พวกผู้เชี่ยวชาญและเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนี มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นไปไดที่สหรัฐฯ จะตัดขาดจากระยะไกล การใช้งานเครื่องบินขับไล่ F-35 ที่วอชิงตันส่งมอบให้แก่เบอร์ลิน ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์หนึ่งใด หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้อเมริกาเพิ่งหยุดสนับสนุนทางทหารและระงับป้อนข้อมูลข่าวกรองแก่ยูเครน ตามรายงานของหนังสือพิมพ์บิลด์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์
กองทัพอากาศเยอรมนี เตรียมได้รับการส่งมอบเครื่องบินขับไล่ F-35A Lightning II ที่ผลิตโดยอเมริกา จำนวน 35 ลำ ในปี 2026 ส่วนหนึ่งในข้อตกลงมูลค่า 8,300 ล้านยูโร อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาเยอรมนีบางส่วนกังวลว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งขัดแย้งกับอียูในหลายๆ ประเด็น อาจใช้ตัวตัดการเชื่อมต่อ "kill switch" ทำให้เครื่องบินเหล่านั้นขึ้นบินไม่ได้ หากว่าวอชิงตันกับชาติต่างๆ ในยุโรปเห็นต่างกันในแนวทางที่ใช้รับมือกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งกับรัสเซีย
"kill switch อาจเป็นอะไรที่มากกว่าข่าวลือ" โจอาชิม ชรานโชเฟอร์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารมวลชน Hensoldt บริษัทกลาโหมของเยอรมนี บอกกับหนังสือพิมพ์บิลด์ "มันคงดีกว่า ถ้าวางแผนภารกิจอย่างเป็นระบบ ให้เครื่องบินยังอยู่บนภาคพื้น"
โวล์ฟกัง อิสชินเดกอร์ อดีตประธานมูลนิธิ Munich Security Conference ตั้งคำถามเกี่ยวกับชะตากรรมของสัญญาจัดซื้อดังกล่าว "ถ้าเราหวั่นเกรงว่าสหรัฐฯ จะทำกับฝูงบิน F-35 ในอนาคตของเยอรมนี แบบเดียวกับที่ทำกับยูเครนในปัจจุบัน เราอาจยกเลิกสัญญา" เขาบอกกับหนังสือพิมพ์บิลด์
ความกังวลเกี่ยวกับ kill switch บนเครื่องบินรบที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ยังสะท้อนได้จากความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส หนึ่งในนั้นรวมถึง ริชาร์ด อาบัวลาเฟีย นักวิเคราะห์ด้านกลาโหม ที่บอกว่าแม้ยังไม่เคยมีคำยืนยันเกี่ยวกับ "kill switch" แต่ "ลองสมมติดู มันอาจมีอยู่จริง ถ้าคุณมีบางอย่างที่สามารถทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ กับรหัสซอฟต์แวร์"
ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ชี้ว่า โดยพื้นฐานแล้ว kill switch เป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น สืบเนื่องจากความล้ำสมัยของเครื่องบินขับไล่สมัยใหม่และมันพึ่งพาอาศัยผู้ขายมากจนเกินไป "กองทัพยุโรปเกือบทั้งหมดพึ่งพาสหรัฐฯ เป็นอย่างมากสำหรับการสนับสนุนด้านติดต่อสื่อสาร สำหรับสนับสนุนการสงครามอิเล็กทรอนิกส์ และสำหรับเติมเสบียงกระสุนในความขัดแย้งร้ายแรงใดๆ" จัสติน บรอนค์ นักวิจัยจากสถาบัน Royal United Services บอกกับไฟแนนเชียลไทม์ส
ความกังวลเกี่ยวกับเครื่องบิน F-35 ปรากฏขึ้นมา หลังจากสหรัฐฯ ระงับความช่วยเหลือทางทหารและข้อมูลข่าวกรองที่มอบแก่ยูเครน ตามหลังศึกวิวาทะระหว่าง ทรัมป์ กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน โดยระหว่างนั้นผู้นำสหรัฐฯ กล่าวหาผู้นำยูเครนว่าไม่ต้องการมีสันติภาพกับรัสเซีย
โครงการ F-35 ถูกให้คำนิยามว่าเป็นโครงการทางทหารแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ ต้นทุนรวมของโครงการนี้ทะลุ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ตลอดช่วงอายุของโครงการ อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ F-35 ทำการบินในเที่ยวบินปฐมฤกษ์เมื่อปี 2006 โครงการนี้ถูกห้อมล้อมด้วยปัญหาต้นทุนบานปลาย ล่าช้าและประเด็นความน่าเชื่อถือ จนถึงตอนนี้เครื่องบินรุ่นนี้ถูกผลิตออกมาแล้วกว่า 1,100 ลำ จำนวนมากเป็นการป้อนสู่บรรดาพันธมิตรของอเมริกา
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)