ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการเก็บภาษีศุลกากร 25% จากเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าวันนี้ (12 มี.ค.) ซึ่งถือเป็นการกระพือไฟสงครามการค้าที่กระตุ้นให้สหภาพยุโรป (อียู) ออกมาตอบโต้อย่างทันทีทันใด
ความเคลื่อนไหวของ ทรัมป์ ซึ่งมุ่งปกป้องผู้ผลิตเหล็กและอะลูมิเนียมภายในประเทศส่งผลให้สินค้าจำพวกโลหะจากทุกประเทศที่นำเข้าสหรัฐฯ ถูกรีดภาษี 25% อย่างเสมอหน้า ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย (downstream products) อื่นๆ อีกหลายร้อยชนิด ตั้งแต่นอตเรื่อยไปจนถึงใบมีดรถตักดินและกระป๋องโซดา
คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศมาตรการตอบโต้เกือบจะทันที โดยเตรียมรีดภาษีสินค้าอเมริกันที่นำเข้ายุโรปรวมมูลค่า 26,000 ล้านยูโร หรือ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นไป
บรรดาชาติพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ อย่างแคนาดา อังกฤษ และออสเตรเลีย ต่างออกมาวิจารณ์คำสั่งขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมแบบเหมารวมของทรัมป์ โดยแคนาดาระบุว่ากำลังพิจารณาแนวทางตอบโต้ ขณะที่ โจนาธาน เรย์โนลด์ส รัฐมนตรีกระทรวงธุรกิจและการค้าของอังกฤษ ระบุว่า “ทางเลือกทุกอย่างอยู่ในการพิจารณา” โดยจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
ด้านนายกรัฐมนตรี แอนโทนี อัลบานีส แห่งออสเตรเลีย ชี้ว่าการกระทำของสหรัฐฯ “ไม่ยุติธรรมอย่างสิ้นเชิง และขัดต่อสปิริตแห่งมิตรภาพที่ยาวนานระหว่างทั้ง 2 ประเทศ” แต่ยังคงปฏิเสธการขึ้นภาษีตอบโต้แก้แค้นสหรัฐฯ
“การรีดภาษีและกระพือความตึงเครียดด้านการค้าคือการทำลายตนเองทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่ง และเป็นสูตรสำเร็จที่จะนำไปสู่ความซบเซาทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งทั้งหมดนี้คนจ่ายก็คือผู้บริโภค” อัลบานีส ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของ ทรัมป์ มากที่สุดคือแคนาดาซึ่งเป็นผู้ส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมเข้าสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุด รองลงมาได้แก่บราซิล เม็กซิโก และเกาหลีใต้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการยกเว้นหรือระบบโควตา
ก่อนที่จะถึงกำหนดเส้นตายขึ้นภาษียังเกิด “ดรามา” ขึ้นเล็กน้อย เมื่อ ทรัมป์ ออกมาประกาศขู่วานนี้ (11) ว่าจะปรับขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดาอีกเท่าตัวเป็น 50% ก่อนที่จะยอมถอยในที่สุด หลังจากที่ ดัก ฟอร์ด ผู้ว่าการรัฐออนแทรีโอของแคนาดา ตกลงระงับการเก็บค่าไฟฟ้าที่ส่งออกไปยังลูกค้าในรัฐมินนิโซตา มิชิแกน และนิวยอร์กของสหรัฐฯ เพิ่มอีก 25%
ฟอร์ด ระบุด้วยว่า ตนจะเดินทางไปที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันพฤหัสบดีนี้ (13) พร้อมกับ โดมินิก เลอบลองก์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังแคนาดา เพื่อหารือกับ โฮเวิร์ด ลุตนิค รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ของ ทรัมป์ เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขความตกลงระหว่างสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA)
โฆษกทำเนียบขาวคนหนึ่งชี้ว่า แรงกดดันที่สหรัฐฯ กระทำต่อแคนาดานั้นถือเป็น “ชัยชนะ” สำหรับชาวอเมริกัน
สำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ ได้ระงับการนำเข้าสินค้าที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ยกเว้นภาษีตามระบบโควตาก่อนถึงกำหนดเส้นตายเที่ยงคืน โดยระบุในประกาศถึงผู้นำเข้าว่าจะต้องยื่นเอกสารโควตาให้เสร็จสิ้นภายใน 16.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นวันอังคาร (11) ณ ท่านำเข้า (ports of entry) ไม่เช่นนั้นก็จะถูกเรียกเก็บภาษีแบบเต็มพิกัด
ผู้ผลิตเหล็กในสหรัฐฯ ต่างแสดงท่าทีชื่นชมที่ ทรัมป์ รื้อฟื้นมาตรการเก็บภาษีเหล็กนำเข้าที่เคยบังคับใช้เมื่อปี 2018 ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้อ่อนแอลงไปมากเนื่องจากรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้มีคำสั่งยกเว้นหรือให้โควตากับสินค้าหลายพันชนิดจากหลายๆ ประเทศ
