ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ออกมาขู่ในวันพุธ (12 มี.ค.) จะยกระดับสงครามการค้าให้ดุเดือดยิ่งขึ้นอีก ด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าอียูอีกรอบ หลังจากยุโรปรวมทั้งพวกคู่ค้ารายใหญ่ๆ ของอเมริกาต่างบอกว่าจะตอบโต้มาตรการกีดกันการค้าซึ่งประมุขทำเนียบขาวประกาศใช้ก่อนหน้านี้ เวลาเดียวกัน ทางด้านพวกผู้ผลิตสินค้าตั้งแต่ชุดกีฬาจนถึงรถหรูและเคมีภัณฑ์ต่างวิตกแนวโน้มอนาคตที่อึมครึมทั้งในส่วนผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม ขณะนักลงทุนเวียนเฮดกับความปั่นป่วนไม่แน่นอน และหวั่นเกรงกันมากขึ้นกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากมาตรการของทรัมป์ที่ขึ้นภาษีศุลกากรซึ่งเรียกเก็บจากเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมนำเข้าเพิ่มในอัตรา 25% มีผลบังคับใช้ ผู้นำสหรัฐฯ ก็ออกมาระบุว่า เขาจะขึ้นภาษีให้สูงขึ้นอีกเพื่อเป็นการลงโทษ หากสหภาพยุโรปขืนเดินหน้าทำตามแผนการของพวกเขาที่จะรีดภาษีศุลกากรเป็นการตอบโต้เอากับสินค้านำเข้าบางรายการจากอเมริกาตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป “ไม่ว่าพวกเขาขึ้นภาษีเรายังไง เราก็จะขึ้นภาษีพวกเขามั่ง” ทรัมป์บอกกับพวกผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว
ด้าน เจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ก็วิจารณ์การประกาศตอบโต้ของอียูว่า ไม่คำนึงถึงความจริง ความจำเป็นด้านความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกา ตลอดจนความมั่นคงระหว่างประเทศ
การที่ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมคราวนี้ ทำให้พวกคู่ค้ารายใหญ่ๆ ต่างพากันประกาศตอบโต้กันเป็นแถว โดยในวันพุธ (12) อียูแถลงว่า เตรียมขึ้นภาษีกับสินค้าอเมริกันนำเข้ามูลค่า 28,000 ล้านดอลลาร์ ประกอบด้วยไหมขัดฟัน อัญมณี เสื้อคลุมอาบน้ำ และเบอร์เบิน เป็นต้น โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน
ขณะที่แคนาดาซึ่งเป็นซัปพลายเออร์เหล็กกล้าและอะลูมิเนียมรายใหญ่สุดของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีศุลกากร 25% กับสินค้าอเมริกันมูลค่า 20,700 ล้านดอลลาร์ เช่น ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า อะลูมิเนียม คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์กีฬา นับจากวันพฤหัสฯ (13 มี.ค.) ส่วนจีนประกาศพร้อมตอบโต้ด้วยมาตรการทั้งหมดที่จำเป็น
ในอีกด้านหนึ่ง ความกังวลใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีของทรัมป์ กำลังสร้างความปั่นป่วนให้แก่ทั้งพวกนักลงทุนและผู้บริโภค รวมทั้งกัดกร่อนความมั่นใจของภาคธุรกิจ ตลอดจนยังทำให้เกิดความกังวลว่ามันจะสร้างผลกระทบระยะยาวอย่างเช่น ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนั้นแล้ว ทรัมป์ยังทำให้อเมริกาปีนเกลียวกับแคนาดาซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดและคู่ค้าสำคัญด้วยการขู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จะผนวกแคนาดาเข้าเป็นรัฐที่ 51 ของอเมริกา
ผลสำรวจของรอยเตอร์/อิปซอสส์ที่เพิ่งนำออกมาเผยแพร่ในวันพุธ พบว่า คนอเมริกัน 57% คิดว่า ทรัมป์เอาแน่เอานอนไม่ได้เกี่ยวกับความพยายามฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ และ 70% คาดว่า มาตรการภาษีศุลกากรจะทำให้สินค้าแพงขึ้น
