อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกยังต้องหาวิธีจัดการกับผู้โดยสารที่ตกค้าง และแก้ไขตารางบินที่ปั่นป่วนอย่างหนักจากผลของเหตุเพลิงไหม้สถานีไฟฟ้าย่อยซึ่งทำให้ต้องมีการปิดท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์เมื่อวานนี้ (21 มี.ค.) ท่ามกลางประเด็นคำถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
แม้ว่าบางเที่ยวบินจะเริ่มกลับมาเปิดทำการได้ตามปกติตั้งแต่เย็นวันศุกร์ (21) แต่การปิดสนามบินซึ่งมีผู้โดยสารคับคั่งมากเป็นอันดับ 5 ของโลกเกือบตลอดทั้งวันก็ส่งผลให้ผู้โดยสารหลายหมื่นคนต้องหาโรงแรมที่พักและที่นั่งทดแทนซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่สายการบินต่างๆ ก็ต้องพยายามนำเครื่องบินและลูกเรือของตนกลับฐาน
อุตสาหกรรมการบินซึ่งคาดว่าจะเผชิญมูลค่าความเสียหายหลายสิบล้านปอนด์ และยังไม่รู้ว่าใครควรจะเป็นผู้จ่าย ตั้งคำถามว่าโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญระดับนี้ถูกปล่อยให้ล่มโดยปราศจากแผนสำรองได้อย่างไร
"นี่คือความล้มเหลวชัดเจนในด้านการวางแผนบริหารจัดการสนามบิน" วิลลี วอลช์ ผู้อำนวยการสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ซึ่งเป็นอดีตนักบินบริติชแอร์เวย์ส และเคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของฮีทโธรว์มาแล้วหลายครั้ง ให้ความเห็น
สนามบินฮีทโธรว์มีกำหนดรองรับเที่ยวบินขึ้น-ลงทั้งหมด 1,351 เที่ยวบิน และผู้โดยสารราว 291,000 คนในวันศุกร์ (21) ทว่าการปิดสนามบินอย่างกะทันหันส่งผลให้เครื่องบินจำนวนมากต้องเปลี่ยนเส้นทางไปลงจอดที่สนามบินอื่นๆ ในอังกฤษและทั่วยุโรป ขณะที่เที่ยวบินระยะไกลหลายเที่ยวจำเป็นต้องหันหัวกลับไปยังสนามบินต้นทาง
โทมัส โวลด์บาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสนามบินฮีทโธรว์ คาดการณ์ว่าสนามบินแห่งนี้จะ "เปิดดำเนินการได้ตามปกติอย่างเต็มรูปแบบ" ภายในวันเสาร์ (22)
อย่างไรก็ดี เมื่อถูกถามว่าใครจะรับผิดชอบมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น? โวลด์บาย ก็ตอบแค่ว่า "มีกระบวนการรองรับอยู่แล้ว" พร้อมเสริมว่า "เราไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์ลักษณะนี้"
กระทรวงคมนาคมอังกฤษได้ยกเว้นข้อจำกัดด้านการบินในเวลากลางคืนชั่วคราวเพื่อลดความแออัดที่เกิดขึ้น ทว่า ฌอน ดอยล์ ผู้บริหารบริติชแอร์เวย์ส ยังคงออกมาเตือนว่าการปิดสนามบินครั้งนี้ "จะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารไปอีกหลายวัน"
เวอร์จินแอตแลนติกแถลงว่า สายการบินคาดว่าจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินตามตารางได้เกือบทั้งหมด โดยมีการยกเลิกเที่ยวบินอย่างจำกัดภายในวันเสาร์ (22) ทว่าสถานการณ์ยังคงไม่แน่นอน และทุกเที่ยวบินยังต้องอยู่ภายใต้กระบวนการทบทวนอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจาก Cirium ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ด้านการบินระบุว่า เหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้ทำให้สายการบินต่างๆ เช่น เจ็ตบลู อเมริกันแอร์ไลน์ส แอร์แคนาดา แอร์อินเดีย เดลตาแอร์ไลน์ส ควอนตัส ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ส บริติชแอร์เวย์ส และเวอร์จิน จำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทาง หรือวกกลับไปยังสนามบินต้นทาง
ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินชี้ว่า ครั้งล่าสุดที่สนามบินในยุโรปเคยเผชิญเหตุขัดข้องรุนแรงถึงขนาดนี้คือกรณีการระเบิดของภูเขาไฟที่ไอซ์แลนด์เมื่อปี 2010 ซึ่งทำให้ต้องมีการยกเลิกเที่ยวบินประมาณ 100,000 เที่ยว
ทั้งนี้ ผู้โดยสารบางคนที่ถูกบังคับให้ไปลงจอดในยุโรปอาจจำเป็นต้องติดอยู่ในทรานซิตเลาจน์ (transit lounges) หากไม่มีเอกสารรับรองให้ออกจากสนามบินได้
ขณะเดียวกัน ราคาห้องโรงแรมรอบๆ สนามบินฮีทโธรว์ก็พุ่งทะยานขึ้นทันตาเห็นไปอยู่ที่ราวๆ 500 ปอนด์ต่อคืน (ราว 21,800 บาท) หรือเพิ่มขึ้นจากเวลาปกติถึง 5 เท่าตัว
ตำรวจอังกฤษแถลงว่า จากการประเมินในเบื้องต้นยังไม่พบเหตุไม่ชอบมาพากลจากกรณีสถานีไฟฟ้าย่อยใกล้สนามบินฮีทโธรว์เกิดเพลิงไหม้ ทว่ากระบวนการสอบสวนยังคงดำเนินอยู่ ขณะที่สำนักงานดับเพลิงลอนดอนก็ระบุว่าการสอบสวนยังคงมุ่งเน้นไปที่ความบกพร่องของอุปกรณ์จ่ายไฟ
ฮีทโธรว์และสนามบินหลักอื่นๆ ในกรุงลอนดอนเคยเผชิญเหตุขัดข้องมาแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดคือปัญหาประตูอัตโนมัติเสีย และระบบควบคุมการจราจรทางอากาศล้มเหลว ซึ่งล้วนแต่เกิดขึ้นในปี 2023
ที่มา : รอยเตอร์