xs
xsm
sm
md
lg

ช่วยหรือขัดขวาง! UK ระดมพันธมิตรตะวันตก ยกระดับกดดันรัสเซียรับข้อเสนอหยุดยิงในยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรในวันเสาร์ (15 มี.ค.) ระบุบรรดาพันธมิตรทั้งหลายนอกเหนือจากสหรัฐฯ กำลังยกระดับการเตรียมพร้อมสนับสนุนยูเครน ในกรณีมีข้อตกลงหยุดยิงกับรัสเซีย ด้วยที่พวกรัฐมนตรีกลาโหมเตรียมกระชับแผนให้หนักแน่นขึ้นในการประชุมในสัปดาห์หน้า

สตาร์เมอร์ เป็นเจ้าภาพการประชุมทางไกล เพื่อยกระดับกดดันให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ตอบรับข้อเสนอหยุดยิงที่ผลักดันโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และเพื่อรวบรวมคำมั่นสัญญาช่วยเหลือให้ได้มาซึ่งข้อตกลงใดๆ บางอย่างที่ ทรัมป์ คาดหมายว่ายุโรปจะทำเช่นนั้น

มีบรรดาผู้นำหลายสิบคนเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ในนั้นรวมถึงจากเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดาและออสเตรเลีย เช่นเดียวกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน และเลขาธิการนาโต แต่ไม่มีสหรัฐฯ เข้าร่วมด้วย

สตาร์เมอร์ บอกว่า "ความตั้งใจของพันธมิตรคือ เน้นย้ำคำมั่นสัญญาทั้งช่วยเหลือยูเครนต้านทานการรุกรานของรัสเซียที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปี และให้ได้มาซึ่งข้อตกลงหยุดยิงใดๆ ที่ปรากฏออกมาจากการเลียบเคียงทาบทามของทรัมป์ไปยังรัสเซีย"

ในขณะที่รัสเซียยินดีกับข้อเสนอหยุดยิงโดยหลักการ แต่พวกเขากำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่โดยพื้นฐานแล้วเป็นการเน้นย้ำเป้าหมายทั้งหลายของพวกเขาในการทำสงคราม บ่งชี้ว่าข้อตกลงหยุดยิงใดๆ คงไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

สตาร์เมอร์บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า "เราเห็นพ้องว่าเราจะเดินหน้าเพิ่มแรงกดดันรัสเซีย เดินหน้าป้อนกระแสความช่วยเหลือทางทหารไปยังยูเครน และเดินหน้ากระชับข้อจำกัดต่างๆ ที่กำหนดเล่นงานเศรษฐกิจรัสเซีย เพื่อก่อความอ่อนแอแก่กลไกในการทำสงครามของปูติน และนำเขาเข้าสู่โต๊ะเจรจา"

ความเคลื่อนไหวประชุมระดมพันธมิตรครั้งนี้ มีขึ้นหลังจาก ทรัมป์ ปฏิเสธรับประกันความมั่นคงของยุโรปและของยูเครน บีบให้ชาติตะวันตกอื่นๆ ต้องลุกทำมันด้วยตนเอง "ทหารของเราจะพบปะกันในวันพฤหัสบดีนี้ ที่นี่ในสหราชอาณาจักร เพื่อกำหนดแผนที่หนักแน่นและมั่นคง สำหรับสนับสนุนข้อตกลงสันติภาพและรับประกันความมั่นคงในอนาคตของยูเครน" สตาร์เมอร์กล่าว "ประธานาธิบดีทรัมป์นำเสนอปูติน ในหนทางมุ่งหน้าสู่สันติภาพที่ยั่งยืน เวลานี้เราต้องทำให้เป็นจริง"

สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ต่างบอกว่าอาจส่งกองกำลังสันติภาพเข้าไปยังยูเครนในกรณีที่เกิดข้อตกลงหยุดยิง ส่วนนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียระบุว่าประเทศของเขาก็เปิดกว้างสำหรับคำร้องขอต่างๆ เช่นกัน

ทั้งนี้ หากแม้ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในข้อตกลงหยุดยิง แต่ยังมีส่วนที่เหลืออีกมากที่ยังไม่ชัดเจน ในนั้นรวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสถานะของสหรัฐฯ

เซเลนสกี บอกว่าเขาเน้นย้ำความจำเป็นที่ยูเครนต้องได้รับคำรับประกันด้านความมั่นคง ในนั้นรวมถึงการประจำการทหารต่างชาติ ซึ่งแน่นอนว่ารัสเซียเน้นย้ำพวกเขาจะไม่ยอมรับกองกำลังตะวันตกใดๆ ในดินแดนของยูเครน

ทรัมป์ ระบุในวันศุกร์ (14 มี.ค.) ว่า "มีโอกาสดีมากๆ" ที่สงครามจะหยุดยิง หลังจากผู้แทนทูตของเขาพบปะกับปูตินในกรุงมอสโก อย่างไรก็ตาม เคียฟปฏิเสธข้อเรียกร้องของปูติน เกี่ยวกับให้ละทิ้งความทะเยอทะยานเข้าร่วมนาโตและจำกัดขนาดของกองทัพ และให้รัสเซียควบคุมแคว้นที่ 4 แคว้นของยูเครน ที่พวกเขากล่าวอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน

เซเลนสกี บอกว่าประเด็นดินแดน "เป็นเรื่องซับซ้อน" และควรมีการหารือกันในภายหลัง นอกจากนี้ เขายังแสดงจุดยืนแข็งกร้าวว่าเคียฟจะไม่มีวันยอมรับดินแดนที่ถูกยึดครองว่าเป็นของรัสเซีย

ประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุว่าดูเหมือนยูเครนคงจะไม่ได้ดินแดนกลับไปทั้งหมด แต่ในวันศุกร์ (14 มี.ค.) สหรัฐฯ สนับสนุนแถลงการณ์ของจี7 ที่เน้นย้ำสนับสนุนยูเครน ในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน

นอกจากนี้ บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของจี7 ยังได้เน้นย้ำความจำเป็นสำหรับการเตรียมพร้อมด้านความมั่นคงที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือ เพื่อรับประกันว่ายูเครนจะสามารถป้องปรามหรือป้องกันพฤติกรรมแห่งการรุกรานรอบใหม่ใดๆ

สตาร์เมอร์ บอกว่าท่าทีตอบสนองของปูติน ยังไม่ดีพอ แต่เชื่อว่าไม่ช้าก็เร็ว ผู้นำรัสเซียจะเข้าสู่การเจรจา ขณะที่ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส เสริมว่า "รัสเซียไม่สร้างความประทับใจว่าพวกเขาต้องการสันติภาพอย่างเร็วที่สุด" พร้อมระบุรัสเซียมีแต่ยกระดับความเข้มข้นในปฏิบัติการจู่โจม

"ประธานาธิบดีปูตินต้องการได้มาในทุกๆ สิ่ง จากนั้นแล้วถึงค่อยเจรจา ถ้าเราต้องการสันติภาพ รัสเซียต้องตอบสนองอย่างชัดเจนและจำเป็นมีต้องการกดดันอย่างชัดเจน ภายใต้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อบรรลุข้อตกลงหยุดยิง" มาครง กล่าว

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น