ขณะที่ บรูซ แคสแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกน คาดว่า มีความเป็นไปได้ 40% ที่อเมริกาจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ โดยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 50% หากทรัมป์บังคับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ตั้งแต่เดือนหน้าตามที่ขู่ไว้ แคสแมนยังเตือนว่า สถานะของสหรัฐฯ ในการเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่น่าเชื่อถือ อาจได้รับความเสียหายระยะยาว หากทรัมป์ยังคงบ่อนทำลายธรรมาภิบาลของประเทศ
อย่างไรก็ดี ในวันอังคารเมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามเกี่ยวกับภาวะถดถอยที่อาจเกิดจากนโยบายการค้าของอเมริกา ทรัมป์บอกว่า มองไม่เห็นแนวโน้มดังกล่าวแต่อย่างใด
ทว่า พวกผู้ผลิตสินค้าตั้งแต่ชุดกีฬาจนถึงรถหรูและเคมีภัณฑ์ต่างมองเห็นแนวโน้มอึมครึมทั้งในส่วนผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรม จนส่งผลให้ราคาหุ้นดำดิ่ง ตลอดจนมีความกังวลกันมากขึ้นเกี่ยวกับความเสียหายจากสงครามการค้าที่ทรัมป์ก่อขึ้น
พวกนักวิเคราะห์มองว่า แผนการขึ้นภาษีศุลกากร รวมทั้งการบังคับใช้ที่มีการเปลี่ยนใจกลับไปกลับมา นับจากที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม กำลังทำให้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่รถยนต์ถึงพลังงานผันผวนปั่นป่วน
ขณะที่ สตีเฟน โดเวอร์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การตลาดของบริษัทจัดการสินทรัพย์ แฟรงคลิน เทมเปิลตัน สำทับว่า เกือบทุกคนในแวดวงเศรษฐกิจพยายามอย่างหนักในการทำความเข้าใจนโยบายที่พลิกผันอย่างฉับพลันทันด่วนและไร้การควบคุมของวอชิงตัน รวมทั้งผลกระทบจากการตัดสินใจในแต่ละวันของคณะบริหารของทรัมป์
มาตรการภาษีที่เปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็วตลอดเวลาทำให้หลายอุตสาหกรรมเข้าสู่ภาวะอัมพาต ตัวอย่างเช่นผู้ผลิตรถไม่สามารถวางแผนการลงทุนได้ ขณะที่อเมริกาขู่รีดภาษีสินค้านำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และยุโรป แถมคำขู่เช่นว่ายังอาจยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงได้อย่างง่ายดาย
กิโยม ฟอรี ซีอีโอของแอร์บัส เตือนเกี่ยวกับ “ความโกลาหล” ทางการค้า ขณะที่ทั่วโลกพากันออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน
นับจากต้นปีนี้เป็นต้นมา บริษัทใหญ่ที่สุดของอเมริกากว่า 900 แห่ง จาก 1,500 แห่งต่างพากันพูดพาดพิงถึงภาษีศุลกากร ระหว่างการประชุมกับนักวิเคราะห์และนักลงทุน ทั้งนี้ ข้อมูลของแอลเซ็ก
คริสเตียน โคลเพนต์เนอร์ ซีอีโอเบร็นแท็ก ผู้จัดจำหน่ายเคมีภัณฑ์ของเยอรมนี เตือนว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองที่สับสนและเข้าใจยาก สร้างปัญหาในการบริหารธุรกิจ
จัสติน โอนุควูซี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทการลงทุน เซนต์เจมส์ เพลซ ทิ้งท้ายว่า ความเสี่ยงสำคัญคือ บริษัทต่างๆ และผู้บริโภคจะพากันหยุดใช้จ่ายเอาไว้ก่อน
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)