xs
xsm
sm
md
lg

จะทำได้ไหม! จนท.รัสเซียชูเงื่อนไขสันติภาพ ย้ำยูเครนต้อง 'เป็นกลาง-ห้ามเข้านาโต'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่วันนี้ (17 มี.ค.) ว่า มอสโกจะเรียกร้องการการันตีที่ "หนักแน่นประดุจเหล็ก" ว่าชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จะต้องไม่สนับสนุนให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิก และยูเครนต้องรักษาจุดยืนเป็นกลาง (neutral) หากจะมีการทำข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงคราม

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ พยายามโน้มน้าวให้ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ยอมรับข้อตกลงหยุดยิงนาน 30 วัน ซึ่งฝ่ายยูเครนตอบตกลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทว่า ปูติน ระบุว่ายังจำเป็นต้องเพิ่มเติมเงื่อนไขบางอย่างให้เป็นที่รับได้สำหรับมอสโก

สตีฟ วิตคอฟฟ์ ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับ CNN วานนี้ (16 มี.ค.) หลังเดินทางกลับจากหารือ ปูติน ที่กรุงมอสโก โดยกล่าวว่า ทรัมป์ และ ปูติน น่าจะได้พูดคุยกันโดยตรงภายในสัปดาห์นี้เกี่ยวกับแนวทางปิดฉากสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปี 

อเล็กซานเดอร์ กรุชโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์สื่อ Izvestia โดยไม่ได้เอ่ยถึงข้อเสนอหยุดยิงของสหรัฐฯ โดยตรง แต่ย้ำว่าข้อตกลงสันติภาพที่ยั่งยืนใดๆ ก็ตามจะต้องสนองตอบข้อเรียกร้องของรัสเซียด้วย

"เราจะเรียกร้องให้ข้อตกลงนี้ต้องประกอบไปด้วยการรับประกันที่มั่นคงหนักแน่นประดุจเหล็ก" กรุชโก กล่าว

"การรับรองเหล่านี้รวมถึงสถานะเป็นกลางของยูเครน และบรรดารัฐนาโตจะต้องปฏิเสธไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก"

กรุชโก ยังเอ่ยย้ำจุดยืนของรัสเซียที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งกองกำลังนาโตเข้าไปช่วยรักษาสันติภาพ หรือสังเกตการณ์ในดินแดนยูเครน

อังกฤษและฝรั่งเศสต่างแสดงความพร้อมที่จะส่งทหารเข้าไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพและสังเกตการณ์ข้อตกลงหยุดยิงในยูเครน ขณะที่นายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบานีส แห่งออสเตรเลียก็เปรยว่าแดนจิงโจ้ "เปิดกว้าง" หากมีการร้องขอมา

"(รัสเซียรับไม่ได้ทั้งสิ้น) ไม่ว่าทหารนาโตจะเข้าไปทำภารกิจในยูเครนภายใต้ชื่อใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป นาโต หรือในนามประเทศหนึ่งๆ" กรุชโก กล่าว

"หากพวกเขาไปปรากฏตัวที่นั่น จะถือเป็นการส่งทหารเข้าพื้นที่ขัดแย้ง และจะต้องรับผลที่ตามมาจากการเข้าไปมีส่วนร่วมกับสงคราม"

รัฐมนตรีช่วยผู้นี้ระบุด้วยว่า การส่ง "ผู้สังเกตการณ์ไม่ติดอาวุธ" เข้าไปในยูเครนเป็นสิ่งที่จะหารือกันได้หลังจากที่ 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงสันติภาพแล้ว

"(หลังจากนั้น) เราสามารถพูดคุยถึงการส่งผู้สังเกตการณ์ไม่ติดอาวุธ หรือคณะทำงานฝ่ายพลเรือนที่จะเฝ้าติดตามการบังคับใช้ข้อตกลงสันติภาพหรือกลไกการรับรองต่างๆ" กรุชโก ระบุ "ทว่าในตอนนี้ ยังเปล่าประโยชน์ที่จะคุย"

ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส ระบุในถ้อยแถลงที่เผยแพร่วานนี้ (16) ว่า การจะอนุญาตให้กองกำลังสันติภาพเข้าไปปฏิบัติภารกิจในยูเครนหรือไม่นั้นเป็นอำนาจตัดสินใจของเคียฟ --- ไม่ใช่มอสโก

กรุชโก ระบุว่า บรรดาชาติยุโรปควรเข้าใจว่าการปิดโอกาสรับยูเครนเข้านาโต และล้มเลิกความคิดส่งทหารต่างชาติเข้าไปในดินแดนยูเครน คือทางออกสำหรับภูมิภาค

"เมื่อนั้นความมั่นคงของยูเครนและทั้งภูมิภาคก็จะมั่นคงแข็งแรงในภาพรวม เพราะหนึ่งในต้นตอของความขัดแย้งได้ถูกกำจัดออกไป" กรุชโก กล่าว

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น