xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.กองทัพจีนลั่น! พร้อมทำสงครามได้ 'ทุกเวลา' เพื่อสกัดไม่ให้ 'ไต้หวัน' แยกตัวเป็นเอกราช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ระบุ กองทัพอยู่ในภาวะเฝ้าระวังขั้นสูง โดยมีความพร้อมและความสามารถที่จะทำสงครามได้ "ทุกเวลา" เพื่อสกัดกั้นความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของไต้หวัน

คำเตือนจากนายพล หลิน เซี่ยงหยาง (Lin Xiangyang 林向阳) ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธบริเวณตะวันออก (People's Liberation Army's Eastern Theatre Command) มีขึ้นระหว่างการประชุมเสวนาที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันศุกร์ (14 มี.ค.) เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปีที่กฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน (Anti-Secession Law) มีผลบังคับใช้

รัฐบาลจีนถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนในอธิปไตยที่จะต้องถูกนำกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของปักกิ่งในสักวันหนึ่ง และกฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนก็ถือเป็นพื้นฐานทางกฎหมายที่จีนใช้คัดค้านเอกราชไต้หวัน และส่งเสริมการรวมชาติ นอกจากนี้ ยังกำหนดกรอบการใช้ "แนวทางที่ไม่ใช่สันติวิธี" ภายใต้เงื่อนไขบางประการ เพื่อให้การรวบรวมชาติประสบผลสำเร็จ

การประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14) ยังถือเป็นครั้งแรกที่ผู้บัญชาการ PLA ส่วนหน้าเข้าร่วมกล่าวสุนทรพจน์ และยังเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันที่เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ ไล่ ชิงเต๋อ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำไต้หวันเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว

ปักกิ่งวิจารณ์ ไล่ ว่าเป็น "นักแบ่งแยกดินแดนที่อันตราย" (dangerous separatist) และเป็นตัวการเพิ่มโอกาสที่จะเกิดสงครามข้ามช่องแคบ

จากบทสุนทรพจน์ของ หลิน ที่เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์พีเพิลส์เดลี นายพลจีนรายนี้เตือนว่า "หากพวกนักแบ่งแยกดินแดนไต้หวันยังคงดื้อรั้น หรือใช้แนวทางแบบคนจนตรอก และหากกลุ่มอำนาจภายนอกจงใจทำให้สายสัมพันธ์ข้ามช่องแคบตึงเครียดและปั่นป่วนขึ้น" กองทัพจีนก็จะ "ใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อขัดขวางและลงโทษพวกเขา"

รัฐบาลจีนกล่าวโทษประธานาธิบดี ไล่ ชิงเต๋อ แห่งไต้หวันว่าเป็นตัวการบ่อนทำลายสันติภาพ เนื่องจาก ไล่ มักออกมาพูดเสมอว่า ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ "ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของกันและกัน" และตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว จีนก็เริ่มใช้กฎหมายลงโทษผู้ต้องสงสัยทำกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนหนักขึ้น และยกระดับการซ้อมรบรอบๆ เกาะไต้หวันด้วย

การประชุมเมื่อวันศุกร์ (14) ยังมี จ้าว เล่อจี้ (Zhao Leji 赵乐际) ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ และสมาชิกอันดับ 3 ของคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั่งเป็นประธาน โดย จ้าว ได้เรียกร้องให้มีการ "ปรับปรุง" ระบบกฎหมายเพื่อต่อต้านการประกาศเอกราชของไต้หวัน

ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน ผู้นำไต้หวันได้แถลงยุทธศาสตร์ 17 ข้อเพื่อต่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นภัยคุกคามและความพยายามแทรกซึมจากจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมทั้งประกาศให้กองทัพ PLA เป็น "กองกำลังปฏิปักษ์จากภายนอก" (external hostile force)

มาตรการด้านความมั่นคงที่ ไล่ แถลงนั้นยังรวมถึงการฟื้นฟูระบบศาลทหารไต้หวัน เพื่อไต่สวนทหารที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานปลุกปั่นยุยง ช่วยเหลือศัตรู และนำข้อมูลลับไปเผยแพร่ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G7 ที่แคนาดาก็ได้แสดงจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้นในวันศุกร์ (14) โดยออกคำแถลงร่วมที่สะท้อนจุดยืนหนุนหลังไต้หวันมากขึ้น และยังจงใจละเว้นถ้อยคำประนีประนอมจีนที่เคยมีอยู่ในถ้อยแถลงครั้งก่อนๆ ซึ่งรวมถึงการไม่ระบุว่า G7 ยังคงยึดมั่นนโยบาย "จีนเดียว" (One China) อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

ที่มา : SCMP, รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น