การตามล่าและจับกุม โรดริโก ดูเตอร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ตามหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) เป็นข้อพิสูจน์ว่าศาลในเมืองเฮกแห่งนี้ "เป็นอาวุธของอิทธิพลตะวันตก" จากความเห็นของดูอาเน่ ไดซอน ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจภูมิภาค ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอาร์ทีนิวส์
ดูเตอร์เต วัย 79 ปี ถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานนานาชาติในกรุงมะนิลา เมื่อวันอังคาร (11 มี.ค.) และถูกควบคุมตัวโดยตำรวจตามคำสั่งของศาลอาญาระหว่างประเทศ หลังจากเขาถูกกล่าวหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อันเกี่ยวข้องกับ "การทำสงครามกับยาเสพติด" ครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับอาร์ทีนิวส์ ไดซอนบอกว่าการกระทำของศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นการสำแดงอิทธิพลมากกว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ "ไอซีซีแสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ว่าพวกเขามีรูปแบบของการเล็งเป้าเล่นงานพวกผู้นำจากบรรดาชาติกำลังพัฒนา ขณะเดียวกัน ก็มอบเอกสิทธิ์ให้เหล่าประเทศตะวันตกที่ทรงอำนาจเข้าควบคุมเหล่าประเทศที่อ่อนแอ" เขากล่าว พร้อมบอกว่ามันอาจตอกลิ่มร้าวลึกระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับตะวันตก
เหล่าทนายความด้านสิทธิมนุษยชนพากันประณามการจับกุมครั้งนี้ว่า "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" โดยชี้ว่าฟิลิปปินส์ได้ถอนตัวอย่างเป็นทางการออกจากศาลอาญาระหว่างประเทศแล้วตั้งแต่ปี 2019 ภายใต้บัญชาของดูเตอร์เต
ไอซีซีอ้างว่าพวกเขาสามารถคงไว้ซึ่งขอบเขตอำนาจศาล ต่อข้อกล่าวหาทางอาญาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างประเทศหนึ่งใดยังคงเป็นผู้ลงนามให้สัตยาบันรับรองเขตอำนาจของศาลแห่งนี้
ศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดการสืบสวนในเบื้องต้นต่อยุทธการต่อต้านยาเสพติดของดูเตอร์เตในปี 2018 ทางดูเตอร์เตยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ยอมรับว่าการปราบปรามของเขาก่อให้เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อไปบ้าง ในขณะที่รายงานอย่างเป็นทางการบ่งชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตราว 6,200 คน ระหว่างปฏิบัติการต่างๆ ของตำรวจ แม้พวกผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก
เมื่อวันอาทิตย์ (9 มี.ค.) ดูเตอร์เต บอกกับพวกผู้สนับสนุนว่า "ถ้ามันคือชะตากรรมของผม นั่นก็ไม่เป็นไร ผมจะยอมรับมัน เราไม่สามารถทำอะไรได้ ถ้าผมถูกจับหรือโดนขังคุก"
ความเห็นของไดซอน ระบุว่าการจับกุมอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าศาลได้รับมอบหมายให้ "บ่อนทำลายผู้นำที่มีความเป็นอิสระ" ซึ่งมันจะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ ต้องหันไปแสวงหาความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับบรรดาชาติมหาอำนาจที่ไม่ใช่ตะวันตก อย่างเช่นจีนและรัสเซียแทน
ไอซีซี ถูกสถาปนาขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีอาชญากรรมร้ายแรง แต่ศาลแห่งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการมุ่งเน้นอย่างไม่สมเหตุสมผลเล่นงานแต่บรรดาชาติกำลังพัฒนาทั้งหลาย โดยเฉพาะในแอฟริกา ซึ่งหลายคนกล่าวไอซีซีว่าเป็นลัทธิล่าอาณานิคมแนวใหม่และความยุติธรรมแบบเลือกปฏิบัติ ที่รับใช้ผลประโยชน์ของตะวันตก แทนที่จะใช้กฎหมายด้วยความเป็นกลาง
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)