กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติรัสเซียประกาศแผนผลิตลิเธียมคาร์บอเนตให้ได้อย่างน้อย 60,000 เมตริกตันภายในปี 2030 โดยมีเป้าหมายลดพึ่งพาการนำเข้า และส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้ากำลังสูง (high-capacity electric batteries)
ลิเธียมและแร่ธาตุสำคัญอื่นๆ รวมไปถึงกลุ่มแร่หายากหรือ “แรร์เอิร์ธ” กลายเป็นสิ่งทั่วโลกให้ความสนใจเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้เสนอทำข้อตกลงแร่ธาตุกับทั้งยูเครนและรัสเซียเพื่อแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์กับ “จีน” ซึ่งครองตลาดแร่หายากอยู่ในตอนนี้
ลิเธียมซึ่งเป็นแร่โลหะที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าถูกขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (USGS) เป็น 1 ใน 50 แร่ธาตุที่มีความสำคัญยิ่งยวด และเชื่อกันว่ารัสเซียนั้นมีแหล่งสำรองลิเธียมออกไซด์อยู่ประมาณ 3.5 ล้านตัน
USGS ประเมินว่า รัสเซียมีลิเธียมสำรองอยู่ประมาณ 1 ล้านตันในปี 2024 ซึ่งถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 14 ของโลก โดยลิเธียมออกไซด์นั้นจะมีลิเธียมบริสุทธิ์อยู่ราวๆ 1 ใน 3 ขณะที่ลิเธียมคาร์บอเนตจะมีลิเธียมบริสุทธิ์อยู่ราว 20%
“อุตสาหกรรมการผลิตลิเธียมในประเทศจะเริ่มภายในปี 2030” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติรัสเซียระบุ
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า มอสโกควรเร่งรัดแผนการขุดสำรวจแหล่งแร่ลิเธียมในประเทศ
ความต้องการลิเธียมเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากหลายบริษัทในรัสเซียต่างเดินหน้าผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมและรถยนต์ไฟฟ้าในระดับอุตสาหกรรม
“ที่ผ่านมาประเทศของเรานำเข้าลิเธียมเป็นหลัก แต่ปัจจุบันนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องตั้งโรงงานเพื่อเพิ่มการสกัดและแปรรูปแร่ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจชนิดนี้ให้ได้อย่างรวดเร็ว” กระทรวงระบุ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติรัสเซียได้ออกใบอนุญาตสำรวจแหล่งแร่ลิเธียมสำรองที่สำคัญ 3 แหล่ง ได้แก่ แหล่ง Kolmozerskoye และแหล่ง Polmostundrovskoye ในภูมิภาคเมอร์มันสก์ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย และแหล่ง Tastygskoye ในภูมิภาคตูวาซึ่งติดกับมองโกเลีย
แหล่งลิเธียมทั้ง 3 แหล่งรวมถึงโรงงานผลิตแร่ที่อยู่ติดกันคาดว่าจะเริ่มปฏิบัติงานได้ภายในปี 2030
ในปี 2023 รัสเซียสามารถผลิตลิเธียมได้เพียง 27 ตัน โดยเป็นผลพลอยได้จากแหล่งมรกตบริเวณเทือกเขาอูราล
ที่มา : รอยเตอร์