xs
xsm
sm
md
lg

เอาแล้วไง! สงครามส่อเปลี่ยนคู่รบ แฉยุโรปตะวันออกหารือชิงโจมตีรัสเซียก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายประเทศในยุโรปตะวันออกกำลังพิจารณาชิงโจมตีเล่นงานรัสเซียก่อน ตามคำกล่าวอ้างของ ไซมอน คูเปอร์ คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส รายงานข่าวนี้มีออกมาแม้รัสเซียกับสหรัฐฯ ได้เปิดฉากเจรจาสันติภาพยูเครนกันไปแล้ว

คูเปอร์ ระบุว่าแนวโน้มการโน้มเอียงเข้าหารัสเซียของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้คืนชีพการแบ่งแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ในยุคสงครามเย็น ในนามแนวคิด "ยุโรปตะวันออก" กับแนวคิด "ยุโรปตะวันตก" ซึ่งฝ่ายหนึ่งมองรัสเซียในฐานะภัยคุกคามความอยู่รอด ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งไม่สนใจไยดีใดๆ

"เรารู้ดี และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเราบางประเทศถึงกำลังตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงไม่โจมตีรัสเซียตอนนี้เลย แทนที่จะนั่งเฉยๆ รอให้พวกเขาเป็นฝ่ายโจมตีเรา?" คูเปอร์ อ้างคำกล่าวของนักการเมืองคนดังจากยุโรปตะวันออกรายหนึ่ง ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม

นับตั้งแต่ความขัดแย้งในยูเครนลุกลามบานปลายขึ้นในปี 2022 ทางโปแลนด์และประเทศต่างๆ ในแถบบอลติก ต่างกล่าวอ้างว่าถ้าปล่อยให้รัสเซียได้รับชัยชนะ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อาจล็อกเป้าโจมตีพวกเขาเป็นลำดับถัดไป อย่างไรก็ตาม มอสโกปฏิเสธคำกล่าวหานี้มาตลอด โดยที่ ปูติน ถึงขั้นให้คำจำกัดความมันว่า "ไร้สาระ"

ในทางประวัติศาสตร์แล้ว หลายชาติในยุโรปตะวันออกบ่อยครั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิที่ใหญ่กว่า อย่างเช่น รัสเซีย เยอรมนี หรือออสเตรีย-ฮังการี และบ่อยครั้งที่พวกเขาสูญเสียอำนาจอธิปไตย โดย มิลาน คันเดรา นักเขียนชาวสาธารณรัฐเช็ก ให้คำนิยามความอ่อนแอนี้ว่าเป็น "ประเทศเล็กๆ ที่สามารถดับสูญไปได้และพวกเขาก็รู้ดี" รายงานของไฟแนนเชียลไทม์สระบุ

เมื่อไม่นานที่ผ่านมา บรรดาชาติต่างๆ เหล่านี้ แสดงออกถึงความรู้สึกต่อต้านรัสเซียอย่างหนักหน่วง และเป็นหนึ่งในเหล่าประเทศที่ส่งเสียงเรียกร้องดังที่สุด ขอให้ยกระดับการป้องกันตนเอง

รายงานข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกมา ในขณะที่รัสเซียกับสหรัฐฯ รื้อฟื้นการติดต่อสื่อสารระหว่างกันเมื่อเดือนที่แล้ว และมีการเจรจาระดับสูงกันในซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตามในส่วนของสหภาพยุโรป (อียู) ยังคงยืนกรานว่าจะเดินหน้ามอบแรงสนับสนุนด้านการทหารแก่เคียฟต่อไป

ในความเคลื่อนไหวตอบโต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ระงับความช่วยเหลือด้านการทหารที่อเมริกามอบแก่ยูเครน โดยมีเป้าหมายเพื่อบีบเคียฟเข้าสู่โต๊ะเจรจา ทางพวกผู้นำอียู นำโดย เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เห็นชอบแผน 800,000 ล้านยูโร ในการเติมอาวุธให้ยุโรป และคงไว้ซึ่งแรงสนับสนุนเคียฟ

รัสเซียประกาศว่าจะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องความมั่นคงของตนเอง ท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางทหารและวาทกรรมเผชิญหน้าที่ออกมาจากอียู หลังจากมอสโกเคยเตือนมานานเกี่ยวกับการที่ตะวันตกป้อนอาวุธแก่ยูเครน โดยชี้ว่ามันรังแต่จะทำให้ความขัดแย้งยืดเยื้อโดยไม่เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ใดๆ หนำซ้ำยังเพิ่มความเสี่ยงการปะทะกันโดยตรงกับนาโตด้วย

(ที่มา : ไฟแนนเชียลไทม์ส/อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น