ลิทัวเนียถอนตัวออกจากอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (Convention on Cluster Munitions) หรือระเบิดลูกปรายในวันนี้ (6 มี.ค.) โดยอ้างถึงภัยคุกคามจากรัสเซีย ในความเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงประณามรุนแรงจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน
รัฐบอลติกซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และมีประชากรราว 2.8 ล้านคนแห่งนี้ ยังส่งสัญญาณว่าเตรียมถอนตัวออกจากอนุสัญญาห้ามการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Landmines Convention) ด้วย
ลิทัวเนียซึ่งเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประกาศจะยกระดับป้องกันตนเองหลังจากที่รัสเซียทำสงครามรุกรานยูเครน โดยเกรงว่าหากมอสโกทำสำเร็จ ลิทัวเนียก็อาจตกเป็นเป้าหมายรายต่อไป
อย่างไรก็ตาม องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้ออกมาวิจารณ์ความเคลื่อนไหวของลิทัวเนียว่าเป็น “หายนะ” ขณะที่องค์กรฮิวแมนไรต์วอตช์ (HRW) เตือนว่าเป็นสิ่งที่ “น่ากังวล” เนื่องจากทำให้ชีวิตพลเรือนตกอยู่ในความเสี่ยง
รัฐสภาลิทัวเนียลงมตินำประเทศออกจากอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงตั้งแต่เดือน ก.ค. ปีที่แล้ว ทว่าต้องรอเวลา 6 เดือนหลังยื่นเอกสารถอนตัวต่อองค์การสหประชาชาติจึงจะมีผลอย่างสมบูรณ์
ลิทัวเนียถือเป็นรัฐภาคีรายแรกที่ตัดสินใจถอนตัวออกจากอนุสัญญาฉบับนี้หลังจากที่เข้าร่วมเมื่อปี 2008 และยังถือเป็นรัฐในสหภาพยุโรป (อียู) รายแรกที่ถอนตัวออกจากข้อตกลงควบคุมอาวุธพหุภาคีด้วย
รัสเซียและยูเครนนั้นไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญา และมีการนำระเบิดพวงมาใช้ตลอดช่วง 3 ปีที่ทำสงคราม
“รัสเซียใช้อาวุธทุกอย่างที่จะสามารถใช้ได้ในสงครามแบบดั้งเดิม และมันแสดงให้เห็นว่าเราต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้การป้องปรามและป้องกันมีประสิทธิภาพ” คาโรลิส อเล็กซา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมลิทัวเนีย ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีในสัปดาห์นี้
“การถอนตัวออกจากอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงทำให้เรามีโอกาสที่จะเพิ่มการป้องกันสำหรับพื้นที่เป้าหมายขนาดใหญ่”
ปัจจุบันอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงมีรัฐภาคี 112 ประเทศ และอีก 12 ชาติที่ลงนามโดยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน โดยเนื้อหาของอนุสัญญากำหนดห้ามไม่ให้มีการใช้ ส่งมอบ ผลิต และสะสมระเบิดพวงหรือระเบิดลูกปราย
ระเบิดพวงสามารถถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบินหรือยิงจากปืนใหญ่ก็ได้ โดยจะระเบิดกลางอากาศและปลดปล่อยลูกระเบิดขนาดเล็กกระจัดกระจายกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง
หลายประเทศห้ามการใช้ระเบิดพวงเนื่องจากก่อให้เกิดอันตรายในระยะยาวต่อประชาชน เนื่องจากระเบิดบางลูกที่ไม่ทำงานอาจฝังอยู่ในดินนานหลายปี และกลายเป็น “กับระเบิด” สังหารผู้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ากองทัพฟินแลนด์ได้มีการประเมินตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้วว่าจะนำกับระเบิดสังหารบุคคล (anti-personal landmines) กลับมาใช้หรือไม่ ทว่ายังไม่มีการตัดสินใจ
ที่มา : เอเอฟพี