กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ปฏิเสธข่าวลือที่ว่ามีการติดตั้ง "kill switch" บนเครื่องบินขับไล่ F-35 ที่ส่งออกไปต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลว่ามันอาจเปิดทางให้อเมริกาปิดระบบการทำงานของเครื่องบินจากระยะไกลได้ทุกเมื่อ
ข่าวลือนี้ปรากฏขึ้นมาตามหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ แถลงตัดความช่วยเหลือด้านการทหารและการแบ่งปันข้อมูลแก่ยูเครน โหมกระพือความกังวลว่าเครื่องบินขับไล่บางส่วนที่ถูกส่งไปประเทศแห่งนี้อาจถูกตัดขาดการใช้งานโดยทันทีเช่นกัน
ขณะเดียวกัน แคนาดาซึ่งได้สั่งซื้อเครื่องบิน F-35 จำนวน 88 ลำ เวลานี้ถูกเร่งเร้าให้ทบทวนพิจาณาการจัดซื้อดังกล่าว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับ "ระดับการควบคุม" ของเพนตากอนที่อาจมีเหนือเครื่องบินขับไล่ล่องหนรุ่นนี้
ล่าสุด ทางสำนักงานโครงการร่วม (JPO) สำหรับโครงการ F-35 ได้ออกมาเน้นย้ำว่ากลไกควบคุมทางไกลดังกล่าวนั้น "ไม่มีอยู่จริง" และสหรัฐฯ มุ่งมั่นรับประกันว่า "ผู้ใช้จะมีทุกฟังก์ชันของเครื่องบินรบรุ่นที่ 5 นี้อย่างครบถ้วน"
"ไม่มี kill switch" สำนักงานแห่งนี้เน้นย้ำ "โครงการนี้ปฏิบัติการภายใต้ข้อตกลงที่จัดทำขึ้นเป็นอย่างดี ที่รับประกันว่าพวกผู้ปฏิบัติการ F-35 ทุกราย จะมีศักยภาพที่จำเป็นสำหรับปฏิบัติการเครื่องบินของพวกเขาอย่างมีประสิทธิภาพ"
โจอาชิม ชรานโชเฟอร์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารมวลชน Hensoldt บริษัทกลาโหมของเยอรมนี บอกกับสื่อมวลท้องถิ่นว่า คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับ " kill switch" ใน F-35 อาจเป็นอะไรที่มากกว่าข่าวลือ เขาไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม แต่บ่งชี้ว่าอาจทำให้เครื่องบิน F-35 ที่ปฏิบัติการโดยต่างชาติขึ้นบินไม่ได้ ด้วยการขัดขวางการเข้าถึงการอัปเดตซอฟต์แวร์สำคัญๆ
ในฐานะแหล่งผู้ผลิต สหรัฐฯ จะป็นผู้มอบการสนับสนุนและการบำรุงรักษาสำคัญๆ แก่เครื่องบิน F-35 ทุกลำที่ส่งออกไปยังบรรดาชาติพันธมิตร ซึ่งพวกนักวิเคราะห์กลาโหมบางส่วน มองว่าการที่ต้องพึ่งพิงอเมริกามากเกินไปในเรื่องนี้ อาจก่อความอ่อนแอทางยุทธศาสตร์แก่ชาติผู้ซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคนาดา
"ด้วยการตัดขาดการสนับสนุนด้านบำรุงรักษา การส่งออกอะไหล่ และตัดขาดเครื่องบิน F-35 ของต่างชาติ จากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ เครื่องบินรุ่นนี้จะโซซัดโซเซในทันที" ผู้อำนวยการรายหนึ่งจาก Center for a New American Security บอกกับดีเฟนซ์โพสต์ "หากไม่ได้อัปเดตซอฟต์แวร์ เครื่องบิน F-35 อาจยังคงบินได้อยู่ แต่มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า มันจะถูกสอยร่วงโดยระบบป้องกันภัยทางอากาศของศัตรู"
จนถึงเดือนมีนาคา 2025 มีอยู่ 14 ชาติที่เป็นลูกค้า F-35 ในนั้นรวมถึงออสเตรเลียและญี่ปุ่น
(ที่มา : ดีเฟนซ์โพสต์)