และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ “คือสิ่งที่เรามองเป็นเรื่องจริงจัง” โดยเธอยืนยันว่าเดนมาร์กพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ แต่จะต้องเป็นความร่วมมือที่ตั้งอยู่บน “หลักพื้นฐานเรื่องอธิปไตย”
เฟรเดริกเซน ยังย้ำว่า การเจรจากับสหรัฐฯ เรื่องอนาคตของกรีนแลนด์จะต้องอาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดทั้งจากรัฐบาลเดนมาร์ก และรัฐบาลท้องถิ่นกรีนแลนด์ชุดใหม่
ที่มา : รอยเตอร์