“ด้วยการอุดช่องโหว่ทางภาษีที่ถูกใช้แสวงหาประโยชน์มานานหลายปี ประธานาธิบดี ทรัมป์ จะเพิ่มพลังอีกครั้งให้อุตสาหกรรมเหล็กที่พร้อมจะช่วยฟื้นฟูอเมริกา” ฟิลิป เบลล์ ประธานสมาคมผู้ผลิตเหล็กแห่งสหรัฐฯ ระบุในคำแถลง
“การปรับขึ้นภาษีนำเข้าครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ผลิตเหล็กในอเมริกาสามารถสร้างงานที่มีรายได้สูง และกล้าทุ่มเม็ดเงินลงทุนมากขึ้น เพราะมั่นใจว่าจะไม่เผชิญอุปสรรคจากพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม” เบลล์ เอ่ยเสริม
ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และแคนาดามีขึ้นในขณะที่นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด เตรียมจะส่งมอบอำนาจต่อให้ มาร์ก คาร์นีย์ ซึ่งชนะศึกเลือกตั้งผู้นำพรรคลิเบอรัลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
คาร์นีย์ แถลงเมื่อวันจันทร์ (10) ว่า เขาไม่สามารถพูดคุยกับ ทรัมป์ โดยตรงได้จนกว่าจะสาบานตนเป็นนายกฯ แคนาดาคนใหม่ ขณะที่ ทรัมป์ ก็โพสต์โซเชียลมีเดียเน้นย้ำจุดยืนว่าต้องการให้แคนาดา “กลายเป็นรัฐที่ 51 ของเรา”
โจนาธาน วิลคินสัน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานแคนาดา ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า แคนาดาอาจจะตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น จำกัดการส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐฯ หรือขึ้นภาษีส่งออกแร่ธาตุ เป็นต้น หากว่าสหรัฐฯ ยังคงคำสั่งรีดภาษีสินค้าจากแคนาดาต่อไปเรื่อยๆ
ปัจจุบันแคนาดาส่งออกน้ำมันดิบไปยังสหรัฐฯ ราว 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยผ่านสายท่อส่งเข้าไปยังโรงกลั่นในภูมิภาคมิดเวสต์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้การรีดภาษีเอทานอลนำเข้าจากสหรัฐฯ ก็ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อยู่ในการพิจารณา ตามข้อมูลจาก วิลคินสัน
การค้าระหว่างสหรัฐฯ และแคนาดาส่วนใหญ่ยังคงปลอดภาษีภายใต้ความตกลง USMCA ที่ลงนามในยุคของ ทรัมป์ เมื่อปี 2020 แต่กระนั้นผู้นำสหรัฐฯ ก็ยังคงไม่พอใจเรื่องที่แคนาดาเก็บภาษีผลิตภัณฑ์นมจากสหรัฐฯ สูงเกินไป
จีนเป็นเพียงประเทศเดียวที่จะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมสูงกว่า 25% เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทรัมป์ ได้สั่งรีดภาษีสินค้านำเข้าจีนทุกรายการในอัตรา 20% ไปแล้ว ดังนั้นเมื่อถูกบวกเพิ่มไปอีก 25% จึงจะทำให้เหล็ก-อะลูมิเนียมที่นำเข้าจากจีนถูกเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 45%
ด้านคณะกรรมาธิการยุโรปประกาศจะยกเลิกคำสั่งระงับขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. และจะยกระดับตอบโต้สินค้าจากอเมริกาอีกระลอกภายในช่วงกลางเดือน
ภาษีที่ถูกระงับไว้นั้นครอบคลุมสินค้าตั้งแต่เรือไปจนถึงวิสกี้เบอร์เบินและรถจักรยานยนต์ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ และอียูจะเริ่มการปรึกษาหารือเป็นเวลา 2 สัปดาห์เพื่อพิจารณาสินค้าในกลุ่มอื่นๆ ด้วย
อียูระบุว่า มาตรการทางภาษีชุดใหม่จะพุ่งเป้าไปที่สินค้าอเมริกันมูลค่า 18,000 ล้านยูโร โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มูลค่าโดยรวมสอดคล้องกับมูลค่าการค้าที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งขึ้นภาษีของสหรัฐฯ โดยสินค้าที่จะตกเป็นเป้าหมายนั้นมีทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตร เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม สิ่งทอ เครื่องใช้ภายในครัวเรือน พลาสติก สัตว์ปีก เนื้อวัว ไข่ ผลิตภัณฑ์นม น้ำตาล และผักต่างๆ
“มาตรการตอบโต้ของเราจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยเริ่มในวันที่ 1 เม.ย. และจะนำมาใช้เต็มรูปแบบภายในวันที่ 13 เม.ย.” อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุในถ้อยแถลง
ที่มา : รอยเตอร์, CNN